กรุงเทพฯ--5 ส.ค.--กรมสุขภาพจิต
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึง กรณีข่าวการฆ่าหรือจ้างวานฆ่าบุพการี ว่า สาเหตุมาได้จากหลายปัจจัย เช่น 1. ความผิดปกติทางระบบประสาทและสมอง ส่งผลให้มีอารมณ์รุนแรง และขาดความยับยั้งชั่งใจ 2. การดูแลที่ไม่เหมาะสม ซึ่งอาจเกิดจากความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ไม่ดี มีการใช้ความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งทำให้เกิดพฤติกรรมการเลียนแบบความรุนแรงจากครอบครัว สังคมรอบข้าง และสื่อต่าง ๆ ได้ รวมไปถึงขาดแนวทางการจัดการความเครียดที่ไม่เหมาะสม 3. การติดสารเสพติด ที่มีผลทำลายสมอง ช่วยทำให้มีอารมณ์ที่รุนแรง และขาดความยับยั้งชั่งใจได้ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มีผลต่อความอ่อนแอทางจิตใจในบุคคลที่จะส่งผลให้เกิดพฤติกรรมรุนแรงได้ โดยการป้องกันการใช้ความรุนแรงในครอบครัว มีความสำคัญอย่างยิ่ง จึงขอแนะนำ ดังนี้ 1. สร้างความรักความผูกพันกันในครอบครัว รู้จักชื่นชมกัน ใช้เวลาพูดคุยหรือทำกิจกรรมร่วมกันให้มากขึ้น 2.ไม่ใช้ความรุนแรงในครอบครัว เพราะจะยิ่งส่งเสริมให้เกิดความรุนแรง ควรเลือกใช้วิธีการแก้ปัญหาที่เหมาะสม มีความยืดหยุ่น และค่อยเป็นค่อยไป 3. ผู้ปกครองควรเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก โดยเฉพาะเรื่องของความดีงาม ความยับยั้งชั่งใจ เพราะนิสัยส่วนหนึ่งของลูกย่อมเกิดจากการเลียนแบบพฤติกรรมของผู้ปกครอง 4. สื่อสารกันอย่างสร้างสรรค์ โดยเฉพาะการกำหนดกฎเกณฑ์ การตำหนิติเตียนหรือการกล่าวโทษกันควรเป็นไปในทางสร้างสรรค์ มีความเป็นธรรม เท่าเทียม ไม่เปรียบเทียบระหว่างพี่น้องหรือบุคคลอื่น การกล่าวโทษกันอย่างมีอคติจะนำไปสู่การทารุณทางจิตใจอย่างต่อเนื่อง เพิ่มความเก็บกดและเกิดปมด้อยในจิตใจ และที่สำคัญต้องไม่ละเลยที่จะรับฟังความคิดเห็นของลูก 5.รู้จักจัดการความเครียด โดยออกกำลังกาย ฝึกการหายใจ หางานอดิเรกหรือกิจกรรมทำร่วมกัน
ด้าน พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผอ.สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวเสริมว่า การทำร้ายบุพการีหรือคนในครอบครัว มักเกิดกับผู้อ่อนแอทางจิตใจ ซึ่งเกิดหลายสาเหตุ เช่น สะสมความรู้สึกว่าตนเอง ไม่ได้รับการยอมรับ อันเป็นผลมาจากการเลี้ยงดูที่ทำให้รู้สึกว่าตนเองนั้นไม่เป็นที่ต้องการ เช่น การถูกละเลย เพิกเฉย ล้อเลียน ไม่ได้รับความยุติธรรม เป็นต้น และ เมื่อเด็กได้รับประสบการณ์ดังกล่าวซ้ำๆ ก็จะยิ่งไปตอกย้ำให้เกิดความรู้สึกเหล่านี้มากขึ้นเกิดเป็นปมฝังแน่นอยู่ภายในจิตใจ เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น ปมที่ฝังแน่นเหล่านี้ก็จะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการปลดปล่อยความต้องการของตนเองจากสภาวะ ที่ถูกทารุณกรรม โดยการตัดสินใจที่จะสู้หรือจะหนี ทางหนี คือ การทำร้ายตนเอง ขณะที่ ทางสู้ คือ การทำร้ายผู้ที่กระทำทารุณกรรม ดังนั้น การฆ่าบุพการีจึงเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยปลดปล่อยความต้องการตนเองจากความรู้สึกคับข้องใจ ความต้องการแก้แค้น ความก้าวร้าว และการไม่ได้รับความยุติธรรม ส่วนการกระทำดังกล่าวจะสัมพันธ์กับการเจ็บป่วยทางจิตหรือไม่นั้น ต้องเข้าสู่กระบวนการวินิจฉัยโดยจิตแพทย์ ทั้งนี้ แนวทางสังเกตพฤติกรรมลูกๆ ว่าเสี่ยงที่จะก่อความรุนแรงขึ้นหรือไม่ ให้สังเกตจากพฤติกรรมที่ผิดปกติหรือเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น มีความก้าวร้าวรุนแรง แยกตัว พูดน้อยลง มีการเสพสารเสพติด ซึ่งควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางสุขภาพจิตโดยเร็ว และในบริเวณที่พักอาศัยไม่ควรมีหรือสะสมอาวุธที่สามารถหยิบใช้ได้สะดวก อย่างไรก็ตาม การสร้างสัมพันธ์ที่ดีต่อกันในครอบครัว ไม่ทำร้ายกันด้วยวาจาหรือร่างกาย ทำดีก็ชม ทำไม่ดีก็ต้องสอน พูดกันด้วยเหตุผล ตลอดจนการสร้างระเบียบวินัยตั้งแต่เด็ก ย่อมเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีให้กับลูกที่จะเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพจิตที่ดีได้ โดย สามารถขอรับบริการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต ได้ที่ สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง