กรุงเทพฯ--5 ส.ค.--สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล
ดร.นพดล กรรณิกา ประธานชมรมขับเคลื่อนวิชาการเพื่อวิจัยความสุขชุมชน และ ผอ. สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล เผย 16 ปีของรายงานอันดับเทียร์ (Tier) ค้ามนุษย์โดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ พบชื่อประเทศไทย ตกเป็นฐานประเทศแหล่งหากินของขบวนการค้ามนุษย์ต่อเนื่องทุกปีตั้งแต่ฉบับแรกจนถึงปัจจุบัน
ผลวิจัยชี้ให้เห็นว่า ในปีพ.ศ. 2552 หลังไทยมีกฎหมายแก้ปัญหาค้ามนุษย์โดยตรง แต่กลับกลายเป็นแหล่งหากินของเครือข่ายขบวนการค้ามนุษย์ที่โตที่สุดในรายงานของสหรัฐฯ หรือ TIP Report เพราะขาดองค์กรเชี่ยวชาญโดยตรงรองรับ แต่ในปี พ.ศ.2558 หลัง คสช. และรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามาแก้ปัญหาพบปัญหาเครือข่ายลดลงจาก 37 ประเทศจุดเชื่อมโยง เหลือเพียง 18 ประเทศเครือข่ายในรายงาน TIP ปี 2558 และเหลือเพียง 15 ประเทศเครือข่ายในรายงานฉบับปัจจุบัน และประเทศไทยได้รับการปรับอันดับจาก เทียร์ 3 ขึ้นไปอยู่เทียร์ 2.5 ถือเป็นสัญญาณที่ดีต่อการค้าระหว่างประเทศ แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังกังวลว่า หากรัฐบาลและ คสช. เปลี่ยนแปลงไปจะขาดความต่อเนื่อง เสนอให้มีองค์กรถาวรป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ควบคุมปัญหาได้อย่างยั่งยืน แนะวันนี้ควรจับตามองพิเศษที่การเข้าออกประเทศไทยเชื่อมโยงกับ 15 ประเทศ ดูตารางที่ 5 ประกอบ ได้แก่ ทุกประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน มอลโดวา และ ฟิจิ
อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจเสียงของประชาชน จำนวน 1,153 ตัวอย่างทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 68.9 มีความสุขมากถึงมากที่สุดเมื่อทราบข่าวประเทศไทยได้รับการจัดอันดับเทียร์ดีขึ้นจาก เทียร์ 3 ขึ้นเป็น เทียร์ 2.5 โดยส่วนใหญ่หรือร้อยละ 65.1 เชื่อมั่นว่าจะทำให้การค้าระหว่างประเทศดีขึ้น แต่ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 66.3 กังวลว่า จะไม่เกิดความยั่งยืนของการต่อต้านการค้ามนุษย์ ถ้ามีรัฐบาลใหม่ ที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 85.2 ระบุถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลควรจัดตั้งองค์กรถาวรต่อต้านการค้ามนุษย์
ประเด็นที่น่าพิจารณาคือ ผลจากการสัมภาษณ์เจาะลึกเจ้าหน้าที่รัฐที่มีประสบการณ์ต่อต้านการค้ามนุษย์ในด้านต่างๆ เช่น การค้ามนุษย์ด้านแรงงาน พบว่า อุปสรรคสำคัญต่อการบูรณาการหน่วยงานต่างๆ ของรัฐเพื่อแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ ได้แก่ 1) มีฐานข้อมูลการค้ามนุษย์ที่กระจัดกระจายตามหน่วยงานต่างๆ 2) มีการใช้ดุลพินิจของพนักงานเจ้าหน้าที่ ทำให้ผู้เสียหายหลุดไปจานวนมาก 3) มีหน่วยงานทำงานหลากหลาย เกิดหลายมาตรฐาน ล่าช้าช่วยเหลือเหยื่อ 4) มีการแก้ปัญหาค้ามนุษย์แบบงานสั่ง ไม่ยั่งยืนเพราะถือเป็นงานฝาก ไม่ใช่งานหลักของหน่วยต้นสังกัด 5) กฎหมายมากมีหลายฉบับ ขาดองค์ประกอบรวมเป็นเอกภาพ 6) ใช้ระบบบริหารแบบออกคาสั่งในระดับนโยบาย เปลี่ยนคนทำงานระดับปฏิบัติ ทำให้งานไม่ต่อเนื่อง 7) ระบบฐานข้อมูล แบบตัดต่อและรวบรวมจากหลายหน่วยงาน 8) มีการรวบรัดดาเนินคดีที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่เกิดขึ้น รวมทั้งขาดกระบวนการสืบสวนขยายผลเชิงลึกเพื่อตัดวงจรอาชญากรรมการค้ามนุษย์และดาเนินคดีตัวการใหญ่ซึ่งปัจจุบันในวิธีการปกติจะทำได้น้อยมาก 9) มีการอบรมเจ้าหน้าที่รัฐจากแต่ละหน่วยงานเป็น พนักงานเจ้าหน้าที่ แต่หลังอบรมแต่ละคนกลับไปทำงานหลักที่ต้นสังกัด 10) มีข้อจำกัดของแต่ละหน่วยงานในการปฏิบัติการช่วยเหลือเหยื่อค้ามนุษย์ตั้งแต่ต้นทางปัญหาถึงปลายทางปัญหา 11) เหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ประสบปัญหาหลายมาตรฐาน ขาดองค์กรกลางที่จัดการปัญหาค้ามนุษย์โดยตรง และ 12) ไม่มีองค์กรที่เป็นเอกภาพแท้จริง เบ็ดเสร็จและครบวงจรในการต่อต้านการค้ามนุษย์
ด้วยเหตุนี้ คณะวิจัยจึงเสนอให้รัฐบาลและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องพิจารณา ข้อเสนอการจัดตั้งองค์กรกลางถาวรด้านยุทธศาสตร์และปฏิบัติการหรือ ป.ป.ม. ต่อต้านการค้ามนุษย์โดยตรง ไม่ใช่ในรูปคณะกรรมการต่างๆ ที่มักจะเปลี่ยนแปลง หรือ ถูกยุบไปเมื่อเปลี่ยนรัฐบาล ส่งผลให้ประเทศไทยไม่สามารถรักษาผลประโยชน์ชาติและของประชาชนส่วนรวมไว้ได้อย่างยั่งยืน เนื่องจาก "งานฝาก" ทำให้เกิดการบูรณาการเทียม พอรัฐบาลอ่อนแอปัญหาก็กลับมาอีก องค์กรนี้จะดูแลคุ้มครองเหยื่อค้ามนุษย์แบบครบวงจร ลดความพยายามของเจ้าหน้าที่รัฐและองค์กรภาคเอกชนที่ต้องการปล่อยให้ประเทศไทยมีปัญหาซับซ้อนยุ่งยากโดยหวังได้เงินจากต่างชาติและงบประมาณแผ่นดิน ตามแผนภาพที่แนบมา หากไม่ทำในรัฐบาลนี้ ก็ยากที่จะเกิดในรัฐบาลหน้า