กรุงเทพฯ--4 ส.ค.--หอการค้าไทย ฝ่ายสื่อสารองค์กร
นายกลินท์ สารสิน รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า จากการประชุมกับหอการค้าจังหวัดจากภาคต่างๆ ยืนยันว่าสถานการณ์ท่องเที่ยวไทยยังคงไปได้ดี ทั้งในส่วนของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามายังไทย และนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ ทั้งนี้สถานการณ์ท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น มาจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในหลายประเทศ รวมถึงภาวะเศรษฐกิจไทยที่เริ่มส่งสัญญาณบวก รวมถึงการกระตุ้นตลาดอย่างต่อเนื่องจากทุกภาคส่วน อย่างไรก็ดี แม้การท่องเที่ยวจะยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง แต่เป้าหมายที่แท้จริงที่ต้องการเห็นก็คือ "การที่ประเทศไทย เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ (Quality Leisure Destination) และการท่องเที่ยวไทย ช่วยกระจายรายได้ไปยังภาคส่วนอื่น และเติบโตได้อย่างยั่งยืน"
นายกลินท์กล่าวว่า หอการค้าไทย ยังคงขับเคลื่อนและยกระดับธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ ให้สอดรับกับนโยบายการท่องเที่ยวไทยที่เน้นคุณภาพ เพื่อให้สามารถเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ผ่านการพัฒนา 2 ส่วน
ที่สำคัญ คือ 1) การพัฒนาคุณภาพของผู้ประกอบการ ซึ่งผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญกับมาตรฐานต่างๆ
ที่เกี่ยวข้อง ทั้งมาตรฐานร้านค้า มาตรฐานการให้บริการ มาตรฐานด้านอาหารและสุขลักษณะ มาตรฐานอาคารสถานที่ และมาตรฐานความปลอดภัย (Standard – Safety – Security - Hygiene) โดยหอการค้าไทยได้ดำเนินการจัดสัมมนาและฝึกอบรมเพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจกับผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว ทั้งในเรื่องมาตรฐาน
และความปลอดภัย รวมถึงการอบรมและพัฒนาผู้ประกอบการด้านการบริหารงาน อาทิ การจัดทำบัญชี การวางแผนธุรกิจ เป็นต้น
ส่วนสำคัญที่ 2) การพัฒนาคุณภาพของแรงงาน ถือเป็นส่วนที่มีความสำคัญมาก เนื่องจากทรัพยากรบุคคลมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต่อการเติบโตของธุรกิจ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวเป็นภาคธุรกิจบริการที่ต้องใช้แรงงานที่มีฝีมือจำนวนมาก บุคลากรต้องมีคุณภาพ มีความรู้ ความสามารถ และทันต่อสถานการณ์การเปลี่ยนในปัจจุบัน ทั้งนี้ หอการค้าไทยได้มีความร่วมมือในโครงการพัฒนาบุคลากร ด้านการท่องเที่ยวและบริการ ผ่าน "โครงการสหกิจศึกษา" โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และภาคเอกชนต่างๆ ได้แก่ สมาคมโรงแรมไทย สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว โรงแรมในเครือดุสิตธานี โรงแรมในเครือ ดิ เอราวัณ กรุ๊ป โรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทารา โรงแรมในเครือสยามแอ็ทสยาม ดีไซด์ โฮเต็ล แอนด์ สปา โรงแรมรีเจ้นท์ ชะอำ บีช รีสอร์ท และ โรงแรมเอเชีย
"โครงการพัฒนาบุคลากรนี้ จะช่วยให้นักศึกษามีโอกาสในการเข้าปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการชั้นนำ ทั้งในรูปแบบของการฝึกงาน หรือการเข้าศึกษาในหลักสูตรที่นับรวมการปฏิบัติงานเป็นส่วนหนึ่งของการสำเร็จการศึกษาระดับปริญญา ซึ่งจะทำให้นักศึกษามีความพร้อม ทั้งทางด้านคุณวุฒิและวัยวุฒิ มีศักยภาพจากการเรียนรู้และประสบการณ์ในการปฏิบัติงานอย่างเต็มที่ ภายใต้ความร่วมมือการดูแลระหว่างสถานประกอบการและมหาวิทยาลัย ทำให้นักศึกษามีคุณภาพและคุณสมบัติ พร้อมที่จะปฏิบัติงานในสถานประกอบการอย่างมีประสิทธิภาพ" นายกลินท์กล่าว
นอกเหนือจากการสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นภายในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแล้ว การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน นับเป็นส่วนสำคัญที่จะส่งเสริมให้เศรษฐกิจและสังคมเติบโตได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง จึงสามารถช่วยสร้างรายได้ให้กับภาคส่วนอื่น ๆ เช่น ภาคเกษตร หรือพื้นที่ต่างจังหวัด โดยจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมให้เศรษฐกิจและสังคมเติบโตได้อย่างยั่งยืน
สำหรับโครงการด้านการท่องเที่ยวเพื่อช่วยการกระจายรายได้ที่สำคัญโครงการหนึ่ง ที่หอการค้าไทยได้ดำเนินการร่วมกับคณะทำงานสานพลังประชารัฐ คือ โครงการ Amazing Thai Taste ซึ่งเป็นโครงการที่ภาคเอกชนร่วมกับภาครัฐและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันโปรโมทและส่งเสริมการบริโภคอาหารไทย ข้าวไทย และผลไม้ไทย ใน ทุก Touch Points ใน Tourism Value Chain โดยทุกภาคส่วนดำเนินการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนในทิศทางเดียวกัน เป็น Single Message เพื่อให้เกิด Impact
จนถึงปัจจุบัน หลากหลายหน่วยงานได้ดำเนินการโปรโมทโครงการ Amazing Thai Taste ผ่านช่องทางต่างๆ แล้ว อาทิ สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA), สมาคมภัตตาคารไทย, สมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทย, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, Bangkok Airways, Thai Airways, Thai Smile, BTS, ตลาดไอยรา, ตลาดไท, สมาคมศูนย์การค้าไทย, S&P, patara เป็นต้น
ทั้งนี้ คุณฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย และ คุณวรรณา สุทัศน์ ณ อยุธยา สมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทย ได้อธิบายเพิ่มเติมถึงการดำเนินการตามโครงการ Amazing Thai Taste ของสมาคมภัตตาคารไทยและสมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทย ซึ่งจะเห็นได้อย่างชัดเจนถึงบทบาทของทุกภาคส่วน ในการช่วยสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจและสังคม จากการเข้าร่วมโครงการฯ กล่าวคือ ภาคท่องเที่ยวช่วยส่งเสริมทำให้เกิดการกระจายรายได้สู่ภาคเกษตร ช่วยกระตุ้นการบริโภค อาหารไทย ข้าวไทย และผลไม้ไทย ในแต่ละท้องถิ่น ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น รวมถึงการใช้นวัตกรรมหรือการออกแบบบรรจุภัณฑ์มาช่วยให้ดูดีและเก็บได้นาน ประกอบกับการสร้าง Brand ของอาหารไทย ข้าวไทย และผลไม้ไทย ให้เป็น Premium Product ช่วยเพิ่มมูลค่าและสร้างความแตกต่างให้กับผลิตผลของประเทศไทย เพื่อการเติบโตได้อย่างยั่งยืนในอนาคต