กรุงเทพฯ--29 ก.ค.--Image Solution
กระทรวงอุตสาหกรรม ตอกย้ำ โมเดล ประเทศไทย 4.0 ปฏิรูปอุตสาหกรรมด้วยนวัตกรรม ต่อยอด 5 กลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมาย มุ่งเป้าหมายสู่การแข่งขันในเวทีการค้าโลก
ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวระหว่างการเปิดงานประชุมวิชาการ OIE Forum 2016 "New Revolution of Thai Industryปฏิวัติอุตสาหกรรมใหม่ : ประเทศไทย 4.0" ที่จัดขึ้น ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ในวันที่ 29 กรกฎาคม 2559 ว่า ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ ด้าน รวมทั้งโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยที่กำลังเข้าสู่ยุคการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาเศรษฐกิจในโมเดลใหม่ ที่เรียกว่า ประเทศไทย 4.0 คือ เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Value-Based Economy) ซึ่งเป็นการปฏิรูปเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นการพัฒนาไปสู่ ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ด้วยการสร้างความเข้มแข็ง ตามแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงผ่านกลไกประชารัฐ
ทั้งนี้การปฏิรูปเศรษฐกิจตามรูปแบบโมเดล "ประเทศไทย 4.0" นั้นเป็นการแปลงความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบที่ประเทศไทยมีอยู่ ได้แก่ ความหลากหลายทางชีวภาพ และ ความหลากหลายเชิงวัฒนธรรม ให้เป็นความได้เปรียบในเชิงแข่งขัน โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการวิจัยและพัฒนา ต่อยอดไปสู่ 5 กลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมาย ประกอบด้วย
กลุ่มที่ 1 กลุ่มอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ (Food, Agriculture & Bio-Tech)
กลุ่มที่ 2 กลุ่มสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ (Health, Wellness & Bio-Med)
กลุ่มที่ 3 กลุ่มเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ และระบบเครื่องกลที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุม (Smart Devices, Robotics & Mechatronics)
กลุ่มที่ 4 กลุ่มดิจิตอล เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตที่เชื่อมต่อการทำงานของอุปกรณ์ต่าง ๆ ปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยี สมองกลฝั่งตัว (Digital, Internet of Things, Artificial Intelligence & Embedded Technology)
กลุ่มที่ 5 กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และบริการที่มีมูลค่าสูง (Creative, Culture & High Value Services) โดยทั้ง 5 กลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมายนี้ เป็นส่วนหนึ่งของ "10 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต" หรือ S-Curve และ New S-Curve
ดร.อรรชกา กล่าวต่อว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจรวมทั้งภาคอุตสาหกรรมที่เป็นหน่วยเศรษฐกิจหนึ่งที่สำคัญภายใต้โมเดล ประเทศไทย 4.0 นั้น จะต้องเริ่มจากสร้างความเข้มแข็งจากภายใน คือ การยกระดับนวัตกรรม เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ ผู้ประกอบการ ชุมชน และเครือข่าย ในทุกภาคส่วนของประเทศ เมื่อโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมภายในประเทศเข้มแข็งแล้ว สิ่งที่ต้องดำเนินการควบคู่กันไปคือ การเชื่อมโยงกับภายนอก ทั้งในรูปแบบภูมิภาค เช่น กลุ่มประเทศอาเซียนและการเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก
"ความสำเร็จในการปฏิรูปเศรษฐกิจครั้งนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ กระบวนการปฏิรูปขนานใหญ่นั้นเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ ครอบคลุมทั้งมิติทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและการบริหารราชการแผ่นดิน โดยถูกขับเคลื่อนจากการผนึกกำลังของทุกภาคส่วน หรือผ่านพลังประชารัฐ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยสามารถก้าวข้ามไปสู่ประเทศที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ได้ในที่สุด"
สำหรับการจัดงานในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสดีที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศได้มารวมตัวกัน เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทัศนคติและข้อมูลที่เป็นประโยชน์ซึ่งกันและกัน อีกทั้งยังเป็นการจุดประกายความคิดให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศรวมถึงหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้เกิดความตระหนักในการเตรียมพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนไปสู่การปฏิรูปเศรษฐกิจครั้งใหญ่นี้