กรุงเทพฯ--29 ก.ค.--มูลนิธิสยามกัมมาจล
โครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ สนับสนุนโดยธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ยังปักหมุดเป้าหมายเดิม หนุนเสริมให้เยาวชนคนเก่ง พัฒนาผลงานจากการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย (NSC) และโครงการของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ (YSC) ที่ผ่านเข้ารอบ 15 โครงการ นำผลงาน มา"ต่อยอด" พัฒนาความรู้ ทักษะ สามารถพัฒนาผลงานสู่ผู้ใช้งานได้จริง และถือเป็นการปูทางให้เยาวชนกลุ่มนี้ สู่ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ หรือ StarTup อีกด้วย
ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ กล่าวเสริมว่า"ในปีนี้ เรายังคงเน้นย้ำจุดยืนแนวคิดนี้ที่ชัดเจนขึ้นมากยิ่งขึ้น เราอยากเห็นน้องๆเหล่านี้เมื่อเรียนจบออกมาแล้ว เขาต้องสามารถลุกขึ้นมาเป็นผู้ประกอบการได้ โดยนำเอาทักษะและประสบการณ์จากการร่วมโครงการเป็นพื้นฐานในการเตรียมความพร้อมในการพัฒนาผลงานของตนเองจนขึ้นสู่เป็นผู้ประกอบการธุรกิจของตนเองได้ ซึ่งถือว่าเป็นการบ่มเพาะส่งต่อให้เขาเป็น Start Up หน้าใหม่ที่น่าจับตามอง ซึ่งจุดเด่นของต่อกล้าฯ คือ การปล่อยให้เด็กได้ลงมือทำ ให้เจอโจทย์ ปัญหาจริง เพื่อพัฒนาไปสู่ผู้ใช้จริง กระบวนการบ่มเพาะของโครงการต่อกล้าฯ นั้น จะแตกต่างจากโครงการอื่นๆ ตรงที่โครงการอื่นเมื่อทำแล้วก็จบไปในครั้งเดียว แต่โครงการต่อกล้าฯ จะเป็นตัวเสริมเพื่อยกระดับความสามารถของเด็ก ทำให้มองเห็นความก้าวหน้าในตัวบุคคลและทีม ว่ามีพัฒนาการไปถึงเป้าหมายได้อย่างไร โดยเรื่องที่เติมทักษะน้องๆก็จะมีเรื่อง mind map การวางแผนธุรกิจ หรือแม้แต่การลงไปพบผู้ใช้ (USER) โดยตรง ซึ่งทักษะเหล่านี้น้องๆอาจจะไม่ได้ใช้ทันทีในวันนี้ แต่ความรู้เหล่านี้จะเป็นพื้นฐานให้เขานำไปใช้เพื่อการพัฒนาผลงาน หรือพัฒนาศักยภาพ และนำไปใช้ไปกับชีวิตจริงในอนาคต"
"…อยากจะฝากกับน้องๆ ว่า หากเรารู้จักที่จะเรียนรู้สิ่งรอบข้างให้มาก เมื่อข้อมูลมีอยู่เยอะจึงทำให้เด็กหลายคนขี้เกียจและไม่ค่อยหยิบข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์ ทำให้กลายเป็นจุดอ่อน ไม่เหมือนสมัยก่อนที่ข้อมูลนั้นหายาก ทำให้ทุกคนพยายามขวนขวายหาอยากให้เขาลองหาข้อมูลและวิเคราะห์ แล้วสังเคราะห์ดูว่าเราจะนำข้อมูลที่มีอยู่มากมายมาทำอะไรได้บ้าง ไม่ใช่หาแล้วก็จบ หากยังไม่เจอคำตอบก็สามารถสอบถามจากผู้เชี่ยวชาญได้... "ดร.ศรัณย์ ฝากทิ้งท้ายไว้
คุณสิทธิชัย ชาติ นักวิเคราะห์งานพัฒนาเยาวชนและเขตพื้นที่ด้านไอทีฝ่ายบริหารและสนับสนุนงานวิจัย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ผู้ประสานงานโครงการฯ เสริมว่า "ตลอดระยะเวลาหนึ่งปีนี้ จะมีความเข้มข้นกว่าปีที่ผ่านมา กระบวนการบ่มเพาะ มีผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ มาเวิร์คช้อป เราประเดิมค่ายแรก ค่ายพัฒนาศักยภาพการบริหารจัดการโครงการสู่การนำไปใช้งานจริง ได้มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาเติมทักษะด้านต่างๆ ในด้านการเรียนรู้ ตั้งแต่ หัวข้อ "MIND MAP"โดย คุณอชิระวิชญ์ ภักดิ์โชติพงศ์ ให้เครื่องมือการทำงาน คิดเป็นระบบ และเห็นภาพการทำงานทั้งหมด ได้แก่ ด้านการพัฒนาผลงานให้สำเร็จ และด้านการนำผลงานไปสู่ผู้ใช้ หัวข้อเรียนรู้ "SCRUM & AGILE Technique" โดยคุณชมพูนุท ตรีโชต คุณกุลวัฒน์ วงศาโรจน์ และคุณกมล ตรีธรรมพินิจ จาก Ascend Group Co.,Ltd. ให้เครื่องมือการทำงานบริหารงานโครงการเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และหัวข้อเรียนรู้"Basic Infographics"โดย คุณรัฐ จำปามูล จากบริษัท สปุตนิคเทลส์ จำกัด ใช้ Infographic ในการออกแบบ Logo เพื่อสื่อสารภาพลักษณ์ของผลงาน และหลักการออกแบบ Infographic/Animation เพื่อสร้างความโดดเด่นให้ผลงานศาสตร์และเทคโนโลยีและได้รับแรงบันดาลใจจากรุ่นพี่ คุณวีรศิลป์ อชิรพัฒน์กวี กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินทิเกรช โซลูชั่น จำกัด เป็นอดีตเยาวชนที่เคยเข้าร่วมแข่งขันการประกวด NSC เจ้าของรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 NSC 2012 และ "รางวัลเจ้าฟ้าไอที รัตนราชสุดา สารสนเทศ ครั้งที่ 7" รางวัลดีเด่น ด้าน Virtual Reality จะมาเล่าประสบการณ์การนำผลงานด้านเทคโนโลยีที่ตัวเองพัฒนาไปนำไปสู่ User ต้องพบเจออะไรบ้าง ในหัวข้อเรียนรู้ "การนำผลงานเทคโนโลยีประยุกต์ใช้งาน"
"นี่คือตัวอย่างความรู้ที่เราเติมทั้งความรู้ ทักษะ วิธีคิด วิธีการทำงานค่อยๆ เติมให้จนเด็กๆ ที่เข้าร่วมโครงการสามารถเข้าใจและนำไปบริหารโครงการจนสู่ความสำเร็จได้ สุดท้ายสามารถนำเสนอ สื่อสาร และขยายผลผลงานทั้งทางธุรกิจและการตลาด ที่สำคัญเรามีทีมโคชจากเนคเทค ติดตามให้คำปรึกษา แนะนำ น้องๆ อย่างใกล้ชิดทุกกลุ่มเลย เราเชื่อว่ากระบวนการแบบนี้จะบ่มเพาะให้น้องๆได้ทักษะติดตัวไปไม่มากก็น้อยครับ"
ด้าน นายปวริษ วิริยะคุณากร (ผลงาน Flip Ed – แพลตฟอร์มช่วยจัดการเรียนรู้กลับทางเพื่อครูพันธุ์ใหม่) จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ หนึ่งในเยาวชนจาก 15 ทีม ที่เข้าร่วมโครงการ ได้ร่วมสะท้อนการเรียนรู้กับค่ายแรกว่า"รู้สึกว่าคุ้มมากครับ ที่ได้เข้ามาเข้าค่ายพัฒนาศักยภาพโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ ผมได้เรียนรู้เกี่ยวกับการประยุกต์ใช้ผลิตภัณฑ์ การทำ Mind Map ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมไม่เคยเรียนมาก่อนจากในโรงเรียน แต่เมื่อผมได้มาเรียนรู้กับพี่ๆทีมโคชและวิทยากรแล้วก็เลยรู้ว่าการที่ใช้เทคนิคเหล่านี้มีส่วนเข้ามาช่วยทำให้เราจดจำได้มากขึ้น สามารถนำไปประเมินสถานการณ์ หรือแบ่งย่อยข้อมูลต่างๆที่มีอยู่มากมาย มาใส่ให้ตรงเป้าหมาย นำมาประยุกต์ใช้กับงาน และนำมาแก้ปัญหาให้แก่ผู้ใช้งานได้ต่อไป"
อนึ่ง รายชื่อ 15 ผลงาน มีดังนี้ 1.DOGMATE เครื่องให้อาหารสุนัขผ่านสมาร์ทโฟน โรงเรียนชลกันยานุกูล 2. EASY CLIMB อุปกรณ์ขึ้นต้นมะพร้าว โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย จ.ตรัง 3.The Backpacker แบกเป้ตะลุยไทย เกมที่นำเอาประเพณีและวัฒนธรรมของแต่ละจังหวัดมาทำเป็นเกม โรงเรียนสตรีอ่างทอง 4. Angle words เกมฝึกฝนท่องคำศัพท์ โดยการเติมตัวอักษรให้ได้คำศัพท์ที่สมบูรณ์ โรงเรียนสตรีอ่างทอง 5.Everything on your garden เครื่องดูแลต้นอ่อนทานตะวันด้วยระบบอัตโนมัติ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ,6.FlipED แพลตฟอร์มช่วยจัดการเรียนรู้กลับทางเพื่อครูพันธุ์ใหม่ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ 7.PG BOX อุปกรณ์ผลิตกระแสไฟฟ้าจากการเคลื่อนที่ขึ้นลงของโป๊ะเรือ โรงเรียนกรรณสูตศึกษาลัย จังหวัดสุพรรณบุรี 8. Soft&Silk ผลิตภัณฑ์น้ำยาหมักผ้าไหมให้นุ่ม โรงเรียนเมืองพลพิทยาคม 9.Herb Pure Dry ตู้อบสมุนไพรแบบควบแน่นไอน้ำ ขนาดเล็ก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงใหม่ 10.Bonder Board เกมมือถือเนว Puzzle RPG โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย 11.Our Darkest Night เกมเอาชีวิตรอด จากอาชญากร2.5D survival strategy game โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) 2 , 12.Secret Du Corps สื่อการเรียนการสอนวิชาชีววิทยา หมวดร่างกาย โรงเรียนตรังคริสเตียนศึกษา 13.DIZCARD Application ใช้แทนบัตรสะสมแต้ม ลูกค้าที่มาซื้อของจะได้รับบัตรสะสมแต้ม หลายใบ รวมถึงการสมัครสมาชิก โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย 14. ทอ-ไอ-ยอ ไทย สื่อการเรียนการสอนวิชาภาษาไทย สอนในเรื่องการอ่านสะกดคำ ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาเด็กที่อ่านไม่ออก โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ และ15. Boonrod the Survivor เกมแนวแอคชัน เล่นได้ในระบบออฟไลน์ โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์