กรุงเทพฯ--5 ส.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
นักศึกษาปริญญาโท สาขาบริหารธุรกิจ (MBA)"ทีม TBSGravity" จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) คว้ารางวัลชนะเลิศด้านการบริหารปฏิบัติการการแข่งขันบริหารโรงงานในเกมจำลองLittlefield Technology การบริหารกิจการเพื่อตอบสนองความต้องการลูกค้าที่มีความผันผวนสูง โดยอาศัยองค์ความรู้จากหลักสูตรบริหารธุรกิจในด้านต่าง ๆ อาทิ การพยากรณ์ยอดขาย การวางแผนกำลังการผลิต การจัดลำดับงาน การบริหารแถวคอย การจัดการสินค้าคงคลัง และตัดสินใจรับคำสั่งซื้อที่เหมาะสมที่สุดจากลูกค้าเพื่อให้ได้รายได้สูงที่สุด โดยทีม TBSGravity สามารถทำสถิติมีเงินสดสูงสุดจากการบริหารโรงงานในช่วงเวลาเพียง 72 ชั่วโมง แซงหน้าผู้เข้าแข่งขันจากมหาวิทยาลัยบริหารธุรกิจชั้นนำทั่วโลกทั้งสิ้น 198 ทีม อาทิ วิทยาลัยธุรกิจลอนดอน แห่งสหราชอาณาจักร มหาวิทยาลัยเทกซัสเอแอนด์เอ็ม สหรัฐอเมริกา มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ สหรัฐอเมริกา ฯลฯ ทั้งนี้ การแข่งขันบริหารระดับโลก MIT Sloan Operations Management Competition2016 ครั้งที่ 12 (12thAnnual MIT Ops SimCom) จัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยสถาบันศึกษาด้านการจัดการมหาวิทยาลัย MIT (Massachusetts Institute of Technology) ประเทศสหรัฐอเมริกา
อาจารย์กฤษณ์ ปัทมะโรจน์ อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ปรึกษา กล่าวว่า การแข่งขันบริหารโรงงานสมมติ MIT Sloan Operations Management Competition 2016 ครั้งที่ 12 (12th Annual MIT Ops Sim Com) โดยสถาบันศึกษาด้านการจัดการของ มหาวิทยาลัย MIT (Massachusetts Institute of Technology) ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นการแข่งขันด้านการบริหารปฏิบัติการ โดยการแข่งขันในปีนี้เป็นการใช้เกมจำลองบริหารโรงงาน Littlefield Technology ซึ่งพัฒนาโดยบริษัทรีสปอนซีฟ เทคโนโลยี จำกัด โดยผู้เข้าแข่งขันในแต่ละทีมถูกสมมติว่าเป็นผู้จัดการโรงงาน ที่จะต้องบริหารกิจการให้สามารถตอบสนองความต้องการลูกค้าที่มีความผันผวนสูง โดยอาศัยความรู้จากการศึกษาในหลักสูตร อาทิ การพยากรณ์ยอดขาย การวางแผนกำลังการผลิต การจัดลำดับงาน การบริหารแถวคอย การจัดการสินค้าคงคลัง และตัดสินใจรับคำสั่งซื้อที่เหมาะสมที่สุดจากลูกค้าเพื่อให้ได้รายได้สูงที่สุด
สำหรับปีนี้ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มธ. ได้ส่งทีมนักศึกษาเข้าแข่งขันทั้งหมด 3 ทีมคือ ทีม TBSGravity ทีมTBSRanger58 และทีม TBSRedeem โดยการแข่งขันในครั้งนี้ ทีม TBSGravity เป็นผู้ที่มีเงินสดสูงสุดจากการบริหารโรงงานในช่วงเวลา 72 ชั่วโมง ในการแข่งขันโดยสามารถทำเวลาได้เป็นอันดับ 1 แซงหน้าผู้เข้าแข่งขันจากทั่วโลกทั้ง 198 ทีม ขณะที่อีก 2 ทีมจากธรรมศาสตร์ คือ TBSRanger58 ได้ลำดับที่ 21 และ TBSRedeem จบในลำดับที่ 29 จากการแข่งขัน โดยในปีนี้มีทีมเข้าร่วมแข่งขันจากหลากหลายมหาวิทยาลัย อาทิ วิทยาลัยธุรกิจลอนดอน แห่งสหราชอาณาจักร (London Business School) วิทยาลัยการจัดการเคลล็อก สหรัฐอเมริกา (Kellogg School of Management) สถาบันเทคโนโลยีจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา (Georgia Institute ofTechnology) มหาวิทยาลัยเทกซัสเอแอนด์เอ็ม สหรัฐอเมริกา (Texas A&M University) มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์สหรัฐอเมริกา (University of California, Berkeley) มหาวิทยาลัยเยล สหรัฐอเมริกา (Yale University) เป็นต้น
อย่างไรก็ดี สำหรับทีมผู้ชนะเลิศ TBSGravity ประกอบด้วย นายธงชัย นิมิตภักดีกุล นายเกรียงศักดิ์ กังวาฬไพรสรรค์ นายธนกฤต พัฒนกิจเจริญ และ นายภานุพงศ์ แต่งอักษร นักศึกษาปริญญาโททางบริหารธุรกิจ "ผมดีใจอย่างมากที่เห็นนักศึกษาของเราชนะในการแข่งขันระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่พวกเขาพิสูจน์ได้ว่าสามารถนำความรู้ และเครื่องมือวิเคราะห์เชิงปริมาณจากในชั้นเรียน ไปใช้ในการแข่งขันระดับโลกได้อย่างดีเยี่ยม" อาจารย์กฤษณ์ กล่าว
ด้าน นายภานุพงศ์ แต่งอักษร นักศึกษาปริญญาโทบริหารธุรกิจคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีมธ. ทีมTBSGravity กล่าวถึงเหตุผลที่เข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ว่า "เนื่องจากการเรียนในรายวิชาการบริหารการปฏิบัติการ (Operations Management) อาจารย์กฤษณ์ ปัทมะโรจน์ ได้นำเกม Little Field แบบจำลองการบริหารงาน มาใช้จำลองปัจจัยที่สำคัญต่าง ๆ ในการบริหารปฏิบัติการเพื่อใช้ทดสอบความรู้ของนักศึกษาในการบริหารการจัดการในสถานการณ์แตกต่าง และแนะนำพวกเราถึงโอกาสเข้าร่วมแข่งขันกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่มีชื่อเสียงทั่วโลก ทำให้พวกเราเกิดแรงบันดาลใจ และมีความท้าทายที่จะทดสอบความรู้ความสามารถ และครั้งหนึ่งหากเป็นไปได้ ต้องการให้ชื่อของ TBS ไปเป็นที่รู้จักและปรากฏในเวทีระดับโลก เพื่อส่งต่อแรงบันดาลใจให้ MBA รุ่นต่อไปดังที่เราเคยได้รับมา ทั้งนี้ยังเพื่อตอบแทนความรู้และโอกาสดี ๆ ที่ MBA มอบให้พวกเรา"
นายธงชัย นิมิตภักดีกุล นักศึกษาปริญญาโทบริหารธุรกิจ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มธ. ทีมTBSGravityกล่าวเสริมถึงช่วงเวลาในการเตรียมการแข่งขันว่า "พวกเราเตรียมตัวโดยมีการศึกษาโจทย์จากปีที่ผ่านๆ มาประกอบกับข้อมูลจากอาจารย์และรุ่นพี่ที่เคยแข่งขันรายการนี้ ซึ่งโดยทั่วไปในแต่ละปีจะให้โจทย์พร้อมข้อมูลตัวอย่างล่วงหน้าก่อนการแข่งขัน 1 วัน และให้ข้อมูลจริงเพื่อประกอบการตัดสินใจก่อนเริ่มเกม 1 ชั่วโมง ก่อนการแข่งขัน พวกเราประชุมเพื่อวางแผนการทำงานซึ่งการพยากรณ์คำสั่งซื้อเป็นสิ่งที่มีความท้าทายมากที่สุดสำหรับโจทย์ปีนี้ พวกเราใช้วิธีการต่าง ๆ ทางคณิตศาสตร์ เช่น การจำลองถดถอยเชิงเส้น (Linear Regression) การหาค่าความเชื่อมั่น (Interval mean) การคำนวณหาค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ (Moving average) เพื่อพยากรณ์คำสั่งซื้อโดยปรับใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ต่าง ๆ ในเกม รวมถึงการใช้ความรู้จากการบริหารการปฏิบัติการ เช่น การกำหนดเวลางาน (Scheduling) ปริมาณการสั่งซื้อที่ประหยัด (Economic Order Quantity) จุดสั่งซื้อซ้ำ (Reorder point) ฯลฯ ที่ได้เรียนมาจากคลาสเรียนของเรา โดยพวกเรายังร่วมกันคิดและพิจารณาแนวทางที่เป็นไปได้ทั้งหมด เพื่อตัดสินใจเลือกแนวทางที่ทำให้การดำเนินงานในโรงงานเกิดผลกำไรมากที่สุด"
นายธนกฤต พัฒนกิจเจริญ นักศึกษาปริญญาโทบริหารธุรกิจ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มธ. ทีมTBSGravity กล่าวถึงเวลาก่อนการแข่งขันว่า "การแข่งขันจะเริ่มต้นในเวลา 01:00 น. ของวันที่ 8 เมษายน 2559 โดยเกมสถานการณ์จำลอง (Simulation Game)นี้พวกเราจะต้องบริหารโรงงานในเกมเป็นเวลา 360 วัน ซึ่ง 1 วันในเกมจะเท่ากับเวลา 12 นาทีในโลกความเป็นจริง ดังนั้น เกมดังกล่าวจะใช้เวลาในการแข่งขันทั้งหมด 72 ชั่วโมงติดต่อกัน โดยเกมจะจบวันที่ 11 เมษายน 2559 เวลา 01:00 น. ซึ่งความยากของเกมอยู่ที่พวกเราจะได้รับข้อมูลทุก ๆ 12 นาทีตลอดทั้ง 72 ชั่วโมง หรือ 3 วัน 3 คืน เพื่อตัดสินใจซื้อเครื่องจักร วัตถุดิบ และวางแผนการบริหารโรงงาน ช่วงเริ่มต้นแข่งขันพวกเราตื่นเต้นมาก พวกเรากังวลว่าสิ่งที่พวกเราวางแผนและคาดการณ์ไว้จะถูกต้องหรือไม่ ซึ่งผลลัพธ์ในช่วงแรกก็เป็นไปได้ดีตามการคาดการณ์ของพวกเรา"
นายเกรียงศักดิ์ กังวาฬไพรสรรค์ นักศึกษาปริญญาโทบริหารธุรกิจ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มธ. ทีมTBSGravity กล่าวว่า "อุปสรรคสำหรับเราของเกมนี้อีกเรื่องหนึ่งคือ Time zone ที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ โดยเวลาของเกมจะเริ่มต้นโดยใช้เวลาทางฝั่งทวีปอเมริกาเป็นหลัก และเนื่องจากเป็นเกมที่เล่นต่อเนื่องตลอด 72 ชั่วโมง การบริหารจัดการเวลาเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก พวกเราต้องแบ่งเวลากันดูแลโรงงาน ทำงาน พร้อมทั้งพักผ่อน ในเรื่องหน้าที่การทำงานก็เช่นกัน พวกเราแบ่งหน้าที่การทำงานกันอย่างชัดเจนตามความถนัดของแต่ละคน เพื่อให้การตัดสินใจต่าง ๆ มีความรวดเร็วกับข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงทุกๆ 12 นาที ในบางเรื่องที่ต้องการการตัดสินใจร่วมกัน พวกเราร่วมกันคิด รับฟังเหตุผลของกันและกัน และร่วมกันตัดสินใจในประเด็นสำคัญซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงผลลัพธ์ของเกมให้ก้าวนำทีมอื่นได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเราคิดว่าการมีทีมเวิร์คที่ดี การแบ่งหน้าที่การทำงานอย่างชัดเจนรวมถึงร่วมกันตัดสินใจในประเด็นสำคัญ และให้ความไว้วางใจเชื่อใจในเพื่อนร่วมทีม ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราสามารถประสบความสำเร็จได้อย่างที่เกิดขึ้น"
ทั้งนี้ สำหรับเกมจำลอง Littlefield Technology ดังกล่าว ถูกคิดค้นและพัฒนาโดยอดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด2 ท่าน คือ Sunil Kumar และ Samuel Wood เพื่อใช้ในการเรียนการสอนในขณะนั้น และในปัจจุบัน เกมนี้ได้แพร่หลายไปยังหลักสูตรบริหารธุรกิจชั้นนำทั่วโลกจำนวนมาก ซึ่งในขณะเดียวกัน ในสาขาบริหารธุรกิจ (MBA) มธ. ได้ใช้เกมนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนในหลักสูตร โดยบรรจุอยู่ในรายวิชา การจัดการปฏิบัติการ (Operations Management) มาตั้งแต่ปี 2552 อาจารย์กฤษณ์ กล่าวทิ้งท้าย
"มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มุ่งมั่นสู่การเป็นสถาบันการศึกษาเพื่อสังคมไทยปลูกฝังจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ต่อบุคลากรและนักศึกษา ด้วยการยึดมั่นในความเป็นธรรม การมีจิตสาธารณะ และการมีความรับผิดชอบต่อสังคม ควบคู่ไปกับการสร้างบัณฑิตยุคใหม่ให้มีคุณสมบัติผู้นำแห่งศตวรรษที่ 21 สอดรับตามแนวคิด "มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์...มหาวิทยาลัยเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง"
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มธ. ท่าพระจันทร์ หมายเลขโทรศัพท์ 02-613-220002-623-5742 เว็บไซต์ http://www.tbs.tu.ac.th หรือติดต่องานสื่อสารองค์กร มธ.ศูนย์รังสิต หมายเลขโทรศัพท์ 02-564-4493เว็บไซต์http://www.tu.ac.th