กรุงเทพฯ--3 ส.ค.--แอบโซลูทพีอาร์
สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ นับเป็นหนึ่งในประเทศกลุ่ม CLMV ที่เป็นเป้าหมายการลงทุนของผู้ประกอบการจากนานาชาติ รวมทั้งผู้ประกอบการจากประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเริ่มเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economics Community – AEC) ซึ่งกลุ่มประเทศใน CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม) ถือเป็นตลาดที่เอื้อให้ผู้ประกอบการเข้าไปทดสอบศักยภาพก่อนจะขยายสู่ตลาด AEC ต่อไป พร้อมย้ำสินค้าไทยมีโอกาสประสบความสำเร็จในเมียนมาร์ เพราะผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในคุณภาพและภาพลักษณ์ของสินค้าไทย
นายสันติพงศ์ พิมลแสงสุริยา ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทฮาวาสริเวอร์ออคิด ผู้ให้บริการธุรกิจสื่อสารการตลาดในกลุ่ม CLMV เปิดเผยว่าล่าสุด ฮาวาสริเวอร์ออคิดได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับระดับของภาพลักษณ์ ความเชื่อมั่น และแหล่งที่มาของสินค้า ที่ผู้บริโภคในเมียนมาร์มีต่อสินค้าไทยและสินค้าจากประเทศอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นจากสิงค์โปร, จีน, ญี่ปุ่น, สหรัฐอเมริกา, เกาหลี, ยุโรป, ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ โดยทำวิจัยจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 504 คนในเมียนมาร์ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
จากการวิจัยพบว่าผู้บริโภคในเมียนมาร์ให้ความเชื่อมั่นในคุณภาพของสินค้าไทยเทียบเท่ากับสินค้าที่มาจากญี่ปุ่นและสิงค์โปร ในด้านภาพลักษณ์ของสินค้า ผู้บริโภคในพม่าให้ความเชื่อมั่นในภาพลักษณ์ของสินค้าไทยเทียบเท่ากับสินค้าของญี่ปุ่น โดยจะเห็นว่าผู้บริโภคในพม่าให้ความเชื่อมั่นทั้งคุณภาพและภาพลักษณ์ของสินค้าไทยเทียบเท่ากับสินค้าที่มาจากญี่ปุ่น
นายสันติพงศ์กล่าวเพิ่มเติมว่า "จากความได้เปรียบในด้านความเชื่อมั่นที่ผู้บริโภคในเมียนมาร์มีต่อสินค้าไทย เราแนะนำให้สินค้าไทยที่มีแบรนด์อยู่แล้ว ให้เข้าไปทำตลาดในพม่าได้เลย สำหรับสินค้าไทยที่ยังไม่มีแบรนด์ หรือแบรนด์ยังไม่ได้มีชื่อเสียง หรือแม้กระทั่งผู้ประกอบการที่เป็นโรงงานผลิตสินค้าให้กับแบรนด์ในประเทศ ก็ยังสามารถขยายตลาดเข้าไปในพม่าได้ ด้วยความได้เปรียบของสินค้าไทยตามที่ได้กล่าวมา ทั้งนี้ จะต้องมีการสร้างแบรนด์ควบคู่กับการทำการตลาดอย่างต่อเนื่อง"
นอกจากนี้ นายสันติพงศ์ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมจากการศึกษาเทรนด์ในเมียนมาร์ในปีที่ผ่านมา พบว่า เทรนด์ค่านิยมในประเทศเมียนมาร์ค่อนข้างมีอิทธิพลอย่างสูงต่อพฤติกรรมผู้บริโภค และเป็นตัวกำหนดแนวโน้มของตลาดอย่างเด่นชัด เช่นในเรื่องของความกลัว เพราะเมียนมาร์เพิ่งเปิดประเทศได้ไม่นาน เมื่อมีสิ่งใหม่ ๆ หลายอย่างเพิ่มเข้ามาในชีวิตประจำวันจึงทำให้เกิดเป็นความกลัว ดังนั้นผู้ประกอบการต้องทำให้ผู้บริโภคไว้ใจ ไม่กลัวการใช้สินค้าหรือบริการใหม่ ๆ ทำให้ผู้บริโภคมองเห็นปัญหาและนำเสนอสินค้าหรือบริการที่เข้าไปช่วยแก้ปัญหา ส่วนเทรนด์ค่านิยม K-Pop สู่ My-Pop ผู้บริโภคได้นำเอาแนวคิดทางแฟชั่น การสื่อสาร และคอนเทนต์จากประเทศต่าง ๆ มาแสดงความเป็นตัวตนของเขาออกมา เช่น การแสดงออกทางความคิด ความสามารถในเรื่องต่าง ๆ แสดงให้เห็นถึงการต้องการการยอมรับ ซึ่งผู้ประกอบการต้องเข้าไปช่วยเพิ่มความมั่นใจในการแสดงออกเหล่านี้ นอกจากนี้ยังมีเทรนด์ที่มาแรงไม่แพ้กันเช่นเรื่องของความสวยแบบมีความหมายของผู้หญิง เนื่องจากส่งเสริมความมั่นใจ หรือความกังวลและตั้งคำถามเกี่ยวกับอัตลักษณ์ของตัวเองในผู้ชาย เนื่องจากผู้หญิงเริ่มมีบทบาทมากขึ้น เป็นต้น
"จะเห็นว่าโอกาสในเมียนมาร์สำหรับสินค้าไทยมีมาก เรียกว่าได้เปรียบสินค้าจากประเทศอื่น ๆ เลยทีเดียว ผู้ประกอบการไทยเพียงศึกษาข้อมูลของผู้บริโภคให้ละเอียดถ้วนถี่ เจาะลึกหา Consumer Insights เพื่อนำเสนอสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์สิ่งที่ผู้บริโภคกำลังมองหาได้อย่างถูกต้องและตรงจุด เชื่อมั่นว่ามีโอกาสอีกมากให้ขยายธุรกิจไปสู่ประเทศเมียนมาร์" นายสันติพงษ์กล่าวทิ้งท้าย