สวทช. เตรียมทำดัชนีวิทยาศาสตร์ฯ ไทยชี้จุดแข็งจุดอ่อนด้านวิทย์ฯ ของไทย

ข่าวเทคโนโลยี Monday December 4, 2000 14:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 ธ.ค.--สวทช.
สวทช. เตรียมจัดทำดัชนีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย หวังให้ไทยรู้จุดแข็งจุดอ่อนของงานด้านวิทยาศาสตร์ และนำไปปรับปรุงได้ถูกทาง กำหนดงบประมาณ และคำนวณค่าความคุ้มทุนในอนาคต
ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สวทช. กำลังเร่งดำเนินการจัดทำดัชนีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยขึ้น หลังจากที่ไทยถูกสถาบันระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาการบริหาร (ไอเอ็มดี) จัดอันดับความสามารถ ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้อยู่ในอันดับที่ 47 ซึ่งถือเป็นอันดับสุดท้ายของโลก ซึ่งการจัดทำดัชนี ดังกล่าว เพื่อให้ทราบสถานะความสามารถของไทย รวมทั้งทราบจุดอ่อน จุดแข็งในแต่ละด้านที่ชัดเจนขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านกำลังคน ด้านงบวิจัยโครงการวิจัยและความคืบหน้า ตลอดจนปัญหาและอุปสรรค โครงสร้างด้านพื้นฐานต่าง ๆ การร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน เป็นต้น
ศ.ดร.ไพรัช กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมา ถึงแม้จะมีข้อมูลอยู่ในหลายหน่วยงาน เช่น สวทช. สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (สกศ.) สำนักงาน คณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และหน่วยงานอื่น ๆ อยู่บ้างแล้ว แต่ก็ไม่สามารถสรุปได้ว่าตัวเลขไหนถูกต้องและสามารถนำไปอ้างอิงได้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีแหล่งข้อมูลกลางด้วย
“การจัดทำดัชนีวิทยาศาสตร์เปรียบเทียบได้กับแหล่งข้อมูลของชาติ เพราะเป็นงาน ด้านพื้นฐานที่สำคัญที่สุด เหมือนกับระบบเศรษฐกิจหากแบงก์ไม่มีข้อมูลก็ไม่รู้ทิศทาง ดังนั้น การเริ่มต้นครั้งนี้ จึงเท่ากับเป็นการจัดกระบวนทัพเสียใหม่ หันเรือมาให้อยู่เป็นจุดเดียวกันและเดินไปพร้อม ๆ กันทุกลำ เพื่อให้ประเทศไทยมีความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขึ้นมาได้ในอนาคตนี้” ศ.ดร.ไพรัช กล่าว
นอกจากนี้ ดัชนีวิทยาศาสตร์ยังจะช่วยให้ภาพรวมของงานด้านนี้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่สะเปะสะปะเหมือนในอดีต และในอนาคตอาจจะใช้ดัชนีที่ สวทช.จะดำเนินการตลอดทั้งปีนี้ไปวัด ความคุ้มทุนของงบวิจัยที่จัดสรรลงไปในหน่วยงานต่าง ๆ ได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากขณะนี้ สวทช. ได้เสนอให้รัฐบาลจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ซึ่งล่าสุดอยู่ระหว่าง การพิจารณาของกฤษฎีกา เพื่อให้รองรับกับแผนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 2020 และแผนปฏิบัติการ 5 ปี ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 9 ดังนั้น ดัชนีวิทยาศาสตร์ก็จะอยู่ภายใต้คณะกรรมการนโยบายฯ ต่อไป--จบ--
-นศ-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ