กรุงเทพฯ--4 ส.ค.--สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม
ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส ,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ และอาจารย์วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (ระดับอุดมศึกษา) แถลงผลการสำรวจพฤติกรรมและความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อการลงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 22 ถึง 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,172 คน โดยเปรียบเทียบกับผลการสำรวจระหว่างวันที่ 2 ถึง 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2559
ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวว่า วันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2559 นี้ถูกกำหนดให้เป็นวันลงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญรวมถึงคำถามพ่วงประชามติเกี่ยวกับการให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภาลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี แต่จากผลการสำรวจระหว่างวันที่ 2 ถึง 7 กรกฎาคมที่ผ่านมาพบว่ามีกลุ่มตัวอย่างมากกว่าร้อยละ 60 ที่ยังไม่ได้มีโอกาสอ่านร่างรัฐธรรมนูญเลยและมีมากกว่าหนึ่งในสี่ที่ยังไม่แน่ใจว่าจะออกไปลงประชามติหรือไม่ ขณะเดียวกันหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องได้เพิ่มการประชาสัมพันธ์สร้างความรับรู้และความเข้าใจให้กับประชาชนเกี่ยวกับเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญผ่านช่องทางต่างๆมากขึ้น และมีการรณรงค์ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิ์ลงประชามติ ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างความตื่นตัวให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของรัฐธรรมนูญและสิทธิในการไปลงประชามติของตน นอกจากนี้ยังมีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญส่งไปตามครัวเรือนให้ประชาชนได้อ่าน แต่อย่างไรก็ตามยังมีครัวเรือนอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญและประชาชนอีกจำนวนหนึ่งที่ยังไม่แน่ใจว่าจะออกไปลงประชามติหรือไม่ ดังนั้น สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจพฤติกรรมและความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อการลงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญเพื่อเปรียบเทียบกับการสำรวจในวันที่ 2 ถึง 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2559
ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวต่อว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดซึ่งมีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป โดยเป็นเพศหญิงร้อยละ 50.68 และเพศชายร้อยละ 49.32 สามารถสรุปผลได้ดังนี้
ในด้านความรับรู้เกี่ยวกับวันลงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 72.95 ทราบว่าจะมีการลงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญวันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2559 นี้ โดยเพิ่มขึ้นจากการสำรวจระหว่างวันที่ 2 ถึง 7 กรกฎาคมที่ผ่านมาซึ่งมีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 65.82 ที่ทราบ ขณะที่มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 27.05 ยังไม่ทราบ ดังได้แสดงไว้ในตารางที่ 1
ในด้านพฤติกรรมและความคิดเห็นต่อการลงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญซึ่งสรุปไว้ในตารางที่ 2 นั้น กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 55.38 ยอมรับว่าตนเองยังไม่ได้มีโอกาสอ่านร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังจะมีการลงประชามติเลย โดยลดลงจากการสำรวจเมื่อวันที่ 2 ถึง 7 กรกฎาคมซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 61.3 แต่อย่างไรก็ตามมีกลุ่มตัวอย่างประมาณหนึ่งในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 33.87 ที่ระบุว่าตนเองได้อ่านเป็นบางส่วนแล้ว โดยเพิ่มขึ้นจากการสำรวจเมื่อวันที่ 2 ถึง 7 กรกฎาคมซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 28.54 ขณะที่จำนวนกลุ่มตัวอย่างที่ได้อ่านทั้งฉบับแล้วมีเพียงร้อยละ 10.75 โดยเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับการสำรวจเมื่อวันที่ 2 ถึง 7 กรกฎาคมซึ่งมีร้อยละ 10.16 นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 59.81 ระบุว่าตนเองตั้งใจจะออกไปใช้สิทธิ์ลงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ โดยเพิ่มขึ้นจากการสำรวจระหว่างวันที่ 2 ถึง 7 กรกฎาคมซึ่งมีร้อยละ 56.05 ขณะที่มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 21.59 ระบุว่าตนเองตั้งใจจะไม่ออกไปใช้สิทธิ์ลงประชามติซึ่งเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 16.77 ในการสำรวจระหว่างวันที่ 2 ถึง 7 กรกฎาคม อย่างไรก็ตามมีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 18.6 ที่ยังไม่แน่ใจ โดยลดลงจากการสำรวจระหว่างวันที่ 2 ถึง 7 กรกฎาคมซึ่งมีอยู่ที่ร้อยละ 27.18
ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 52.56 มีความคิดเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านการลงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม โดยเพิ่มขึ้นจากการสำรวจเมื่อวันที่ 2 ถึง 7 กรกฎาคมซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 50.8 แต่อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 24.32 ไม่แน่ใจซึ่งลดลงจากร้อยละ 25.83 ในการสำรวจระหว่างวันที่ 2 ถึง 7 กรกฎาคม ขณะที่มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 23.12 ที่คิดว่าไม่ผ่าน โดยลดลงเพียงเล็กน้อยจากการสำรวจระหว่างวันที่ 2 ถึง 7 กรกฎาคมซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 23.37 และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 53.84 มีความคิดเห็นว่าควรให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มีสิทธิ์ลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีในช่วง 5ปีแรกหลังการเลือกตั้งครั้งแรก ซึ่งเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 52.33 ในการสำรวจระหว่างวันที่ 2 ถึง 7 กรกฎาคม ขณะที่มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 24.66 ที่ไม่แน่ใจ โดยลดลงจากการสำรวจเมื่อวันที่ 2 ถึง 7 กรกฎาคมซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 26.84 อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 21.5 มีความคิดเห็นว่าไม่ควร โดยเพิ่มขึ้นจากการสำรวจระหว่างวันที่ 2 ถึง 7 กรกฎาคมซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 20.83 ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าว