กรุงเทพฯ--29 ก.ค.--อินทิเกรเต็ด คอมมูนิเคชั่น
"Regional Science Park (RSP) Innovation Day 2016" งานแสดงทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมครั้งใหญ่ โดยสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ร่วมกับ อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค 3 แห่ง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ณ โซนเอเทรี่ยม 2 ชั้น 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์
ภายในงานได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดงาน พร้อมกล่าวถึงความสำคัญของงาน RSP Innovation Day 2016 ว่า ถือเป็นกิจกรรมที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของ สอว. และอุทยานวิทยาศาสตร์ทั้ง 3 ภูมิภาค ซึ่งมีเครือข่ายมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการถึง 13 แห่ง ที่ได้ร่วมกันเผยแพร่ความสำเร็จของการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาวิจัยพัฒนานวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพทางธุรกิจ และการตลาด
รวมทั้งยังแสดงให้ผู้ประกอบการได้เห็นถึงความพร้อมในการให้บริการของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคที่มีอย่างหลากหลาย ทั้งห้องปฏิบัติการพร้อมการวิเคราะห์ทดสอบและรับรองมาตรฐาน บริการพื้นที่ให้เช่า การบ่มเพาะธุรกิจ การแก้ปัญหาด้วยเทคโนโลยี และการทำวิจัยร่วมกับภาคเอกชน โดยเปิดโอกาสการเข้าถึงทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐานวิจัยและพัฒนาในภาครัฐเพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาธุรกิจ เพื่อส่งเสริมให้ภาคเอกชนลงทุนทำวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเชิงพาณิชย์มากขึ้น และสนับสนุนให้เกิดวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่สามารถประกอบธุรกิจได้อย่างยั่งยืน ซึ่งจะมีส่วนช่วยผลักดันเศรษฐกิจระดับภูมิภาคและระดับประเทศต่อไป
ในโอกาสนี้ รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ยังให้เกียรติเป็นประธานในพิธีมอบรางวัลสุดยอดนวัตกรรมแห่งปี MOST Innovation Awards 2016 แก่นักวิจัยและผู้ประกอบการที่เข้ารับบริการของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค และมีผลงานโดดเด่นทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยผ่านการพิจารณาคัดเลือกจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งแบ่งรางวัลออกเป็น 3 สาขา ประกอบด้วย สาขานักธุรกิจนวัตกรรม สาขานวัตกรรมเชิงพาณิชย์-กระบวนการนวัตกรรม และสาขานวัตกรรมเชิงพาณิชย์-ผลิตภัณฑ์นวัตกรรม
สำหรับผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศสาขานักธุรกิจนวัตกรรม ได้แก่ กาแฟโบราณลุงเป๋อ 3 in 1 โดยอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ร่วมกับบริษัท ฮิลล์คอฟฟ์ จำกัด พัฒนาผลิตภัณฑ์กาแฟโบราณสำเร็จรูป 3 in 1 โดยมี นฤมล ทักษอุดม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮิลล์คอฟฟ์ จำกัด เป็นตัวแทนรับรางวัล พร้อมเล่าถึงแนวคิดการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรม ว่า ฮิลล์คอฟฟ์ให้ความสำคัญกับการวิจัยเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ โดยคิดค้นกาแฟโบราณสูตรพิเศษของเชียงใหม่ ชื่อว่า "อาร์ตคอฟฟี่" ซึ่งเลือกใช้เมล็ดกาแฟสายพันธุ์อราบิก้า โรบัสต้า และเมล็ดแทมมะรินด์ มาผ่านกรรมวิธีคั่วและแบลนด์จนได้รสชาติความอร่อยเข้มข้นแบบไทยแท้ ซึ่งได้รับการตอบรับจาก คอกาแฟเป็นอย่างดี จึงมีแนวความคิดที่จะขยายตลาดกาแฟโบราณให้กว้างขึ้น โดยต่อยอดการพัฒนาเป็นกาแฟโบราณสำเร็จรูป 3 in 1 แบรนด์ลุงเป๋อ เพื่อขยายไปยังตลาดสินค้าของฝาก เจาะกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ
รางวัลชนะเลิศสาขานวัตกรรมเชิงพาณิชย์-กระบวนการนวัตกรรม ได้แก่ การออกแบบสร้างเครื่องฆ่ามอดมะขามด้วยคลื่นความถี่วิทยุ จากเทคโนธานี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โดย รศ.ดร.ชาญชัย ทองโสภา กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการคิดค้นเครื่องฆ่ามอดมะขามด้วยคลื่นความถี่วิทยุ เกิดจากผู้ประกอบการส่งออกมะขามที่มีปัญหามอดในสินค้า จนทำให้เกิดความเสียหาย จึงเข้ามาขอรับบริการที่อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ซึ่งจุดเด่นของเครื่องดังกล่าว คือ การใช้หลักความร้อนแบบไดอิเล็กตริกด้วยคลื่นความถี่วิทยุซึ่งสามารถฆ่ามอดมะขามได้ 100% โดยไม่ทำลายคุณภาพของมะขามและไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ทำให้ปัจจุบันผู้ประกอบการสามารถขยายตลาดส่งออกมะขามได้มากขึ้นและสร้างรายได้มากกว่าร้อยล้านบาท สำหรับในระยะต่อไปมีแผนที่จะพัฒนาเครื่องฆ่ามอดในสินค้าเกษตรอื่นๆ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจการส่งออกในอุตสาหกรรมการเกษตรของไทยต่อไป
ทางด้าน รางวัลชนะเลิศสาขานวัตกรรมเชิงพาณิชย์-ผลิตภัณฑ์นวัตกรรม ได้แก่ ยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติกลอกลายแบบ 3 มิติ (สำหรับงานพิสูจน์หลักฐาน) จากอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดย ดร.เอกวิภู กาลกรณ์สุรปราณี เปิดเผยถึงผลงานวิจัยว่า จากแนวคิดที่ต้องการช่วยแก้ปัญหายางพาราล้นตลาด จึงเป็นแรงบันดาลให้คิดค้นผลิตภัณฑ์ยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติกที่สามารถลอกลายได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับใช้ในงานพิสูจน์หลักฐานภาคสนาม จุดเด่นของผลงานดังกล่าว คือ ใช้งานได้ง่ายเพียงแค่แช่น้ำร้อนในอุณหภูมิ 75 องศา ยางก็จะอ่อนตัวคล้ายดินน้ำมัน เมื่อนำไปพิมพ์ในจุดที่ต้องการลอกลาย แล้วรอให้แข็งตัวก็จะได้ภาพพิมพ์แบบ 3 มิติ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับการตัดสินคดีความ
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจเกี่ยวกับผลงานวิจัยของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค 3 แห่ง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ หรือสนใจขอรับบริการได้ที่ สอว. และค้นหาข้อมูลได้ทางเว็บไซต์ www.spa.most.go.th