กรุงเทพฯ--5 ส.ค.--สำนักงาน ป.ป.ช.
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นแก่บริษัทจำกัดและนิติบุคคลภายใต้กำกับดูแล เพื่อระดมความคิดเห็นภายใต้หัวข้อ "แนวทางการกำหนดมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสม สำหรับนิติบุคคลในการป้องกันการให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐ ตามมาตรา 123/5" ระหว่างวันที่ 3 – 4 สิงหาคม 2559 ณ สำนักงาน กลต. โดยมีผู้แทนนิติบุคคลกว่า 200 คนเข้าร่วม ทั้งบริษัทจดทะเบียน บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย และสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย ทั้งนี้สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ส่งวิทยากรบรรยายเพื่อให้ภาคเอกชนได้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมงาน อันจะนำไปสู่การขับเคลื่อนการต่อต้านการทุจริตการให้สินบนโดยภาคเอกชนที่มีประสิทธิภาพต่อไป
สืบเนื่องจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต(ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 ได้มีกำหนดความรับผิดสำหรับนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐ เจ้าหน้าที่รัฐต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ ไว้ในมาตรา 123/5 โดยกฎหมายใหม่ได้มีการกำหนดโทษปรับที่มีมูลค่าสูง เพื่อให้รัฐได้รับการเยียวยาความเสียหาย เพื่อเอาประโยชน์ที่นิติบุคคลได้ไปโดย มิควรได้คืน และเพื่อเป็นการป้องปรามการกระทำความผิด ทั้งนี้ หลักการดังกล่าวได้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ. 2003 (United Nations Convention against Corruption: UNCAC) และอนุสัญญาขององค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจว่าด้วยการให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศในการทำธุรกรรมทางธุรกิจระหว่างประเทศ ค.ศ. 1997 (OECD Convention on Combating Foreign Bribery in International Business Transaction) ซึ่งให้ความสำคัญกับการเอาผิด ฝั่งผู้ให้สินบน เพื่อส่งเสริมให้ภาคเอกชนประกอบธุรกิจอย่างโปร่งใส และมีการแข่งขันอย่างเท่าเทียม อันจะส่งผลดีต่อสภาพเศรษฐกิจสังคมโดยรวมทั้งในระดับประเทศและในระดับโลก
ประกอบกับเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา สำนักงาน ป.ป.ช. ได้จัดเสวนา "มาตรการภาคธุรกิจ ต้านทุจริตการติดสินบน" เพื่อมุ่งสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ มาตรา 123/5 เกี่ยวกับการกำหนดความรับผิดของนิติบุคคล กรณีการให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หากไม่มีมาตรการควบคุมภายใน ที่เหมาะสม ตลอดจนกระตุ้นให้ภาคเอกชนร่วมระดมความเห็นต่อร่างคู่มือของสำนักงาน ป.ป.ช. ที่จะเป็นแนวทางให้กับนิติบุคคลในการกำหนดมาตรการควบคุมภายในเพื่อป้องกันการให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งสำนักงานป.ป.ช. จะนำความเห็นไปประกอบการปรับปรุงร่างคู่มือก่อนประกาศใช้จริงต่อไป ยังผลให้ภาคเอกชนมีความตื่นตัวกันอย่างมาก โดยเฉพาะการกำหนดมาตรการควบคุมภายในของตนให้สอดคล้องกับกฎหมายใหม่นี้ ซึ่งการมีมาตรการ ที่เหมาะสมนั้นจะส่งผลดีหลายประการ โดยนอกจากนิติบุคคลจะใช้เป็นข้อต่อสู้ได้ในกรณีที่เกิดเป็นคดีความการให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐแล้ว เหนือสิ่งอื่นใดคือเป็นการสร้างความโปร่งใสให้กับการทำธุรกิจของนิติบุคคลเอง อันจะเป็นการลดต้นทุนและส่งผลดีโดยรวมต่อการทำธุรกิจที่ยั่งยืน ซึ่งขณะนี้ทาง ป.ป.ช. อยู่ระหว่างการดำเนินการพัฒนาร่างคู่มือแนวทางการกำหนดมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสมเพื่อป้องกันการให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งคาดว่า จะแล้วเสร็จปลายปีนี้