กรุงเทพฯ--2 ส.ค.--กระทรวงวัฒนธรรม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) ประธานเปิดการสัมมนา "การขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายประเทศไทย 4.0 ด้านวัฒนธรรม" โดยได้รับเกียรติจาก นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ บรรยายพิเศษ "การดำเนินงานตามนโยบายประเทศไทย 4.0 ในมิติด้านวัฒนธรรม" นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมบรรยายพิเศษ "การต่อยอดภูมิปัญญาและทุนทางวัฒนธรรมสู่อุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์" และนายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี บรรยายพิเศษ "การนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรม"
นายวีระ กล่าวว่า รัฐบาลประกาศนโยบายและยุทธศาสตร์ชาติในระยะ 20 ปี เพื่อพัฒนาประเทศไทยไปสู่ประเทศที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน เพื่อให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง กับดักความเหลื่อมล้ำ นายกรัฐมนตรีได้กำหนดโมเดลการพัฒนาประเทศไทยสู่ประเทศไทย 4.0 ด้วยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วย "ปัญญา" สร้างความเข้มแข็งจากภายใน เชื่อมเศรษฐกิจไทยสู่โลกด้วยความสมดุล สร้างคนไทยให้เป็น "มนุษย์ที่สมบูรณ์" โดยน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิตและผนึกกำลังสานพลังประชารัฐ เน้นการพึ่งพาตนเอง พึ่งพากันเอง และรวมกันเป็นกลุ่มอย่างมีพลังให้สอดคล้องกับ ร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ซึ่งขณะนี้ทุกหน่วยงานได้เร่งดำเนินการขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าว โดยในส่วนของ วธ. ได้กำหนดกรอบการใช้วัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาใน 3 มิติ คือ การสร้างคนดีและสังคมดีด้วยมิติทางวัฒนธรรม การสร้างรายได้และความมั่งคั่งจากทุนและทรัพยากรทางวัฒนธรรม รวมทั้งใช้วัฒนธรรมเพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์ เกียรติภูมิและความสัมพันธ์อันดีกับต่างประเทศ ซึ่งแนวทางการพัฒนา ทั้ง 3 มิติดังกล่าว มีความสอดคล้องกับโมเดลการพัฒนาประเทศไทยสู่ประเทศไทย 4.0 ของท่านนายกรัฐมนตรี และทิศทางการพัฒนาประเทศตามร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 รวมถึงยุทธศาสตร์ชาติในระยะ 20 ปีด้วย
นายวีระ กล่าวว่า การดำเนินการขับคลื่อนนโยบายดังกล่าว วธ.มีส่วนเกี่ยวข้องและมีบทบาทสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และบริการที่มีมูลค่าสูง ภารกิจดังกล่าวนี้ แม้ว่า วธ. ได้ดำเนินการมาโดยตลอดอยู่แล้ว แต่หากจะพัฒนาตามแนวทางประเทศไทย 4.0 ต้องมีการวิจัยและพัฒนาการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ และพัฒนานวัตกรรม เพื่อสร้างคุณค่าและมูลค่าให้แก่สินค้าและบริการทางวัฒนธรรมดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นใน 4 ลักษณะที่สำคัญ คือ อยู่บนพื้นฐานของความรู้และภูมิปัญญา (Knowledge Based) มีความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม (Creative & Innovation) มีความโดดเด่นหรือสร้างความแตกต่าง (Differentiation) รวมทั้งมีตัวตนที่เป็นเอกลักษณ์หรือตราสินค้า (Brand) ที่ชัดเจน ดังนั้นเพื่อขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาประเทศไทยสู่ประเทศไทย 4.0 อย่างเป็นรูปธรรม วธ. จะส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และบริการที่มีมูลค่าสูง โดยเริ่มจากสินค้าและการบริการทางวัฒนธรรมที่มีศักยภาพ 5 Fประกอบด้วย 1. อาหาร (Food)2.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) 3.ผ้าไทยและการออกแบบแฟชั่น (Fashion) 4.มวยไทย (Fighting) และ 5.การอนุรักษ์และขับเคลื่อน เทศกาล ประเพณีสู่ระดับโลก (Festival) โดยจะร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ในลักษณะการสานพลังประชารัฐ เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการดังกล่าว ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและลูกค้า เชื่อมโยงความร่วมมือทั้งภายในและภายนอกประเทศ เช่น ประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่ม CLMV รวมถึงกลุ่มประเทศ ASEAN และ ASEAN+6 ทั้งนี้ จำเป็นต้องมีการกำหนดเป้าหมายและยุทธศาสตร์การพัฒนาในเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจัง ต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม
ดังนั้นการจัดสัมมนาครั้งนี้ เพื่อให้ผู้บริหาร วธ. ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ ได้รับทราบนโยบายและทิศทาง การดำเนินงานดังกล่าว ซึ่งเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานในปีงบประมาณ 2560 และเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะได้รับความรู้ความเข้าใจในโมเดลประเทศไทย 4.0 ด้านวัฒนธรรม รวมทั้งแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นเพื่อร่วมกันกำหนดเป้าหมายและยุทธศาสตร์การพัฒนาในเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจังต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม