กรุงเทพฯ--1 ส.ค.--สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
หน่วย BUILD บีโอไอ สรุปผลกิจกรรมสร้างโอกาสผู้ผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมไทย ชี้ 6 เดือน มูลค่าการซื้อ - ขายระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายมูลค่า 18,202 ล้านบาท ทั้งกิจกรรมตลาดกลางซื้อขายชิ้นส่วนรวมถึงการนำคณะเอสเอ็มอีออกบูธต่างประเทศ ด้านผลการจัดงานซับคอน 2016 ยอดจับคู่ธุรกิจพุ่ง 8,000 ล้านบาท ยันครึ่งปีหลังเน้นเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมอากาศยาน เครื่องมือแพทย์รับทิศทางตลาดโลก
นางสาวซ่อนกลิ่น พลอยมี ผู้อำนวยการหน่วยพัฒนาการเชื่อมโยงอุตสาหกรรม (BUILD) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ เปิดเผยว่า ผลของการจัดกิจกรรมเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงทางธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการชิ้นส่วนอุตสาหกรรมไทยและต่างชาติในช่วง 6 เดือน ( มกราคม – มิถุนายน 2559 ) ที่ผ่านมา มีมูลค่า 18,202 ล้านบาท จาก 4 กิจกรรมสำคัญได้แก่ การจัดงานตลาดกลางซื้อขายชิ้นส่วน กิจกรรมจับคู่เจรจาธุรกิจ การออกงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ และการจัดงานแสดงสินค้าอุตสาหกรรมซับคอนไทยแลนด์ โดยทั้ง 4 กิจกรรมเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมได้พบกับผู้ซื้อทั้งในและต่างประเทศโดยตรงรวมจำนวน 16 ครั้ง มีผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ( เอสเอ็มอี ) ของไทยได้รับประโยชน์จากการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมทั้งสิ้น 342 ราย
สำหรับการจัดงานตลาดกลางซื้อขายชิ้นส่วนและกิจกรรมจับคู่เจรจาธุรกิจในประเทศที่ผ่านมาก่อให้เกิดมูลค่าของการเชื่อมโยงหรือซื้อขายสินค้าระหว่างกันมูลค่ากว่า 2,257 ล้านบาท
ส่วนการนำคณะผู้ประกอบการไทยร่วมออกงานแสดงสินค้านานาชาติในต่างประเทศ อาทิ งานนิทรรศการแสดงชิ้นส่วนเครื่องจักรกล เทคโนโลยีเกี่ยวกับวัตถุดิบชิ้นส่วนและวัสดุอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นหรือ เอ็มเทคเจแปน 2016 งานเอ็มเทคนาโกย่า 2016 งานฮานโนเวอร์ 2016 ที่ประเทศเยอรมนี งานเจอีซี เวิล์ด 2016 ที่ประเทศฝรั่งเศสและงานเมดิคัล ดีไวน์ ดีเวลลอปเมนต์ 2016 ที่ประเทศญี่ปุ่น และงานในกลุ่มประเทศอาเซียนซึ่งเป็นตลาดที่มีการเติบโต เช่นงานเมทัลเล็กซ์ที่ผ่านมานั้น หน่วย BUILD ยังมีการจัดกิจกรรมเสริมเพื่อขยายตลาดในต่างประเทศกับลูกค้าเป้าหมายโดยตรงได้แก่ การเจรจาจับคู่ธุรกิจเพื่อกระตุ้นให้เกิดการซื้อขายสินค้าระหว่างเอสเอ็มอีไทยกับบริษัทผู้ผลิตต่างประเทศ คาดว่าจะก่อให้เกิดมูลค่าการเชื่อมโยงธุรกิจร่วมกันมูลค่าไม่น้อยกว่า 7,326 ล้านบาท
นอกจากนี้ผลสำเร็จของการจัดงานซับคอนไทยแลนด์ 2016 ยังได้ก่อให้เกิดการจับคู่เจรจาธุรกิจ (BUSINESS MATCHING ) รวมทั้งสิ้น 5,216 คู่ คิดเป็นมูลค่าการเชื่อมโยง 8,619 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีมูลค่าการเชื่องโยง 7,918 ล้านบาท
" ปัจจุบันผู้ผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมของไทยมีความแข็งแรงมากขึ้น โดยเฉพาะในด้านของการพัฒนาคุณภาพการผลิตเพื่อรองรับความต้องการของตลาดชิ้นส่วนอุตสาหกรรมที่มีความหลากหลาย ทั้งนี้รูปแบบของการจัดกิจกรรมของหน่วย BUILD จะเป็นเวทีที่จะช่วยเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมได้มีช่องทางการขยายตลาด รวมถึงกระตุ้นให้เห็นทิศทางหรือแนวโน้มของการพัฒนาศักยภาพการผลิต เพื่อรองรับความต้องการของตลาดให้ได้มากยิ่งขึ้น" นางสาวซ่อนกลิ่น กล่าว
นางสาวซ่อนกลิ่น กล่าวเพิ่มเติมว่า หน่วย BUILD จะเร่งจัดกิจกรรมเพื่อช่วยเป็นศูนย์กลางการขยายตลาดของผู้ผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมไทยอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงครึ่งปีหลังนี้ จะเน้นขยายโอกาสของผู้ประกอบการไทยไปสู่การผลิตเพื่อรองรับอุตสาหกรรมที่น่าสนใจมากขึ้น อาทิ อุตสาหกรรมอากาศยาน เครื่องมือแพทย์ เป็นต้น นอกจากนั้นภายใต้กิจกรรมต่างๆ จะจัดให้มี สัมมนาพิเศษ/ การจัดแสดงงานวิจัยและชิ้นงานที่พร้อมนำไปต่อยอดทางด้านการค้าในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ร่วมกับหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วน เพื่อพัฒนาทักษะ เทคโนโลยี ตลอดจนองค์ความรู้ของผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยกับผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งจะเป็นการสร้างมาตรฐานให้อุตสาหกรรมชิ้นส่วนไทยพัฒนาต่อไป