กรุงเทพฯ--28 ก.ค.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
แก้วมังกร ถือเป็นสุดยอดผลไม้เพื่อสุขภาพที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการมากมาย ทำให้ได้รับความนิยมของผู้บริโภค และยังเป็นผลไม้ที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานเพราะนอกจากคุณประโยชน์จากไฟเบอร์ที่มีอยู่มากในเนื้อแก้วมังกรแล้วเมือกของมันยังเป็นเมือกดีช่วยดูดซับน้ำตาลกลูโคสที่อยู่ในเลือดทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวานลดลง นอกจากสรรพคุณดังกล่าวแล้วแก้วมังกรยังเป็นผลไม้ที่ตลาดต่างประเทศให้ความนิยมมาก เช่น จีนและอินโดนีเซีย โดยเฉพาะอินโดนีเซียถือเป็นตลาดส่งออกแก้วมังกรรายใหญ่ของไทย ซึ่งมีเวียดนามเป็นคู่แข่งสำคัญของไทย แก้วมังกรแม้จะมีมานาน แต่ที่ผ่านมาการศึกษาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวแก้วมังกรในประเทศไทยยังมีอยู่น้อยมาก
รศ.ดร.วาริช ศรีละออง หัวหน้าทีมวิจัยสาขาวิชาการเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า ปกติแก้วมังกรจะเก็บหลังการออกดอกประมาณ 35-40 วัน ซึ่งเป็นระยะที่มีรสชาติดีที่สุด ไม่อ่อนหรือสุกเกินไป เหมาะสำหรับการขนส่ง หากเก็บก่อนรสชาติก็จะเปรี้ยว เก็บหลังก็จะสุกเกินไป เปลือกจะบางลง เกิดปัญหาด้านการขนส่งเพราะเวลาบรรจุลงกล่องวางซ้อนได้น้อย จึงเป็นสาเหตุที่ไม่นิยมเก็บแก้วมังกรในช่วงที่สุก ข้อสังเกตที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือหลังการเก็บเกี่ยว แก้วมังกรสามารถเก็บรักษาอยู่ในสภาพบรรยากาศปกติได้เพียง 1 สัปดาห์และเมื่อสุกมากเกินไปก็จะเสื่อมคุณภาพ ที่เห็นได้ชัดคือการเหี่ยวบริเวณส่วนของกลีบและเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีเหลือง โดยเฉพาะตลาดส่งออกที่เน้นรูปทรงของผลแก้วมังกรจะต้องสมบูรณ์สวยงามทั้งส่วนของเปลือกจะต้องเป็นสีแดงและส่วนกลีบจะต้องเขียวและแข็งเท่านั้น
"โครงการศึกษาวิจัยเทคโนโลยีภายหลังการเก็บเกี่ยวแก้วมังกร" นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อหาวิธีการรักษาคุณภาพชะลอการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมี และยืดอายุการเก็บรักษาหรือชะลอการเหลืองของกลีบ และชะลอการเกิดโรคในแก้วมังกรให้นานที่สุด โดยมุ่งเน้นการศึกษาผลของอุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ และวิธีการเก็บรักษา นอกจากนี้ยังศึกษาถึงการเปลี่ยนแปลงคุณค่าทางอาหารและการเปลี่ยนแปลงของสารพฤกษเคมีในระหว่างการเก็บรักษา
โดยผลการศึกษาวิจัย พบว่า เทคโนโลยีหรือวิธีการเก็บรักษาภายหลังการเก็บเกี่ยวแก้วมังกรทั้งสายพันธุ์เนื้อขาวและเนื้อแดงที่ดีและเหมาะสม คือ วิธีที่ 1 เก็บรักษาในอุณหภูมิที่ 8 – 10 องศาเซลเซียส จะช่วยให้ผลแก้วมังกรยังคงคุณภาพที่ดีอยู่ได้นาน 3 สัปดาห์จากปกติหากเก็บในอุณหภูมิห้องจะอยู่ได้เพียง 1 สัปดาห์ ซึ่งช่วงอุณหภูมินี้เหมาะสำหรับการขนส่งทางเรือ วิธีที่ 2 ลดอุณหภูมิเฉียบพลันก่อนเก็บรักษา หรือ pre-cooling เป็นการจุ่มลงในน้ำเย็นที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส (ใช้น้ำแข็งละลายในน้ำ) เพื่อลดอุณหภูมิหลังการเก็บเกี่ยวให้เร็วที่สุด ก่อนนำไปเก็บใน
ห้องเย็น ถือเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดสำหรับเกษตรกร แต่ต้องระวังการใช้น้ำซ้ำ เพราะอาจเกิดโรคขึ้นได้ ซึ่งสามารถแก้ปัญหาด้วยการใส่คลอรีนในน้ำเพื่อช่วยป้องกันการกระจายของโรคได้ วิธีที่ 3 การใช้ความร้อน หรือ Heat Treatment คือ การจุ่มลงในน้ำร้อนที่อุณหภูมิ 55 องศาเซียส เป็นเวลา 3-5 นาที เป็นอีกวิธีที่ช่วยชะลอการเหลืองของกลีบแก้วมังกรได้ดี ช่วยรักษาความสดให้อยู่ได้นานเป็นเดือน วิธีนี้นอกจากจะชะลอความเหลืองแล้ว ยังช่วยยับยั้งโรคที่แฝงมากับผลแก้วมังกรด้วย ทำให้การเกิดโรคในแก้วมังกรชะลอไปด้วย ปกติแม้จะเก็บแก้วมังกรในห้องเย็นแล้วแต่เมื่อเกิน 3 สัปดาห์ไปแล้วก็อาจเกิดโรคขึ้นได้ แต่วิธีนี้จะช่วยชะลอการเกิดโรคในแก้วมังกรออกไปได้อีกอย่างน้อย 1 สัปดาห์ ทำให้สามารถยืดอายุการเก็บรักษาแก้วมังกรได้นานถึง 1 เดือน ปัจจุบันเกษตรกรได้นำวิธีนี้ไปประยุกต์ใช้กับมะนาว มะม่วง และผลไม้อื่นๆ
นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยบรรจุภัณฑ์ที่ใช้เก็บรักษาด้วยวิธีการใช้ถุง Active modified atmosphere ซึ่งถุงนี้จะปรับให้ก๊าซออกซิเจนต่ำกว่า 20% และไปเพิ่มความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้สูงขึ้นกว่า 0.03% โดยเมื่อปิดปากถุงแก้วมังกรที่ต้องใช้ออกซิเจนในการหายใจก็จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาทำให้บรรยากาศของออกซิเจนภายในถุงลดลง ขณะที่คาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นทำให้บรรยากาศต่างไปจากปกติ จะสามารถยืดอายุการเก็บรักษาได้นานขึ้น สาเหตุเพราะเมื่อออกซิเจนในถุงถูกจำกัดและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายในถุงมีความเข้มข้นเพิ่มขึ้นก็จะไปยับยั้งไม่ให้เอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการสลายตัวของคลอโรฟิลล์ในกลีบผลแก้วมังกรทำงานส่งผลให้การเสื่อมสภาพของกลีบช้าลง เพราะการเหลืองของกลีบแก้วมังกรเกิดจากเอนไซม์ที่ไปกระตุ้นให้คลอโรฟิลล์สลายตัวเมื่อก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มีความเข้มข้นมากกว่าก็จะไปยับยั้งไม่ให้เอนไซม์ทำงานช้าลง และเมื่อใช้ร่วมกับการเก็บในอุณหภูมิ 8 - 10 องศาเซลเซียส จึงเป็นการช่วยรักษาสภาพความสดและกลีบของผลแก้วมังกรให้ยังคงสวยงามและนานขึ้น แต่ถุง Active ยังมีราคาค่อนข้างสูง
ส่วนวิธีการเก็บรักษาในสภาพบรรยากาศแบบควบคุมก๊าซออกซิเจนและก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ (Control Atmosphere Storage) หรือเทคโนโลยี CA เป็นวิธีที่สามารถเก็บรักษาผลแก้วมังกรได้นานเป็นเดือน ถือเป็นวิธีที่ไม่ใช้สารเคมีปลอดภัยต่อผู้บริโภคแต่มีต้นทุนค่อนข้างสูงไม่เหมาะกับเกษตรกร เช่นเดียวกับวิธีการฉายรังสีโดยเฉพาะการใช้รังสียูวี ซึ่งผลงานวิจัยนี้ ได้นำมาศึกษาด้วยเช่นกัน และเห็นว่าหากต้องฉายรังสี แนะนำให้ใช้คลื่นรังสียูวีบีมากกว่ายูวีซี แม้ว่าทั้ง 2 คลื่นจะเป็นช่วงคลื่นที่เหมาะสมสำหรับการชะลอการเหลืองของกลีบแก้วมังกรที่ได้ผลดีมาก เพราะการฉายรังสียูวีมีผลเข้าไปทำลายเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการสลายตัวของคลอโรฟิลล์ที่อยู่ในกลีบผล แต่มีต้นทุนสูงจึงไม่เหมาะกับเกษตรกร ขณะเดียวกันการฉายรังสีด้วยยูวีซีนั้นก็ค่อนข้างอันตรายและอาจเสี่ยงต่อผิวหนังถูกทำลายได้มากกว่า
รศ.ดร.วาริช กล่าวว่า อย่างไรก็ตามจากการศึกษาวิจัยดังกล่าว ยังค้นพบว่า เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวที่มีความเหมาะสมกับแก้วมังกร คือ การใช้ Heat Treatment ร่วมกับการทำ pre-cooling เป็นการจุ่มในน้ำร้อนแล้วมาลดอุณหภูมิลงให้ได้ตามที่ต้องการหรือเท่ากับอุณหภูมิในการเก็บรักษา (อุณหภูมิ 8 -10 องศาเซลเซียส) ด้วยการจุ่มลงในน้ำเย็นก่อนแล้วจึงค่อยนำไปแพคลงในกล่องเพื่อส่งออกต่อไป ซึ่งเป็นวิธีที่จะช่วยรักษาคุณภาพของแก้วมังกรได้ดีและมีต้นทุนน้อยที่สุด ซึ่งผลงานวิจัยชิ้นนี้ทางมหาวิทยาลัยยินดีที่จะเผยแพร่และถ่ายทอดสู่เกษตรกร แต่เกษตรกรเน้นเรื่องความเร็วจึงยังคงเลือกนำวิธีการใดวิธีการหนึ่งไปใช้เท่านั้นเนื่องจากมีการส่งออกแก้วมังกรทุกวันโดยเฉพาะในช่วงนี้ถือเป็นฤดูกาลเก็บเกี่ยวแก้วมังกรคือตั้งแต่เดือนพฤษภาคม จนถึงเดือนตุลาคม