CMMU ชี้ทางออก 3 GEN ธุรกิจไทย ต้องพร้อมรับมือภาวการณ์โลกแห่งนวัตกรรมเทคโนโลยี

ข่าวทั่วไป Thursday August 4, 2016 13:40 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 ส.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) เผยแนวทางการดำเนินธุรกิจของ 3ประเภทธุรกิจตามวิวัฒนาการของธุรกิจไทยเพื่อรับมือภาวการณ์โลกแห่งนวัตกรรมเทคโนโลยี ได้แก่ กลุ่มผู้ประกอบการรุ่นแรกในยุคแฟมิลี่บิสซิเนส (Family Business) กลุ่มผู้ประกอบการยุคเอสเอ็มอี (SMEs) จนมาถึงกลุ่มผู้ประกอบการล่าสุดในยุคสตาร์ทอัพ (StartUp) โดยทั้ง 3 กลุ่มธุรกิจต้องปรับตัว อาทิ ต้องให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการ ต้องคิดค้นสินค้าและบริการที่แปลกใหม่ ต้องพัฒนาแนวคิดให้เกิดขึ้นจริงได้ ฯลฯ อย่างไรก็ตามปัจจุบัน วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดสอนปริญญาโทและปริญญาเอกด้านการบริหารจัดการทั้งหมด 15 สาขา พร้อมมุ่งเน้นพัฒนาผู้ประกอบการทุกรูปแบบธุรกิจผ่านการกระจายความรู้ด้านการบริหารจัดการธุรกิจด้วยการเรียนการสอนที่เน้นภาคปฏิบัติและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริง สำหรับผู้ที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) โทรศัพท์ 02-206-2000 หรือเข้าไปที่ ดร. ภูมิพร ธรรมสถิตย์เดช ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) และผู้อำนวยการศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า รูปแบบการทำธุรกิจถูกพัฒนาปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย และปัจจัยแวดล้อมอื่นๆในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน เช่น เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ถูกพัฒนาเพื่ออำนวยความสะดวกการใช้ชีวิตประจำวัน โดยภายในช่วงเวลาประมาณ 100 ปี รูปแบบธุรกิจได้เปลี่ยนไปตลอดเวลา และอาจแบ่งเป็น 3 ยุคใหญ่ๆ คือ ยุคแฟมิลี่บิสซิเนส ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจ ยุคเอสเอ็มอี ที่อุตสาหกรรมได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในภาคการผลิตและบริการ และยุคสตาร์ทอัพ ที่เทคโนโลยีกลายเป็นตัววัดผลที่สำคัญที่สุดในการแข่งขันในตลาด โดยรูปแบบธุรกิจในแต่ละยุคมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ - แฟมิลี่บิสซิเนส (Family Business) รูปแบบธุรกิจที่เก่าแก่ที่สุดและมีความซับซ้อนน้อยที่สุด มีทิศทางการดำเนินงานขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคนในครอบครัว เป็นกิจการแบบส่งต่อรุ่นต่อรุ่น บริหารงานแบบเรียบง่ายไม่ได้มีระบบที่ซับซ้อน สามารถตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว โดยแฟมิลี่บิสซิเนสเริ่มต้นในประเทศไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เปิดประเทศ และเกิดการค้าขายแบบ "ซื้อมา – ขายไป" การเป็นนายหน้าขายสินค้า และต่อมามีธุรกิจประเภทบริการเพิ่มเติมเข้ามาตามลำดับ - เอสเอ็มอี (SMEs) รูปแบบธุรกิจแบบ "ซื้อมาเพื่อทำการผลิต แล้วจึงจำหน่าย" โดยตัวแปรสำคัญที่ทำให้ธุรกิจประเภทเอสเอ็มอีมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นคือ การพัฒนาของอุตสาหกรรมและเครื่องจักรต่างๆ โดยในประเทศไทย เอสเอ็มอี ได้เริ่มมีบทบาทในภาคเศรษฐกิจมากขึ้นตั้งแต่ช่วง พ.ศ. 2530 ที่ต่างประเทศได้เข้ามาลงทุนกับภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้อุตสาหกรรมการผลิตและบริการได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งในปัจจุบันที่มีธุรกิจเอสเอ็มอีกว่า 200,000 รายทั่วประเทศ - สตาร์ทอัพ (StartUp) รูปแบบธุรกิจเกิดใหม่ที่มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นส่วนประกอบหลักของสินค้าและบริการ เป็นธุรกิจที่เริ่มต้นได้ง่ายเพราะใช้ต้นทุนต่ำ ใช้จุดเด่นในด้านความคิดสร้างสรรค์เป็นจุดขายเพื่อดึงดูดให้นักลงทุนมาร่วมลงทุนด้วย ธุรกิจสตาร์ทอัพจึงสามารถเติบโตได้แบบก้าวกระโดด และสร้างมูลค่าได้สูงด้วยการใช้ต้นทุนเริ่มต้นต่ำ สตาร์ทอัพเข้ามามีบทบาทในประเทศไทยตั้งแต่ช่วง พ.ศ. 2555 และในปัจจุบันมีจำนวนธุรกิจสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จอยู่ประมาณ 500 – 1,000 ราย เนื่องจากโอกาสประสบความสำเร็จของสตาร์ทอัพที่จะได้รับการลงทุนมีเพียงไม่ถึง 10เปอร์เซ็นต์ ดร. ภูมิพร กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากรูปแบบธุรกิจในแต่ละยุคมีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก ทำให้ธุรกิจแต่ละรูปแบบเจอปัญหาและอุปสรรคที่แตกต่างกันออกไป โดยสำหรับแฟมิลี่บิสซิเนสนั้น อุปสรรคที่สำคัญที่สุดคือ "ปัจจัยภายใน" ที่อาจทำให้แฟมิลี่บิสซิเนสไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรในยุคปัจจุบัน เพราะตลาดในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลง และสถานการณ์ของคู่แข่งที่รุนแรงและเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับการพัฒนาธุรกิจในปัจจุบันมักมีเรื่องของนวัตกรรม และเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง อันอาจนำไปสู่ความคิดเห็นที่ขัดแย้งกันระหว่างผู้ทำธุรกิจรุ่นก่อน และผู้สืบทอดธุรกิจ การบริหารจัดการความสำคัญภายใน จึงเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาธุรกิจแฟมิลี่บิสซิเนสอย่างมั่นคง โดยทางฝั่งผู้ทำธุรกิจรุ่นก่อนที่เป็นผู้ใหญ่อาจต้องเปิดรับนวัตกรรม เทคโนโลยี และแนวคิดของคนรุ่นใหม่เพื่อปรับเปลี่ยนตัวธุรกิจให้มีสีสัน เข้ากับยุคสมัย และทางด้านทายาทรุ่นใหม่ที่สืบทอดก็ต้องพยายามสร้างความเข้าใจ ในเรื่องแนวคิดต่างๆ และชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆในการแข่งขันกับคู่แข่งในตลาด ทางด้านเอสเอ็มอี ความชะล่าใจ คือ อุปสรรคที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทุกคนต้องพึงระวัง เพราะในภาวการณ์แข่งขันสูงของตลาดปัจจุบัน และการได้รับความนิยมของสตาร์ทอัพ ที่หมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตประจำวันของผู้บริโภค ฉะนั้นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องหยุดชะล่าใจและหันมาคิดค้นสินค้าและบริการที่แปลกใหม่ พร้อมกับมองหานวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้กับธุรกิจให้มีสีสันอยู่ตลอด ในขณะเดียวกัน อุปสรรคที่สำคัญของเหล่าสตาร์ทอัพ คือ การพัฒนาแนวคิดให้เกิดขึ้น และตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างตรงความต้องการ พร้อมกับสามารถประยุกต์เข้าการทำธุรกิจ (Commercialization) ได้อย่างประสบความสำเร็จ โดยการมองหาความต้องการของตลาด (Pain Point) ที่ยังขาดการตอบสนองได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เป็นตัวชี้วัดสำคัญในการดึงดูดความสนใจของผู้บริโภค ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการต้องคิดค้นหาวิธีการทำซ้ำ (Repeat) และปรับเปลี่ยนขนาด (Scale) ที่มีประสิทธิภาพเพื่อส่งเสริมด้านการประกอบการด้วย ดร.ภูมิพร กล่าวต่อ อย่างไรก็ตามจะเห็นได้ว่า ธุรกิจทั้ง 3 ประเภทต้องให้ความสำคัญกับภาวการณ์โลกแห่งนวัตกรรมเทคโนโลยี คือต้องพร้อมที่จะปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยตลอด เปิดรับแนวคิดใหม่ๆ นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาตัวผลิตภัณฑ์หรือบริการให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างเต็มประสิทธิภาพเพื่อแข่งขันกับคู่แข่งมากมายในตลาด เพราะด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้คนสามารถเริ่มต้นธุรกิจได้อย่างสะดวก เพียงวิเคราะห์หาแนวคิดสินค้าหรือบริการที่แปลกใหม่และตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายได้ จากนั้นคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ทที่กลายเป็นช่องทางในการกระจายแนวคิดดังกล่าวไปสู่ทั่วโลกได้แบบเรียลไทม์ (Real Time) ก็อาจทำให้เกิดความสำเร็จเพียงข้ามคืน ซึ่งแตกต่างกับการทำธุรกิจในอดีตโดยสิ้นเชิง ดร.ภูมิพร กล่าวทิ้งท้าย รศ.ดร. อรรณพ ตันละมัย คณบดีวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) กล่าวว่า วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล มุ่งมั่นในการพัฒนาผู้ประกอบการทุกรูปแบบธุรกิจผ่านการกระจายความรู้ด้านการบริหารจัดการธุรกิจด้วยการเรียนการสอนที่เน้นปฏิบัติ (Practical Learning) และเน้นการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริง (Problem Based Learning) เพื่อนำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์และมุมมองใหม่ๆ อันเป็นบ่อเกิดของความรู้ที่สามารถนำไปต่อยอดได้จริง ประกอบกับหลักสูตรที่ออกแบบมาเพื่อรองรับผู้ประกอบการทุกประเภท กว่า 15 สาขา อาทิ สาขาผู้ประกอบการและนวัตกรรม สาขาการตลาด และสาขาการจัดการองค์กร ทั้งนี้ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ยังเป็นแหล่งรวมเครือข่ายทางธุรกิจ กลุ่มเจ้าของธุรกิจ ซึ่งจากสถิติจากจำนวนนักศึกษาที่จบจำนวนกว่า 4,000 ราย ส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มผู้ประกอบการ ทายาทธุรกิจ ซึ่งจะสามารถทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้แนวความคิดด้านธุรกิจและสามารถนำไปใช้ต่อยอดจริงในโลกธุรกิจ สำหรับผู้ที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) โทรศัพท์ 02-206-2000 หรือเข้าไปที่www.cmmu.mahidol.ac.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ