กรุงเทพฯ--5 ส.ค.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
กรมสรรพสามิตมุ่งมั่นพัฒนาองค์กรสู่ความเป็นเลิศด้วยการนำเกณฑ์การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (PMQA) มาใช้ จนได้รับรางวัลจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบบริหาร (ก.พ.ร.) จำนวน 4 รางวัล (ตั้งแต่ปี 2555-2558) และล่าสุดปี 2559 ได้รับรางวัลดีเด่น "ด้านการนำองค์การและความรับผิดชอบต่อสังคม" (หมวด 1) หวังตอบสนองความพึงพอใจสูงสุดของผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้เสีย
นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า กรมสรรพสามิตได้ส่งเสริมและดำเนินการพัฒนาองค์กรตามเกณฑ์คุณภาพ PMQA มาตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อปรับปรุงการบริหารจัดการองค์กรและยกระดับคุณภาพมาตรฐานการทำงานไปสู่มาตรฐานสากล ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวต้องอาศัยการสังเคราะห์ ประกอบกับการมองภาพรวมให้มีความสอดคล้องในแนวทางการบูรณาการร่วมกัน โดยเชื่อมโยงการดำเนินการระหว่างข้อกำหนดต่างๆ ในหมวดทั้งหมด 7 หมวด ประกอบด้วย
หมวด 1 : การนำองค์กร
หมวด 2 : การวางแผนเชิงยุทธศาสตร์
หมวด 3 : การให้ความสำคัญกับผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
หมวด 4 : การวัด วิเคราะห์และการจัดการความรู้
หมวด 5 : การมุ่งเน้นบุคลากร
หมวด 6 : การมุ่งเน้นระบบปฏิบัติการ
หมวด 7 : ผลลัพธ์การดำเนินการ
อธิบดีกรมสรรพสามิตกล่าวต่อว่า ตั้งแต่ปี 2549-2554 กรมสรรพสามิตได้ดำเนินการตามเกณฑ์ ได้ครบทุกหมวดตามแนวทางที่สำนักงาน ก.พ.ร. กำหนด ในปี 2555 กรมสรรพสามิตจึงได้ผ่านการประเมินการรับรองตามเกณฑ์PMQA ระดับพื้นฐาน (Fundamental Level : FL) ซึ่งประเมินโดยสำนักงาน ก.พ.ร. ในระดับคะแนนประเมินเฉลี่ย 96.75 (คะแนนเต็ม 100) และในปีเดียวกันสำนักงาน ก.พ.ร. ได้เชิญชวนให้กรมสรรพสามิตสมัครขอรับบริการคุณภาพการจัดการภาครัฐรายหมวด กรมสรรพสามิตจึงได้พิจารณาส่งผลการดำเนินงานของหมวด 6 เพื่อขอรับรางวัลดังกล่าว ปรากฏว่ากรมสรรพสามิตผ่านการพิจารณาและได้รับรางวัล ซึ่งถือเป็นรางวัล PMQA รายหมวดรางวัลแรกที่ได้รับและเป็นปีแรกที่สำนักงาน ก.พ.ร. ได้มีการมอบรางวัล PMQA ให้กับส่วนราชการ หลังจากนั้นในปีต่อๆ มากรมสรรพสามิตได้ส่งผลงานขอรับรางวัล PMQA รายหมวดต่อเนื่องตลอด 4 ปีที่ผ่านมา โดยกรมสรรพสามิตได้รับรางวัลแล้ว รวมจำนวนทั้งสิ้น 4 รางวัล จาก 4 หมวดตามลำดับ ดังนี้
1. รางวัลดีเด่น "ด้านกระบวนการคุณภาพและนวัตกรรม" จากผลการดำเนินของงานหมวด 6
2. รางวัลดีเด่น "ด้านการวางแผนยุทธศาสตร์และการสื่อสารเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ" จากผลการดำเนินของงานหมวด 2
3. รางวัลดีเด่น "ด้านการวิเคราะห์ผลการดำเนินงานขององค์กร และการจัดการความรู้" จากผลการดำเนินของงานหมวด 4
4. รางวัลดีเด่น "ด้านการมุ่งเน้นผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย" จากผลการดำเนินของงานหมวด 3
และล่าสุดในปี 2559 ได้รับรางวัลดีเด่น "ด้านการนำองค์การและความรับผิดชอบต่อสังคม" จากผลการดำเนินงานของหมวด 1 ดังนั้น การพัฒนาองค์กรโดยใช้เกณฑ์ PMQA เป็นแนวทางการดำเนินงาน ส่งผลให้กรมสรรพสามิตเป็นหน่วยงานลำดับที่ 1 ทั้งในระดับประเทศและระดับกระทรวงการคลังที่ได้รับรางวัลจาก 5 หมวด
อธิบดีกรมสรรพสามิตกล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับประโยชน์ที่กรมสรรพสามิตได้รับจากการพัฒนาองค์กรตามเกณฑ์ PMQA ได้แก่
1. บุคลากร มีการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดและวิธีการทำงานที่เป็นระบบ โดยมีการวางแผน มีการนำไปปฏิบัติ มีการประเมินผลและนำข้อมูลมาปรับปรุงทำให้เกิดการเรียนรู้ใหม่ๆ และมีการขยายผลการบูรณาการเชื่อมโยงกัน
2. ผู้บริหาร จะทราบจุดอ่อนที่ควรปรับปรุงเนื่องจาก PMQA เป็นเครื่องมือในการตรวจสุขภาพขององค์กร
3. ประชาชน ผู้รับบริการและมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้รับบริการที่ดีขึ้นอันเนื่องมาจากการพัฒนาปรับปรุงในด้านต่างๆ เช่น การปรับปรุงกระบวนการทำงาน การปรับปรุงการให้บริการ การจัดทำมาตรฐานการให้บริการ การจัดทำคู่มือสำหรับเจ้าหน้าที่และคู่มือการให้บริการ การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมทั้งการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ทำให้การส่งมอบผลผลิตและบริการที่ดีมีคุณภาพ ตรงตามความต้องการของประชาชนผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
4. กรมสรรพสามิตมีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น ได้รับความเชื่อมั่นศรัทธาจากผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ ส่วนเสีย