กรุงเทพฯ--5 ส.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
รมว.กษ. ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานตามนโยบายแปลงใหญ่ประชารัฐ (กุ้งขาวแวนนาไมร่วมกับปลานิล) ส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มเพื่อให้เพิ่มประสิทธิภาพในการเพาะเลี้ยงและการผลิต รวมทั้งผลักดันสหกรณ์ที่มีศักยภาพให้เชื่อมโยงกับบริษัทเอกชนในการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำ
พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานตามนโยบายแปลงใหญ่ประชารัฐ (กุ้งขาวแวนนาไมร่วมกับปลานิล) ณ อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี ว่า รัฐบาลมีนโยบายให้ทุกส่วนราชการขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ โดยใช้กลไกประชารัฐในการขับเคลื่อนและให้ภาคธุรกิจเป็นกลไกกลางเชื่อมโยงระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการลดต้นทุนการผลิตสัตว์น้ำ จึงได้ส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มเพื่อให้เพิ่มประสิทธิภาพในการเพาะเลี้ยงและการผลิต รวมทั้งผลักดันสหกรณ์ที่มีศักยภาพให้เชื่อมโยงกับบริษัทเอกชนในการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำ ซึ่งโครงการแปลงใหญ่ประชารัฐ (กุ้งขาวแวนนาไมร่วมกับปลานิล) เป็นผลมาจากคณะทำงานด้านการพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่ กลุ่มสัตว์น้ำ ได้ประชุมหารือร่วมกัน โดยภาคเอกชนโดยการรวมกลุ่มของอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำจะให้ความสนับสนุนด้านความรู้และเทคโนโลยีในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ข้อมูลทางการตลาด และส่งเสริมช่องทางการจัดจำหน่ายในรูปแบบประชารัฐ ทั้งนี้ ได้มีการลงบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือการขับเคลื่อนนโยบายประชารัฐ และการลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือการขับเคลื่อนนโยบายประชารัฐ ระดับพื้นที่ (กุ้งขาวแวนนาไมร่วมกับปลานิล) ระหว่างหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต เพิ่มการจ้างงานสร้างรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ และเพิ่มขีดความสามารถของภาคประชาชนและประชาสังคม
พลเอก ฉัตรชัย กล่าวต่อไปว่า ในเรื่องการเชื่อมโยงการตลาดโดยอาศัยกลไกประชารัฐ ได้มีการดำเนินงานแบ่งเป็น ดำเนินการโดยเกษตรกร โดยเกษตรกรสามารถส่งจำหน่ายผลผลิตปลานิลสดให้กับแพปลาในพื้นที่ 9 แห่ง ได้แก่ แพปลามีชีวิต 3 ราย และแพปลาแช่น้ำแข็ง 6 ราย นอกจากนี้ ยังมีผลผลิตปลานิลสด ประมาณ 4 ตัน/วัน กุ้งขาว ประมาณ 3 ตัน/วัน และมีการแปรรูปปลานิล (แดดเดียวและปลาร้า) ขายที่ตลาดเกษตรกรด้วย และสำหรับการดำเนินการโดยสหกรณ์ ได้มีการวางแผนการผลิตและการตลาด ตลอดห่วงโซ่การผลิตปลานิล ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน โดยดำเนินการตั้งแต่กระบวนการเตรียมบ่อ จัดหาปัจจัยการผลิต การให้ความรู้การผลิต และส่งเสริมช่องทางการตลาด รวมถึงการให้สหกรณ์เป็นตัวแทนเจรจาขายสินค้าของสมาชิกให้กับห้องเย็นหรือพ่อค้าอื่น ๆ โดยสหกรณ์ทำหน้าที่ในการจัดหาปัจจัยการผลิต ได้แก่ พันธุ์ปลา อาหารปลา และเวชภัณฑ์ การให้สินเชื่อเพื่อการลงทุนปรับปรุงบ่อด้วย
"ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เตรียมขยายผลในอนาคต โดยต้องการให้สหกรณ์ทั้ง 12 แห่ง ขยายผลให้สมาชิกทุกราย จำนวน 2,000 ราย จำนวนพื้นที่ 15,000 ไร่ ขยายผลให้กับสหกรณ์อื่น จำนวน 45 สหกรณ์ จำนวน 5,000 ราย จำนวนพื้นที่ 25,000 ไร่ ส่งเสริมให้สหกรณ์มีการจัดตั้งกองทุนประกันราคาและรักษาสิ่งแวดล้อม ให้กับสมาชิกเพื่อบริหารความเสี่ยงเมื่อราคาตกต่ำ และการปรับปรุงบ่อ การบำรุงรักษาสภาพแวดล้อม เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ส่งเสริมเงินทุน จำนวน 100 ล้านบาท เพื่อการส่งเสริมสหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการประชารัฐ เพื่อเป็นกลไกหนึ่งที่จะทำให้การขับเคลื่อนประชารัฐมีการขยายผลให้กับสมาชิก ส่งเสริมเกษตรกรให้ได้การรับรองมาตรฐาน GAP ฟาร์ม ร้อยละ 100 และส่งเสริมให้สหกรณ์มีการดำเนินธุรกิจให้ครบวงจรตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง รวมทั้งสนับสนุนอุปกรณ์การตลาด ได้แก่ รถขนส่งอาหารสัตว์ โกดังเก็บอาหารสัตว์ เพื่อสร้างความเข้มแข็งในการดำเนินธุรกิจและตอบสนองความต้องการของสมาชิกอีกด้วย" พลเอก ฉัตรชัย กล่าว