กรุงเทพฯ--28 ก.ค.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
การศึกษาเพื่อวิจัยและพัฒนาเทคนิคต่างๆ ในทางวิศวกรรมโยธา ยังมีอีกหลายแง่มุมที่จะต้องเรียนรู้ทั้งเพื่อต่อยอด และนำไปใช้ในการพัฒนาสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งบนดินและใต้ดิน ไม่ว่าจะเป็นอาคาร ถนน สะพาน สาขาวิศวกรรมเทคนิคธรณี ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) นำโดย รศ.ดร.วรัช ก้องกิจกุล ได้พัฒนา "ชุดเครื่องมือทดสอบกำลังอัดแบบสามแกน" และ "ชุดทดสอบกำลังแบกทานของดิน" ขึ้น โดย "ชุดเครื่องมือทดสอบกำลังอัดแบบ 3 แกน" เป็นผลงานของ นายกวี ศรีทรานนท์ และนายเอกวิทย์ เถาว์ทิพย์ นักศึกษาปริญญาโท ใช้สำหรับการทดสอบดินได้ทุกๆ ชนิดและจำลองสภาพดินได้ทุกๆ ระดับความลึกที่เก็บตัวอย่างขึ้นมา เมื่อนำตัวอย่างดินมาทดสอบ เครื่องจะจำลองสภาพความเค้นที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งเมื่อได้ค่ากำลังของดินในสภาพที่สมจริงมากที่สุด ก็สามารถนำไปออกแบบฐานรากและเสาเข็มให้มีประสิทธิภาพต่อการรับแรงได้อย่างถูกต้องและปลอดภัยที่สุด
ในขณะที่ "ชุดทดสอบกำลังแบกทานของดิน" ซึ่งเป็นผลงานของ นางสาวสวรรยา ดารารัตน์ นักศึกษาปริญญาเอก ถูกพัฒนามาจากการทดสอบกำลังอัดแบบสามแกน แต่ชุดทดสอบกำลังแบกทานของดินจะใช้เพื่อวัดกำลังของดินที่ใช้ก่อสร้างถนน ใช้ประเมินความสามารถในการรับน้ำหนักรถบรรทุกที่ผันแปรกับระดับความเค้นได้อย่างแม่นยำ ซึ่งคุณสมบัติดินที่ได้จากการทดสอบจะนำมาใช้ในการออกแบบถนนที่สอดคล้องกับปริมาณการจราจรได้อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น
รศ.ดร.วรัช ก้องกิจกุล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เปิดเผยว่า ทั้ง 2 ชุดทดสอบทางเทคนิคธรณีนี้ เป็นเครื่องมือที่เป็นงานhandmade ทั้งหมด จัดทำขึ้นโดยทีมนักศึกษาและอาจารย์ ซึ่งจะแตกต่างจากชุดทดสอบแบบสำเร็จรูป ที่นอกจากจะต้องนำเข้าจากต่างประเทศในราคาที่แพงแล้ว ยังทำงานได้อิสระน้อยกว่าแบบที่ทำขึ้นเอง ถือเป็นเครื่องมือทดสอบทางเทคนิคธรณีที่ผ่านการ Tailor-made ให้ตอบโจทย์วิจัยที่ต้องการศึกษา และเป็นเรื่องใหม่สำหรับงานเทคนิคธรณีในประเทศไทย.