กรุงเทพฯ--4 ส.ค.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลได้มีนโยบายในการสนับสนุนให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยได้มีโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบเพื่อการประกอบอาชีพ อีกทั้งยังมีนโยบายส่งเสริมการให้ความรู้ทางการเงิน(Financial Literacy) แก่ประชาชนระดับฐานรากให้มีความรู้ทางการเงิน สามารถพึ่งพาตนเองได้ และลดการพึ่งพาแหล่งเงินกู้นอกระบบ กระทรวงการคลังโดยธนาคารออมสินจึงได้เสนอมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยในชุมชนเมืองตามแนวทางประชารัฐ และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมาตรการดังกล่าว เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2559โดยประกอบด้วย 3 โครงการ สรุปได้ ดังนี้
1) มาตรการสินเชื่อประชารัฐเพื่อประชาชน โดยให้สินเชื่อผู้ประกอบอาชีพอิสระรายย่อยทั่วไป
เช่น พ่อค้า แม่ค้า ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง ผู้ให้บริการรถรับจ้างสาธารณะ กลุ่มแม่บ้านที่รวมตัวกันเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน หรือผู้รับจ้างให้บริการทั่วไป เป็นต้น รายละไม่เกิน 50,000 บาท เพื่อเป็นเงินทุน เป็นเงินทุนหมุนเวียน
ในการประกอบอาชีพ แก้ปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนในการดำรงชีพ และชำระหนี้สินอื่น ๆ รวมทั้งหนี้นอกระบบ ระยะเวลาชำระคืนเงินกู้ 5 ปี อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในปีที่ 1 ร้อยละ 0 ต่อเดือน และในปีที่ 2 - 5 ร้อยละ 1 ต่อเดือน
โดยเงื่อนไขนี้จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2559
2) มาตรการประชารัฐเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินประชาชนภายใต้นโยบายรัฐบาล เพื่อบรรเทา
ความเดือดร้อนแก่ลูกค้าของธนาคารออมสินที่ใช้บริการสินเชื่อและอยู่ในระหว่างการผ่อนชำระคืนที่มีความประสงค์จะขอพักชำระหนี้ชั่วคราวหรือขอขยายระยะเวลาชำระหนี้เพื่อลดภาระรายจ่าย โดยพักชำระเงินต้นและชำระเฉพาะดอกเบี้ยได้นานสูงสุดเป็นระยะเวลา 3 ปี ขยายระยะเวลาชำระหนี้เพิ่มได้เท่ากับระยะเวลาพักชำระเงินต้นหรือขยายเวลาการชำระหนี้ได้ 2 เท่าของระยะเวลาคงเหลือตามสัญญาเงินกู้ สูงสุดไม่เกิน 20 ปี ตามเงื่อนไขของสินเชื่อแต่ละประเภท ทั้งนี้ สามารถติดต่อขอเข้าร่วมมาตรการภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2559
3) โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาอาชีพและสร้างความรู้ทางการเงินแก่ผู้ประกอบอาชีพ
รายย่อยในชุมชนเมือง โดยจัดอบรมหลักสูตรการให้ความรู้ทางการเงินแก่บุคคลในครอบครัวของประชาชนฐานราก และการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อย ผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรือผู้ที่สนใจเข้ารับการอบรม จำนวน 150,000 ครอบครัว ครอบครัวละ 1 คน กระจายตามพื้นที่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยจะมีการจัดอบรมในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนธันวาคม 2559
นายกฤษฎาฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า "มาตรการให้ความช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยในชุมชนเมืองตามแนวทางประชารัฐจะช่วยให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบเพื่อการประกอบอาชีพ บรรเทาความเดือดร้อนภายในครอบครัว ลดปัญหาเงินกู้นอกระบบ ช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ให้อยู่ดีขึ้น นอกจากนี้ ยังช่วยให้ประชาชนในระดับฐานรากได้รับความรู้ทางการเงิน เห็นความสำคัญของการวางแผนทางการเงินของครอบครัว สามารถบริหารรายได้รายจ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีเงินออมเป็นหลักประกันทางการเงินของครอบครัว ลดการพึ่งพาแหล่งเงินกู้นอกระบบและลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม"