ทรีนีตี้ ประเมิน SET เดือนสิงหาปรับตัวไซต์เวย์ จับตาบอนด์ยิลด์ประเทศพัฒนาชี้นำทิศทางฟันด์โฟลว์ระยะสั้น

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday August 2, 2016 16:34 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ส.ค.--เมคอะเว็ลท์ คอนซัลติ้ง "ทรีนีตี้" เผยบทวิเคราะห์ประเมินความเคลื่อนไหวดัชนี SET เดือนสิงหาคมเริ่มไซต์เวย์ในกรอบ 1470 - 1550 จุด แนะจับตาผลตอบแทนตลาดพันธบัตรในประเทศพัฒนาแล้วอาจเป็นตัวชี้นำทิศทางเงินทุนต่างประเทศในระยะสั้น แนะนำกลุ่มอุตสาหกรรมที่ราคาปรับตัวขึ้นไม่มาก เช่น พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ สายการบิน และยานยนต์ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ เปิดเผยถึงภาวะการลงทุนในเดือนสิงหาคม โดยคาดว่าดัชนีจะเริ่มลดความร้อนแรงลงและจะปรับตัว Sideways ในกรอบ 1470 - 1550 จุด โดยกรอบบนที่ระดับ 1550 จุดนั้นคำนวณจากโมเดลEarning yield gap อิงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ 10 ปีที่ 1.45% ส่วนกรอบล่างของดัชนีที่ระดับ 1470 จุด คำนวณจากต้นทุนของนักลงทุนต่างชาติในรอบนี้ที่เข้าซื้อหุ้นไทยตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายนที่ผ่านมา ทั้งนี้ SET Index ปรับตัวขึ้นมาตามคาดในเดือนกรกฎาคมหลังได้รับปัจจัยบวกเชิงสภาพคล่องนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์Brexit กล่าวคืออัตราผลตอบแทนพันธบัตรของประเทศพัฒนาแล้วที่ปรับตัวลดลงส่งผลให้ตลาดหุ้นเกิดใหม่มีความน่าสนใจจากอัตราผลตอบแทนที่สูงขึ้นโดยเปรียบเทียบ และทำให้นักลงทุนต่างชาติโยกย้ายเงินลงทุนบางส่วนจากตลาดบอนด์เข้าสู่ตลาดหุ้นเกิดใหม่ ทั้งนี้ในเดือนกรกฎาคมนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทยไปกว่า 44,000 ล้านบาท มากกว่าที่ซื้อสุทธิตลอด 6 เดือนแรกของปีนี้รวมกันเสียอีก อย่างไรก็ดี คาดว่าปัจจัยผลักดันเชิงสภาพคล่องในเดือนนี้จะเริ่มลดลงหลังผ่านพ้นการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ(BoE) ในวันที่ 4 สิงหาคมนี้เป็นต้นไป เนื่องจากไม่น่าจะได้เห็นการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมของธนาคารกลางหลักอื่นๆอีก (Fed, ECB, BoJ) จนกระทั่งช่วงปลายเดือนกันยายนซึ่งจะมีการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) ครั้งถัดไป สำหรับปัจจัยที่น่าสนใจที่ต้องติดตามในเดือนนี้ได้แก่ 1) การประชุมธนาคารกลางอังกฤษในวันที่ 4 สิงหาคม ล่าสุดตลาดคาดการณ์ว่าจะมีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงสู่ระดับ 0.25% จาก 0.50% ซึ่งถ้าหากออกมาเป็นเช่นนี้จริงมองผลกระทบไม่มีนัยสำคัญ อย่างไรก็ดีหาก BoE มีมติขยายวงเงินเป้าหมายโครงการ QE จากเดิมที่ระดับ 3.75 แสนล้านปอนด์ มองจะเป็นปัจจัยบวกต่อสภาพคล่องทั่วโลก 2) กระแสทุนต่างชาติในเดือนนี้ที่น่าจะมีการเคลื่อนไหวในทิศทางตรงกันข้ามกับ Bond yield ของประเทศพัฒนาแล้ว 3) ปัจจัยการเมืองในประเทศที่อาจเริ่มเข้มข้นมากขึ้นในช่วงการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่วันที่ 7 สิงหาคม 4) รายงานเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรในวันที่ 5 สิงหาคม และรายงานการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ครั้งที่ผ่านมาในวันที่ 17 สิงหาคม ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อไปยังคาดการณ์แนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ และระดับ Bond yield ในท้ายที่สุด สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในเดือนนี้แนะนำขึ้นขาย-ลงซื้อในกรอบดัชนี 1470 - 1550 จุด แนะนำโฟกัสการลงทุนไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมที่ราคาปรับตัวขึ้นไม่มาก เช่น พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ สายการบิน และยานยนต์ โดยมีหุ้นแนะนำ ได้แก่ AP, QH, BA, SAT

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ