กรุงเทพฯ--4 ส.ค.--ซิโน - ไทย คอมมูนิเคชั่นส์ กรุ๊ป
ครอบครัวเป็นสถาบันพื้นฐานของสังคมที่เล็กที่สุด แต่มีความสำคัญมากที่สุด พ่อแม่มีหน้าที่ในการให้ความรัก อบรมเลี้ยงดูบุตรย่อมเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้น คนในครอบครัวจึงมีหน้าที่กำหนดขั้นตอนของการดำเนินชีวิตในสังคมให้เข้มแข็ง สังคมจึงจะน่าอยู่และมีคุณภาพ น.อ.หญิง รศ.ดร. ทิพยรัตน์ พัชรวรรัช นักจิตวิทยาเด็ก กล่าวว่า "จากละครดังเรื่องเด็กไม่เอาถ่าน เป็นละครเชิงสร้างสรรค์เหมาะกับคนในครอบครัวที่ตรงกับสังคมไทยเป็นอย่างยิ่งในปัจจุบันนี้ ละครเด็กไม่เอาถ่าน เน้นความสำคัญของพัฒนาการทางสังคมด้านคุณธรรมจริยธรรมของเด็กวัยระหว่าง 10-15 ปี ในขั้นที่ 3 ของทฤษฎีพัฒนาการทางจริยธรรมของ Kohlberg นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ที่ให้ความสำคัญต่อสัมพันธภาพระหว่างบุคคล ทั้งต่อบุคคลใกล้ชิดและบุคคลอื่น ทั้งวัยเดียวกันและต่างวัยกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ พ่อแม่ เวลาที่ให้ทำให้สัมพันธภาพใกล้ชิดอบอุ่น ได้เรียนรู้ตัวแบบและเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ"
"ในละครจะเห็นได้ว่า เน้นความสำคัญของพ่อแม่ที่ต้องเข้าใจพัฒนาการของเด็ก เลี้ยงลูกอย่างเข้าใจในพัฒนาการ ปัญหาของลูกบางอย่าง อาจเกิดจากการที่พ่อแม่ยังไม่เข้าใจถึงพัฒนาการของแต่ละวัย ดังนั้นเด็กจึงขาดจุดสำคัญเช่น ขาดแม่ไป เขาก็จะขาดคนรักดูแลขาดตัวแบบ พฤติกรรมที่เกิดย่อมสะท้อนถึงภาวะทางจิตใจ และพ่อมุ่งงานทดแทนความรักด้วยสิ่งของ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่เด็กต้องการ ย่อมไม่สามารถชดเชยกับสิ่งที่ขาดไปได้ ณดี ได้รับการปลูกฝังจากแม่ให้อยู่ได้ด้วยตนเองซึ่งต่างจากพ่อที่เน้นวัตถุนิยมทำให้เกิดความขัดแย้ง การรับรู้ของพ่อที่มีต่อ ณดี ว่าไม่เอาถ่านคือ ไม่เข้ากับแนวความคิดความคาดหวังของตน แต่ไม่ได้มองว่าความคิดจิตใจความต้องการของลูกทั้งสองคนต่างกันไป มองในมุมที่ดีของแต่ละคนและนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ (คิดทางบวก) ."
"ทางด้านคุณพ่อควรเข้าใจพัฒนาการของลูก เพื่อเลี้ยงดูให้เหมาะสม เช่น วัยเด็กตอนปลาย ทั้ง ณดา และ ณดี มีอายุอยู่ในช่วง 6-15 ปี วัยนี้จะคาบเกี่ยวกับระยะก่อนวัยรุ่น ลักษณะพัฒนาการสำคัญที่เกิดขึ้นในวัยนี้คือ "การเตรียมตัว" เพื่อเติบโตเป็นเด็กวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ที่พร้อมจะเผชิญและรับผิดชอบต่อตนเองในทุก ๆ ด้าน การใส่ใจในพัฒนาการที่ถูกต้องจะทำให้เกิดผลลัพธ์คือลูกทั้งสองเติบโตงดงามเต็มตามศักยภาพลักษณะของ ณดี การเก็บกดจากการที่แม่ตาย และต้องปรับตัวมาอยู่กับพ่อกับพี่ วัยนี้อารมณ์โกรธจะเก็บกดไม่แสดงออกแบบเด็กเล็กๆ เปลี่ยนเป็นการคิดแก้แค้นในใจแต่ไม่ทำจริงดังที่คิด หรือการหลีกเลี่ยงจากสถานการณ์ที่ไม่พึงใจในทันที ไม่มีพฤติกรรมแบบต่อสู้โดยใช้กำลัง ณดี ยังเป็นเด็กที่อายุน้อยเพียง 7 ปี ยังต้องการความรักมาก คนที่รักที่สุดจากไปเป็นสิ่งหนึ่งที่เด็กวัยนี้กลัวมาก นอกจากนั้น การที่ตนไม่เหมือนพ่อและพี่สาวที่ชอบวงการบันเทิง เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้กังวล กลัวไม่เป็นที่ยอมรับของกลุ่ม ทางด้านของ ณดา พี่สาวอายุ 12 ปี กำลังเข้าสู่วัยรุ่นตอน มีบุคลิกภาพร่าเริงสดใส จิตใจดี มั่นใจตัวเอง จะเป็นกาวใจให้กับครอบครัวที่สำคัญ เพราะเธอจะทำความเข้าใจกับน้องที่มีวัยไม่ห่างกันมากนักได้อย่างไม่ยาก และมองสิ่งนั้นเป็นความท้าทายซึ่งถือเป็นความคิดทางบวก การสร้างวิกฤตให้เป็นโอกาส ในการสร้างครอบครัวให้เป็นหนึ่งเดียว"
"สำหรับเรื่องของเล่น เน้นถึงการให้คุณค่าจากการได้มาของของเล่น เช่น การสร้างเองทำให้เกิดความภาคภูมิใจ สนุกสนาน ได้พัฒนาสมองการใช้กล้ามเนื้อมือ ได้ปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มที่ร่วมกันทำหรือเล่นร่วมกัน ปลูกฝังค่านิยมการผลิตมากว่าการเป็นผู้บริโภค"
น.อ.หญิง รศ.ดร. ทิพยรัตน์ พัชรวรรัช ยังกล่าวต่ออีกว่า "ละครเรื่องเด็กไม่เอาถ่านเรื่องนี้ เป็นการสร้างความสัมพันธ์ของครอบครัวที่อาจไม่สมบูรณ์ คือ ครอบครัวแตกแยก ขาดแม่ ลูกก็ยังเล็กทั้งสองคน แต่สามารถทำให้เกิดความสมบูรณ์ทางจิตใจ จากความเข้าใจของพ่อที่มีต่อพัฒนาการของลูก และความสัมพันธ์ของพี่น้องที่จะดูแลช่วยเหลือกัน อยากให้ทุกคนได้ชมละครเรื่องนี้ด้วยกัน"
สำหรับละครเด็กไม่เอาถ่านสามารถติดตามชมย้อนหลังได้ที่ http://program.thaipbs.or.th/watch/dUU222