กรุงเทพฯ--5 ส.ค.--outdoor pr
การเคหะแห่งชาติ เผยถึงความสำเร็จจัดต่อเนื่องปีที่ 7 "โครงการประกวดชุมชนสดใส จิตใจงดงาม" ประจำปี 2559 พร้อมจัดบรรยายพิเศษ "โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) " ให้ความรู้ถ่ายทอดสู่ชุมชนร่วมอนุรักษ์ ผล 2 โครงการคว้ารางวัลชนะเลิศ "บ้านเอื้ออาทรระยอง (วังหว้า)" ประเภทอาคารแนวราบ และ "บ้านเอื้ออาทรลาดกระบัง" ประเภทอาคารแนวสูง เป็นแบบอย่างชุมชนเข้มแข็ง
นายชวนินทร์ พรหมรัตนพงษ์ รองผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ ประธานในพิธีมอบรางวัลโครงการประกวดชุมชนสดใส จิตใจงดงาม ประจำปี 2559 กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 43 ปีที่ผ่านมา นอกจากภารกิจในการสร้างที่อยู่อาศัยแล้ว การเคหะแห่งชาติยังมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพการอยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมชุมชน เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้อยู่อาศัยมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน ซึ่ง "โครงการประกวดชุมชนสดใส จิตใจงดงาม" ได้จัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 7 แล้ว เป็นหนึ่งในแผนงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ที่ กคช.ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องทุกๆ ปี เพื่อให้คนในชุมชนได้ตระหนักถึงกระบวนการมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพการอยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อมที่ดี อยู่กันอย่างมีความสุข ร่วมกันดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน สร้างงานสร้างรายได้ เป็นชุมชนสีขาวปลอดยาเสพติด และเป็นชุมชนเข้มแข็งสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ มีเกณฑ์พิจารณาตัดสินผลงาน ทั้งด้านกายภาพ เรื่องของความสะอาด ทัศนียภาพชุมชน การดูแลรักษาสภาพอาคาร และด้านการมีส่วนร่วมของสมาชิกในชุมชน การขับเคลื่อนโครงการและการจัดตั้งกลุ่มต่างๆ การส่งเสริมความสามัคคี ส่งเสริมสุขภาพและสร้างความสุขชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในปีนี้คณะกรรมการอำนวยการโครงการได้แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาคัดเลือกชุมชนจาก 682 ชุมชนผ่านเข้ามารอบแรก 24 ชุมชน และได้ลงพื้นที่คัดเลือกชุมชน เข้ารอบตัดสินทั้งสิ้น 8 โครงการ และปรากฏว่าผลรางวัลชนะเลิศ "โครงการประกวดชุมชนสดใส จิตใจงดงาม ประจำปี 2559" ประเภทอาคารแนวราบ ได้แก่ โครงการบ้านเอื้ออาทรระยอง (วังหว้า) รองชนะเลิศ โครงการบ้านเอื้ออาทรปราณบุรี ชมเชย 2 รางวัล ได้แก่ โครงการเคหะชุมชนและบ้านเอื้ออาทรสุรินทร์ .โครงการบ้านเอื้ออาทรเชียงราย (แม่สาย 1) และรางวัลชนะเลิศ ประเภทอาคารแนวสูง ได้แก่ โครงการบ้านเอื้ออาทรลาดกระบัง รองชนะเลิศ ได้แก่ โครงการบ้านเอื้ออาทรเมืองใหม่บางพลี (ระยะ 1) ชมเชย 2 รางวัล ได้แก่ โครงการบ้านเอื้ออาทรพุทธมณฑล สาย 5 (หลังองค์พระ) และโครงการบ้านเอื้ออาทรตลาดไท (เทพกุญชร 34) ได้รับเงินรางวัล โล่ และใบประกาศเกียรติคุณ เพื่อนำไปพัฒนาชุมชนตนเองต่อไป
ด้าน ดร.ปิยรัษฎ์ ปริญญาพงษ์ เจริญทรัพย์ เลขานุการคณะกรรมการ อพ.สธ. ได้ร่วมงานดังกล่าวฯ พร้อมจัดการบรรยายพิเศษ "โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) " กล่าวว่า จากพระราชดำรัสของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ว่า "การรักทรัพยากร คือการรักชาติ รักแผ่นดิน" ประกอบกับการดำเนินโครงการมาตลอด 25 ปี นั้น เป้าหมายของ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี หรือ อพ.สธ. ไม่ได้อยู่เพียงการปกป้องคุ้มครองพันธุ์ไม้ที่เสี่ยงจะสูญพันธุ์ แต่เป้าหมายใหญ่ คือ "การสร้างคนให้ตระหนักในเรื่องการอนุรักษ์และพัฒนา" ซึ่งการพัฒนาก็คือ การนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างถูกต้องและยั่งยืนด้วยการปลูกคืนทดแทนและปลูกเพิ่มเติม
นอกจากนี้ โครงการฯ ยังได้ให้ความสำคัญกับทรัพยากรอื่นๆ ที่นอกเหนือจากเรื่องพันธุกรรม ดังที่สมเด็จพระเทพฯ ทรงเคยดำรัสไว้ว่า ท่านให้ความสนพระทัยกับทุกทรัพยากรนับตั้งแต่ยอดเขาถึงใต้ท้องทะเล ทั้งทรัพยากรที่เป็นสิ่งมีชีวิต สิ่งไม่มีชีวิต และวัฒนธรรมซึ่งรวมถึงภูมิปัญญา ดังนั้น การดำเนินงานร่วมกับชุมชนเพื่อกระตุ้นให้คนในชุมชนรู้สึกรักในทรัพยากรของตน เกิดความหวงแหนและอยากเก็บไว้ให้ลูกหลานต่อไป โดยแนะนำชุมชนให้เริ่มต้นจากการสำรวจว่ามีพันธุ์ไม้อะไรที่มีความเสี่ยงว่าอาจสูญหายและอยากอนุรักษ์ไว้ สอดรับการแนวทางที่การเคหะฯ ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องในการสนับสนุนให้ชุมชนได้รู้ว่า ในท้องถิ่นนั้นๆ มีของดีอะไรบ้าง ซึ่งตัวอย่างทรัพยากรที่ทำให้ชุมชนเห็นภาพการอนุรักษ์ได้ชัดที่สุด โดยเฉพาะด้านภูมิปัญญา นั่นคือ "สมุนไพร" เพราะบางชนิดหรือบางสายพันธุ์จะเติบโตได้ในบางพื้นที่ กลายเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ท้องถิ่นที่ชุมชนเกิดความภาคภูมิใจและอยากจะร่วมกันอนุรักษ์ไว้ ผสานกับการนำภูมิปัญญามาใช้ผลิตเป็นยาหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ สามารถใช้ได้เองในชุมชนตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจ พอเพียง หรือพัฒนาเพิ่มศักยภาพจนสามารถจำหน่ายได้
"ชุมชนก็จะเห็นถึงคุณค่าของการอนุรักษ์เพราะต้องการให้มีการใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน ซึ่งโครงการฯ จะคอยเป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำในเรื่องพันธุ์พืช ตลอดจนจัดหานักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญ ที่จะเข้าไปให้คำแนะนำเพิ่มเติมในเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่นเดียวกับโครงการที่ร่วมมือกับการเคหะฯ ในปัจจุบัน คือการส่งเสริมให้ชุมชนของการเคหะฯ ทั่วประเทศปลูกต้นมเหสักข์และสักสยามินทร์ เพื่อถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นการรณรงค์ให้ปลูกในเชิงสัญลักษณ์นั่นคือ ปลูกแล้วไม่มีการตัดชุมชนเหคะทั่วประเทศก็จะได้มีสภาพแวดล้อมที่ดีและสวยงาม" ดร.ปิยรัษฎ์ กล่าว