กรุงเทพฯ--1 ส.ค.--ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน
รศ.ดร.เชษฐ รัชดาพรรณาธิกุล ประธานชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน (Thai Researchers in Community Happiness Association, TRICHA) เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจมาสเตอร์โพลล์(Master Poll) เรื่อง โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐกับความสำเร็จในการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน จำนวนทั้งสิ้น 1,101 ชุมชน จาก 26 จังหวัดทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี กาญจนบุรี ลพบุรี อ่างทอง ปราจีนบุรี ระยอง ตราด นครราชสีมา ชัยภูมิ สุรินทร์ ศรีสะเกษ มุกดาหาร กาฬสินธุ์ สกลนคร เลย หนองคาย เชียงใหม่ พะเยา อุตรดิตถ์ ตาก นครสวรรค์ นครศรีธรรมราช ชุมพร สตูล และ ปัตตานี โดยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบใช้ความน่าจะเป็นทางสถิติแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายขั้น (Stratified Multi-Stage Sampling) จากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลแกนนำชุมชนทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ โดยมีช่วงความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 ดำเนินโครงการในวันที่ 15-17 กรกฎาคม 2559 ผลการสำรวจพบว่า
ประชาชนพอใจโครงการลงทะเบียนคนจน เชื่อมั่นจะช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยได้จริง แต่อาจเป็นดาบสองคมทำให้บางกลุ่มไม่กระตือรือร้นทำงานเพราะมีรัฐอุ้ม
ทั้งนี้ผลสำรวจเมื่อสอบถามการเปิดตัวโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ พบว่าแกนนำชุมชนกว่า 2 ใน 3 หรือร้อยละ 75.8 ระบุทราบข่าวดังกล่าว ในขณะที่ร้อยละ 24.2 ระบุไม่ทราบ
นอกจากนี้แกนนำชุมชนได้แสดงความคิดเห็นต่อหลักเกณฑ์ของโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐที่กำหนดให้ผู้มีสิทธิลงทะเบียนต้องเป็นคนไทยที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป เป็นผู้ว่างงานหรือมีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทในปี2558 โดยส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 83.2 ระบุคิดว่าหลักเกณฑ์ดังกล่าวเหมาะสมแล้ว ในขณะที่ร้อยละ 16.8 ระบุคิดว่ายังไม่เหมาะสม โดยให้เหตุผลพอสรุปได้ว่า อายุขั้นต่ำควรมากกว่า 18 ปี/บางคนมีรายได้เกินกำหนดแต่มีภาระในค่าใช้จ่ายมากควรดูองค์ประกอบอื่นด้วย นอกจากนี้บางส่วนยังระบุว่ามาตรการช่วยเหลือดังกล่าวอาจทำให้คนจำนวนมากไม่กระตือรือร้นในการทำงานเพราะจะรอความช่วยเหลือจากรัฐ เป็นต้น
และเมื่อสอบถามถึงการมีสิทธิของตนเอง/ครอบครัวเพื่อลงทะเบียนในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐพบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 59.7 ระบุมีสิทธิ ในขณะที่ร้อยละ 40.3 ระบุไม่มีสิทธิ ทั้งนี้ในกลุ่มที่มีสิทธิลงทะเบียนกว่าร้อยละ 90 (ร้อยละ 93.8) ระบุมีความสนใจเข้าร่วมในโครงการนี้ ในขณะที่ร้อยละ 6.2 ระบุไม่สนใจ (พิจารณารายละเอียดในตารางที่ 4)
อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจเมื่อสอบถามข้อมูลของโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐที่ต้องการทราบเพิ่มเติมพบว่า ร้อยละ 83.2 ระบุต้องการทราบรายละเอียดความช่วยเหลือที่จะได้รับ รองลงมาคือร้อยละ 77.3 ระบุต้องการทราบคุณสมบัติของผู้มีสิทธิลงทะเบียน ร้อยละ 76.5 ระบุระยะเวลาการลงทะเบียน ร้อยละ 76.1 ระบุวิธีการและเอกสารที่ต้องใช้ลงทะเบียน และร้อยละ 71.1 ระบุสถานที่หรือจุดรับลงทะเบียน ตามลำดับ
และเมื่อสอบถามถึงความเชื่อมั่นกรณี"โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ" จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนเรื่องค่าใช้จ่ายของประชาชนผู้มีรายได้น้อยได้จริงหรือไม่นั้น พบว่าตัวอย่างประมาณ 2 ใน 3 หรือร้อยละ 78.1 ระบุเชื่อมั่นว่าจะช่วยได้จริง ในขณะที่ร้อยละ 21.9 ระบุไม่เชื่อมั่น โดยให้เหตุผลว่าเพราะหลักเกณฑ์และรายละเอียดยังไม่เพียงพอ/เคยมีโครงการลักษณะแบบนี้มาแล้วแต่ความเป็นอยู่ของประชาชนก็เหมือนเดิม/ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่าจะทำสำเร็จ/ไม่มั่นใจในกระบวนการคัดกรองว่าเป็นคนจนหรือไม่จน นอกจากนี้บางส่วนยังระบุว่าอาจเป็นการเพิ่มปัญหาให้กับประเทศเพราะถ้าประชาชนได้รับความช่วยเหลือบ่อยๆก็จะทำให้เกิดความเคยตัว เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม แกนนำชุมชนมากกว่าร้อยละ 90 (ร้อยละ 95.2)ระบุมีความพึงพอใจต่อรัฐบาลที่ได้จัดตั้งโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ นี้ขึ้นมา ในขณะที่มีเพียงร้อยละ 4.8 เท่านั้น ที่ระบุไม่พอใจ
ทั้งนี้ นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อสารองค์กร ยังระบุเพิ่มเติมว่า หลังการพูดคุยกับประชาชน ถึงกรณีที่เป็นกังวลว่า โครงการลงทะเบียนคนจน อาจเป็นดาบสองคม กล่าวคือ เป็นโครงการที่ดีในการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ให้ได้รับสิทธิในการดูแลขั้นพื้นฐาน แต่อาจทำให้ประชาชนอีกกลุ่มไม่คิดกระตือรือร้นในการทำงาน และเกิดความเคยตัว เพราะคิดว่ามีรัฐบาลคอยช่วยเหลือบ่อยๆ รวมถึงกังวลว่า หลักเกณฑ์ในการพิจารณายังมีรายละเอียดไม่เพียงพอ เพราะเกรงว่าอาจจะมีการสวมสิทธิ์หรือช่องโหว่ของกลุ่มหาผลประโยชน์ ดังนั้น จึงขอให้ภาครัฐเพิ่มความเข้มงวดในการคัดกรองบุคคลที่จะเข้าร่วมโครงการ พร้อมทำความเข้าใจกับผู้มีสิทธิ์ด้วยหากกระบวนการคัดกรองล่าช้าหรือซับซ้อน ทั้งนี้ เพื่อสิทธิประโยชน์ที่แท้จริงของกลุ่มผู้มีรายได้น้อย และเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล
คุณลักษณะทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม
ตัวอย่างแกนนำชุมชนร้อยละ 86.9 เป็นเพศชาย ในขณะที่ร้อยละ 13.1 เป็นเพศหญิง ร้อยละ 5.4 มีอายุต่ำกว่า 40 ปี ร้อยละ 27.1 ระบุอายุ 40-49 ปีและร้อยละ 67.5 ระบุอายุตั้งแต่ 50 ปี ขึ้น ไป ทั้งนี้ เมื่อ พิจารณาจำแนกตามระดับการศึกษาที่สำเร็จมาชั้นสูงสุดพบว่า ร้อยละ 34.5 สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น/ต่ำกว่า ร้อยละ 45.7 สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย/ป.ว.ช. ร้อยละ 5.0 ระบุสำเร็จการศึกษาระดับอนุปริญญา/ป.ว.ส. และร้อยละ 14.8สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ตามลำดับ
ตัวอย่างแกนนำชุมชนร้อยละ 72.4 มีอาชีพประจำคือเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 15.8 ระบุประกอบธุรกิจส่วนตัว/ค้าขาย ในขณะที่ร้อยละ 11.8 ระบุมีอาชีพอื่นๆ อาทิ ข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ และไม่ได้ประกอบอาชีพใดๆ ทั้งนี้เมื่อพิจารณารายได้ต่อเดือนของครอบครัวพบว่า ตัวอย่างแกนนำชุมชนร้อยละ 13.1 ระบุมีรายได้ครอบครัวไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 15.7 ระบุมีรายได้ครอบครัว 10,001–15,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 24.9 ระบุมีรายได้ 15,001-20,000 บาทต่อเดือน ในขณะที่ตัวอย่างแกนนำชุมชนร้อยละ 46.3 ระบุมีรายได้ครอบครัวมากกว่า 20,000 บาทต่อเดือน ตามลำดับ
ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจำแนกตามรายภูมิภาคพบว่าตัวอย่างแกนนำชุมชนร้อยละ 33.9 อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองลงมาคือร้อยละ 25.5 ระบุอยู่ในพื้นที่ภาคกลาง ร้อยละ 18.4 ระบุอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ ร้อยละ 13.4 ระบุอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ ในขณะที่ร้อยละ 8.8 ระบุอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตามลำดับ