กรุงเทพฯ--29 ก.ค.--สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
จากเวทีเสวนาในหัวข้อ "การสร้างคนเพื่อหนุนเสริมการมีส่วนร่วม" ในเวทีวิชาการเพื่อพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ และสุขภาพชุมชน 2559 ซึ่งจัดโดย มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (มสพช.)
โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนา ได้แก่ คุณจรรยาวัฒน์ ทับจันทร์ หัวหน้าฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา คุณชวนพิศ ศิริไพบูลย์ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ วิทยาลัยสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดสุพรรณบุรี นพ.วรวุฒิ โฆวัชรกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ นพ.วิชัย อัศวภาคย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น และ นพ.พนา พงศ์ชำนะภัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ ดำเนินรายการโดย ดร.อลิสา ศิริเวชสุนทร สถาบันพระบรมราชชนก กระทรวงสาธารณสุข วิทยากรส่วนกลาง ดร.นพ.ฑินกร โนรี สำนักวิจัยและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ และ ผศ.ดร.ปิยธิดา คูหิรัญญรัตน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
คุณจรรยาวัฒน์ ทับจันทร์ หัวหน้าฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ได้เล่าบทเรียนการพัฒนาศักยภาพ อสม. (คุณวรรณนภา พุทธจันทึก) ซึ่งเป็นเจ้าของร้านเสริมสวย ให้กลายเป็นที่ปรึกษาปัญหาชีวิตวัยรุ่นใน "คลินิกเพื่อนใจวัยรุ่นในชุมชน" ที่เปิดในร้านเสริมสวย ว่า ได้ใช้กระบวนการมองหาคนที่น่าไว้ใจได้ มีจิตอาสาและสามารถมองเห็นปัญหาของชุมชนได้ มาพัฒนาโดยการให้คำปรึกษา และถ่ายทอดกระบวนการวิเคราะห์ปัญหาชุมชน โดยการใช้องค์วามรู้ชุดต้นไม้ปัญหา ตุ๊กตาชุมชน และแผนที่ชุมชน พร้อมทั้งสร้างระบบส่งต่อจากคลินิกสู่โรงพยาบาลเพื่อรองรับปัญหาวัยรุ่นติดโรคทางเพศสัมพันธ์ ไม่ให้จิตอาสาแก้ปัญหาในชุมชนอย่างโดดเดี่ยว นอกจากนี้ยังได้มีการสร้างบทบาทให้ อสม.เป็นผู้ถ่ายทอดข้อมูลปัญหาชุมชนให้แก่เจ้าหน้าที่ มีการให้เกียรติ และสนับสนุนให้ อสม.มีผลงานดีเด่น ทำให้เกิดความภาคภูมิใจ
คุณชวนพิศ ศิริไพบูลย์ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ วิทยาลัยสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดสุพรรณบุรี ได้เล่าประสบการณ์การเรียนรู้เรื่องการสร้างคน สร้างทีม ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายการพยาบาล ที่โรงพยาบาลเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรีว่า เริ่มจากการที่ได้เรียนรู้จากกระบวนการ Dialouge ที่เน้นเรื่องการฟังอย่างตั้งใจ ฟังอย่างลึกซึ้ง เพื่อให้เห็นคนตรงหน้าตามแบบที่เขาเป็น ไม่ใช่แบบที่เราอยากให้เป็น แล้วย้อนมองที่ตนเอง มีการลงพื้นที่ไปดูงานและเยี่ยมบ้าน เพื่อทำความเข้าใจวิถีชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว (ผู้ดูแล) ซึ่งเป็นเบื้องหลังอันเป็นเหตุปัจจัยแห่งปัญหาที่มากกว่าการเจ็บป่วย นอกจากนี้ยังได้มีการใช้แผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในชุมชน และพลิกให้ชุมชนก้าวข้ามความคุ้นเคยต่อปัญหาและหันมาใส่ใจผู้ป่วยและคนด้อยโอกาสในชุมชนมากขึ้น เกิดแนวคิดการดูแลคนในชุมชนโดยชุมชน ทำให้เกิดความรู้สึกมีคุณค่าและมีความภาคภูมิในในตนเอง
นพ.วรวุฒิ โฆวัชรกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า คนปฐมภูมิหากได้รับทราบข้อมูลเทคโนโลยีระดับตติยภูมิจะรู้ว่ายังมีเทคโนโลยีอีกมากมายที่สามารถนำมาใช้บริการสุขภาพ ปฐมภูมิได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งช่วยประหยัดงบประมาณทั้งของหน่วยบริการและผู้ป่วยได้มากขึ้น ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี ดังนั้นควรให้ความสำคัญกับการมองหาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ไม่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ จะทำให้การดูแลรักษาผู้ป่วยง่ายขึ้น เร็วขึ้น และประหยัดขึ้น ส่วนการพัฒนาตนเองต้องอาศัยกระบวนการ "เห็น คิด พูด ทำ" เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงจากภายใน เพราะที่ผ่านมาคนทำงานมักจะมีปัญหา "มองแต่ไม่เห็น ฟังแต่ไม่ได้ยิน สัมผัสแต่ไม่รู้สึก" จึงทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาทั้งภายนอกและภายในใจของตนเองได้
ปัญหาสำคัญอีกอย่างหนึ่งของคนสาธารณสุขคือ "เราไม่รู้ว่า เราไม่รู้" และ "รู้แต่ไม่พยายามแก้ไขให้ดีขึ้น" วิธีการแก้ไขคือ เราต้องเชื่อมต่อข้อมูลความรู้ระหว่างปฐมภูมิและตติยภูมิ เพื่อนำไปสู่การคิดและทำนอกกรอบ สร้างการเปลี่ยนแปลงในการให้บริการประชาชน นอกจากนี้เราต้องรู้ว่าเราทำสิ่งนั้นไปเพื่ออะไร โดยจะต้องให้ความสำคัญที่หลักคิดมากกว่ากระบวนการ เพราะถ้าหากมีหลักคิดที่ถูกต้อง ผลลัพธ์ก็จะออกมาดี
นพ.วิชัย อัศวภาคย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ได้กล่าวถึงหัวใจของการสร้างคนเพื่อนำไปสู่การสร้างชุมชนที่เข้มแข็ง ว่า 1) ต้องมีความเชื่อมั่นในความสามารถของบุคคล 2) ใช้หลัก 3P1O (Purpose จุดมุ่งหมาย, Principle หลักคิดวิธีการ, Participation การมีส่วนร่วม, Organization & Network การสร้างภาคีเครือข่าย) เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน 3) ต้องหมั่นประชุมเป็นเนืองนิตย์ โดยใช้เวทีที่เรียกว่า "อปริหานิยธรรม" ซึ่งหมายถึงธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความไม่เสื่อม และการพูดคุยกับชาวบ้านก็ต้องพูดคุยแบบให้เกียรติกัน รวมทั้งให้เขาได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง
นอกจากนี้ นพ.วิชัย ยังได้กล่าวถึงหัวใจของการพัฒนาคนในระบบปฐมภูมิว่า ต้องเพิ่มกำลังคน และต้องทำให้คนมีคุณภาพ เพื่อให้คนเหล่านั้นกลับมาพัฒนาและแก้ปัญหาในพื้นที่ของเขาเอง
นพ.พนา พงศ์ชำนะภัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า การทำให้การบริการมีคุณภาพ ต้องทำให้คนทำงานมีความสุข เพราะเมื่อคนทำงานยิ้มได้ คนไข้ก็จะยิ้มออก โดยการที่จะทำให้คนทำงานมีความสุขได้นั้น ต้องใช้กระบวนการเปลี่ยนแปลงทางความคิด หรือ Mental Model ซึ่งสามารถทำได้โดยการฝึกสติ การพูดคุยกันให้เกิดความเข้าใจ การรู้ปัญหารู้ความต้องการทั้งของตนเองและผู้อื่น สร้างการเปลี่ยนแปลงจากภายใน และปรับตัวให้เข้ากับบริบทที่เปลี่ยนได้อย่างเหมาะสม
ส่วนการจัดการองค์กร ควรมีการสร้างทีมแกนนำวิทยากรกระบวนการสร้างสุขในองค์กร เพื่อนำไปสู่การจัดกิจกรรมสำหรับสร้างความเปลี่ยนแปลงจากภายใน นอกจากนี้ยังต้องมีการสร้างการมีส่วนร่วมในองค์กร สร้างการประชุมที่เป็นสุข ด้วยการให้ทุกคนมีส่วนร่วม มีข้อตกลงในการประชุม มีสติ และสร้างบรรยากาศการประชุมที่หลากหลายเพื่อให้คนทำงานเกิดความผ่อนคลาย
"การสร้างคน" เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่คนทำงานสาธารณสุขทุกระดับทุกตำแหน่งต้องเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อสร้างศักยภาพและความสุขให้กับคนทำงาน ทำให้เกิดการพัฒนาคุณภาพระบบบริการปฐมภูมิที่จะนำไปสู่การสร้างเสริมสุขภาพที่ดีให้กับประชาชน อันเป็นเป้าหมายสูงสุดของคนทำงานปฐมภูมิต่อไป