กรุงเทพฯ--4 ส.ค.--กรมสุขภาพจิต
นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงปัญหาการฆ่าตัวตายที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้ง ว่า เป็นเรื่องใกล้ตัว และมักมาจากอารมณ์ชั่ววูบ หุนหันพลันแล่น อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ทำร้ายตนเองหลายราย ก่อนตัดสินใจลงมือกระทำจะส่งสัญญาณเตือนบอกเหตุ ให้แก่ครอบครัว และบุคคลใกล้ชิดอยู่เสมอ แต่ผู้ที่ได้รับสัญญาณเตือนนั้น มักไม่เข้าใจ กลับมองว่าเป็นเรื่องปกติ เรียกร้องความสนใจ ทำให้ละเลย ไม่ใส่ใจ หรือ แม้จะสังเกตเห็น ก็ไม่กล้าพอ และขาดความรู้ที่จะเข้าไปช่วยเหลือ การทำความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว การมีความรู้เกี่ยวกับวิธีสังเกตสัญญาณเตือน และการให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้น จึงมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่ง หากยับยั้งให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤติ 24 ชั่วโมงไปได้ ความต้องการจะฆ่าตัวตายของบุคคลนั้นก็จะค่อยๆ ลดลง สำหรับ แนวทางป้องกัน ในระดับบุคคล โดยพื้นฐานหลักแล้ว คือ การมีวิธีจัดการกับความเครียดที่ดี เช่น การออกกำลังกายสม่ำเสมอ ยึดหลักศาสนาเป็นที่พึ่งทางจิตใจ เพื่อทำให้จิตใจสงบมากขึ้น รวมทั้ง การฝึกสติ ฝึกสมาธิ หาเพื่อนปรึกษา พูดคุยระบาย ช่วยกันคิดแก้ปัญหา ไม่เก็บปัญหาไว้คนเดียว ตลอดจนขอรับคำปรึกษาและความช่วยเหลือจากบุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น ในขณะที่ ครอบครัว ชุมชน และสังคม ก็ต้องดูแลเอาใจใส่กันและกัน ซึ่งผู้ที่อยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการทำร้ายตนเอง ได้แก่ ผู้ที่กำลังอยู่ในภาวะวิกฤติชีวิต ไม่สามารถปรับตัวต่อการแก้ไขปัญหาในชีวิตได้ มีอารมณ์หรือบุคลิกแบบหุนหันพลันแล่น ก้าวร้าวรุนแรง หรือ กำลังประสบกับความผิดหวัง ล้มเหลว สูญเสียคนรัก คนในครอบครัว เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง หรือ โรคจิตเวชบางชนิด เช่น โรคซึมเศร้า โรคจิต ทุกข์ทรมานจากการเจ็บป่วย ติดสุรา ยาเสพติด มีบุคคลในครอบครัว เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะ หากเคยมีประวัติทำร้ายตัวเอง หรือมีความพยายามฆ่าตัวตายมาก่อน จะต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ
ด้าน นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ หัวหน้ากลุ่มที่ปรึกษากรมสุขภาพจิตและโฆษกกระทรวงสาธารณสุขกล่าวเสริมว่า การฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตายด้วยอารมณ์ชั่ววูบ ในลักษณะหุนหันพลันแล่นเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาการฆ่าตัวตายอยู่แล้ว ซึ่งในจังหวะนั้น หากมีใครสามารถช่วยเหลือผู้ที่ตกอยู่ในภาวะวิกฤตนี้ได้ ด้วยการรับฟัง ให้ข้อคิด มีองค์ความรู้หรือทักษะในการสื่อสารเพื่อช่วยเปลี่ยนการตัดสินใจนั้นได้ ย่อมช่วยป้องกันและลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น การมีความรู้ในการช่วยเหลือเบื้องต้นผู้ที่เกิดวิกฤตสุขภาพจิต ย่อมช่วยชีวิตคนในยามฉุกเฉินได้ ซึ่งมีความสำคัญไม่ต่างกับการที่ต้องรู้ถึงวิธีการช่วยเหลือผู้ที่เกิดภาวะวิกฤตทางกาย เช่น พบคนจมน้ำ เรายังต้องรู้วิธีการปั๊มหัวใจ ดังนั้น กรณี การทำร้ายตนเอง เราจึงต้องเข้าใจก่อนว่า การแสดงออกถึงการจะทำร้ายตัวเองไม่ว่าจะด้วยคำพูดหรือพฤติกรรม เช่น การส่งข้อความ ภาพ คลิปวีดีโอ ข่มขู่ ตัดพ้อ หรือพูดจาสั่งเสียเป็นนัยๆ หรือการโพสต์ภาพวิธีที่จะใช้ฆ่าตัวตาย ถือเป็นสัญญาณเตือนที่สำคัญที่สุดที่จะเกิดการทำร้ายตนเองจริงได้ อย่ามองว่าเป็นการเรียกร้องความสนใจ ไร้สาระ หรือล้อเล่น แต่มัน คือ call for help ที่เขาพยายามร้องขอความช่วยเหลือ เป็นเรื่องฉุกเฉิน ที่ต้องดำเนินการช่วยเหลือทันที และการช่วยเหลือที่ดีที่สุด คือ การทำให้เขาตั้งสติให้ได้ เพราะภาวะที่เกิดขึ้นเป็นภาวะที่ขาดสติ เป็นภาวะฉุกเฉินที่เกิดขึ้นมาแบบควบคุมตนเองไม่ได้ หากเราไม่สามารถช่วยเหลือหรือจัดการสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ด้วยตนเอง อาจช่วยได้โดยการเชื่อมต่อหาคนพูดคุยด้วย เช่น คนที่เขารัก ไว้ใจ หรือใกล้ชิดที่สุด เพื่อช่วยดึงสติเขากลับมา หรือขอความช่วยเหลือจากสายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือ โทร 191 หรือสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด เพื่อให้เขาเข้าสู่ระบบการช่วยเหลือโดยเร็ว