กรุงเทพฯ--2 ส.ค.--ปตท.
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 2.68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 43.86 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 2.26 สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 40.18 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 2.78 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 42.14 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 2.44 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 49.38 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลลดลง 2.98 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 50.83 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
· Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 22 ก.ค. 59 เพิ่มขึ้น 1.7 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ระดับ 521.13 ล้านบาร์เรล และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 9 ทั้งนี้ปริมาณสำรองน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 2.62 ล้านบาร์เรล สู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1,385 ล้านบาร์เรล
· Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบ (Rig) ในสหรัฐอเมริกา สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 29ก.ค. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 3 Rig และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 5 ทำให้จำนวนแท่นผลิตน้ำมันที่ยังดำเนินการอยู่ในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 374 Rig
· โรงกลั่นในสหรัฐฯ เข้าสู่ฤดูการซ่อมบำรุงส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันดิบลดลง ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาความต้องการน้ำมันดิบของโรงกลั่นในสหรัฐฯ ระหว่างเดือน ก.ค. - ต.ค. ลดลงเฉลี่ย 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทำให้นักวิเคราะห์จากหลายสำนักมองราคาน้ำมันดิบใน 2 - 3 เดือนข้างหน้าว่าเป็นขาลง
· กองกำลังคุ้มกันโครงสร้างพื้นฐานทางพลังงานของลิเบีย หรือ Petroleum Facility Guard (PFG) จะเปิดท่าขนส่งน้ำมันดิบ
Es Sider และ Ras Lanuf ปริมาณส่งออกรวม 100,000 บาร์เรลต่อวัน ภายในสัปดาห์นี้ หลังรัฐบาลที่ UNให้การสนับสนุนยอมจ่ายค่าจ้างให้กับ PFG อย่างไรก็ดีเจ้าหน้าที่ลิเบียระบุว่าต้องใช้เวลาประมาณ 5 สัปดาห์ ในการซ่อมแซมอุปกรณ์ที่เสียหาย และคาดว่าจะส่งออกน้ำมันดิบได้เบื้องต้น 100,000 บาร์เรลต่อวัน
· CFTC รายงานสถานะการลงทุนของสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า NYMEX ที่นิวยอร์กและ ICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 26 ก.ค. 59 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับลดสถานะการซื้อสุทธิ (Net Long Position) จากสัปดาห์ก่อน 44,318 สัญญา มาอยู่ที่ 111,333 สัญญา ระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือน มี.ค. 59
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
· Reuters รายงานการส่งออกน้ำมันดิบ Forcados ของไนจีเรียหยุดดำเนินการประมาณ 1 เดือน เพื่อซ่อมแซมท่อขนส่งน้ำมันดิบที่ถูกกลุ่ม Niger Delta Avengers (NDA) วางระเบิดเสียหายตั้งแต่เดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ทั้งนี้ประธานาธิบดี Buhari ระบุว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของประเทศลดลง 700,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ระดับ 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน
· จีนมีแผนสร้างคลังเก็บสำรองน้ำมันดิบทางยุทธศาสตร์ Phase 3 ปริมาณความจุ 441 ล้านบาร์เรล เทียบเท่ากับปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบ 60 วัน (ปัจจุบันนำเข้า 7.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน) โดยวางเป้าหมายก่อสร้างคลังปริมาณความจุ 281 ล้านบาร์เรล ในปี พ.ศ. 2563 และประกาศแผนสร้างเครือข่ายท่อขนส่งน้ำมันดิบความยาวรวม 23,000 กิโลเมตร เพื่อกระจายน้ำมันไปยังพื้นที่ทางตะวันตกของประเทศซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่ง
· กระทรวงการคลังญี่ปุ่นรายงานปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบเดือน มิ.ย. 59 ปริมาณ 3.15 ล้านบาร์เรลต่อวัน(เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 10.3%)
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบ Brent เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังสัญญาในเดือนกันยายนสิ้นสุดอายุสัญญาการซื้อขายและค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัว อย่างไรก็ตามผู้ค้าน้ำมันกังวลต่อภาวะอุปทานน้ำมันล้นตลาดเนื่องจากปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากกลุ่ม Non-OPEC และ OPEC โดย Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบ (Rig) ในสหรัฐอเมริกา สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 29 ก.ค. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 3 Rig เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 5 ทำให้จำนวนแท่นผลิตน้ำมันที่ยังดำเนินการอยู่ในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 374 Rigนอกจากนี้ปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นของรัสเซียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ซึ่งเป็นคู่แข่งของซาอุดีอาระเบีย ทำให้ซาอุดีอาระเบียปรับ ลดราคาขายทางการ (OSP) น้ำมันดิบชนิด Arab Light สำหรับลูกค้าเอเชียและสหรัฐฯ ในเดือน ก.ย. 59 ลง 0.20 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ - 1.10 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล บ่งชี้ให้เห็นถึงสภาวะตลาดน้ำมันที่มีการแข่งขันสูงในหมู่ประเทศผู้ผลิต อีกทั้งการกลับมาของผู้ผลิตรายใหญ่อย่างอิหร่านยังส่งผลให้ตลาดน้ำมันกลับมาสู่ดุลยภาพช้าลง ล่าสุดปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านของประเทศเอเชียปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 50% สูงสุดในรอบ 4 ปี โดยส่วนใหญ่นักวิเคราะห์หลายสำนักให้มุมมองตลาดน้ำมันอีก 2-3 เดือนข้างหน้าเป็นขาลงเนื่องจากโรงกลั่นเข้าสู่ช่วงปิดซ่อมบำรุงและความต้องการใช้น้ำมันดิบเป็นช่วงต่ำสุดของปี ทางเทคนิคราคาน้ำมันดิบ ICE Brent เคลื่อนไหวในกรอบ 41-45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ WTIเคลื่อนไหวในกรอบ 40-44 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ ราคาน้ำมันดิบ Dubai เคลื่อนไหวในกรอบ 38-42 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินปรับลดลงจาก Euroilstock รายงานโรงกลั่นในยุโรปผลิตน้ำมันเบนซิน ในเดือน มิ.ย. 59 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 37,000 บาร์เรลต่อวัน หรือ 1.5 % อยู่ที่ 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน และกระทรวงปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติของอินเดีย (Ministry of Petroleum & Natural Gas) รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันเบนซินในไตรมาส 2/59 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 13,700 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 102,500 บาร์เรลต่อวัน อีกทั้งReuters รายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันเบนซินของเกาหลีใต้ช่วงครึ่งแรกของปี 59 (ม.ค. - มิ.ย.) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 19.27% อยู่ที่ระดับ 42.22 ล้านบาร์เรล ด้านปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินInternational Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 27 ก.ค. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.47 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 15.33 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 10 สัปดาห์ และ Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุด 23 ก.ค. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 200,000 บาร์เรล หรือ 2.1 % อยู่ที่ 11.0 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตามโรงกลั่นน้ำมัน Cadereyta (กำลังการกลั่น 275,000 บาร์เรลต่อวัน) ของบริษัท Pemex ในเม็กซิโก หยุดดำเนินการตั้งแต่ 19 ก.ค. 59 เนื่องจากขาดแคลนน้ำสำหรับใช้กับระบบการกลั่นซึ่ง Reutersรายงาน Pemex นำเข้าน้ำมันเบนซินจากสิงคโปร์ ตั้งแต่ต้นเดือน ก.ค. 59 ปริมาณกว่า 1.2 ล้านบาร์เรล ทั้งนี้กระทรวงพลังงานเม็กซิโกเผยปกติโรงกลั่นดังกล่าวมีกำลังการผลิตน้ำมันเบนซินประมาณ 66,000 บาร์เรลต่อวัน และ หน่วยงานศุลกากรจีนรายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินของจีน เดือน มิ.ย. 59 ลดลงจากเดือนก่อน 3.7ล้านบาร์เรล หรือ 6.4 %อยู่ที่ระดับ 53.7 ล้านบาร์เรล ปรับตัวลดลงครั้งแรกในรอบ 4 เดือน จากปริมาณการส่งออกที่อยู่ระดับสูงที่ 200,000 บาร์เรลต่อวัน สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 48-52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลปรับลดลงจากข่าวสหรัฐฯ ส่งออกน้ำมันดีเซลจากฝั่ง U.S. Gulf Coast ไปยุโรป ในเดือน ก.ค. 59 ปริมาณรวม 11.3 ล้านบาร์เรล และ Euroilstock รายงานโรงกลั่นในยุโรปผลิตMiddle Distillates ในเดือน มิ.ย. 59 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 398,000 บาร์เรลต่อวัน หรือ 7.8 % อยู่ที่ 5.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตามหน่วยงานศุลกากรจีนรายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลของจีน เดือน มิ.ย. 59 ลดลง จากเดือนก่อน 400,000 บาร์เรล หรือ 0.6 % อยู่ที่ระดับ 65.4 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 5 เดือน และ IESรายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 27 ก.ค. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.00 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 13.19 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 18 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม Bloombergรายงานความต้องการน้ำมันดีเซลสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อทำความเย็นของญี่ปุ่น ช่วง ส.ค.- ต.ค. 59 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสูงกว่าปกติ เนื่องจากการพยากรณ์ว่าอุณหภูมิทั่วประเทศมีโอกาส ที่จะสูงกว่าระดับเฉลี่ย 50-60 %และ PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุด 23 ก.ค. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 30,000 บาร์เรล หรือ 0.3 % อยู่ที่ 9.4 ล้านบาร์เรล สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 49.5-53.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล