กฟน.จัดโครงการนำร่องรีเอ็นจิเนียริ่ง ลดเวลารอชำระค่าไฟลง 5 เท่าตัว

ข่าวทั่วไป Thursday March 15, 2001 09:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 มี.ค.--กฟน.
ม.ร.ว.จิยากร เสสะเวช ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ การไฟฟ้านครหลวง เปิดเผยว่า กฟน. ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา เข้ามาศึกษา จัดทำแผนปรับปรุงประสิทธิภาพและพัฒนาองค์กรโดยเน้นศึกษาระบบ BPR [ Business Process Reengineering
] เพื่อรองรับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในอนาคตขณะนี้ผลการศึกษาและการจัดทำโครงการนำร่องได้แล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อย
“ ที่ปรึกษาได้เข้ามาศึกษาข้อมูลใน กฟน.และ ได้นำเสนอแนวทางการพัฒนามากมาย เช่น การเสนอแนะกลยุทธ์การดำเนินงานในช่วงปี พ.ศ.2545 — 2549 , การพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ , โครงสร้างองค์กร , การพัฒนาบุคลากร และการจัดทำโครงการนำร่อง ( Pilot Project ) “ ม.ร.ว.จิยากร กล่าวว่า โดยเฉพาะโครงการนำร่องที่จัดทำขึ้นนั้น กฟน.ได้เลือกดำเนินการ โครงการรับชำระค่าไฟฟ้า ณ การไฟฟ้าเขตสามเสน ซึ่งในแต่ละวัน เฉลี่ยแล้วมีผู้ใช้ไฟฟ้ามาชำระค่าไฟฟ้า ณ การไฟฟ้าเขตไม่ต่ำกว่าเขตละ 1,000 ราย
จากสถิติการชำระค่าไฟฟ้าในชั่วโมงเร่งด่วน ระหว่าง 11.45 — 13.00 น. พบว่าจะเป็นช่วงที่ผู้ใช้ไฟฟ้ามาใช้บริการมากที่สุด และเป็นช่วงเวลาที่ผู้ใช้ไฟฟ้ารอชำระค่าไฟฟ้านานที่สุดด้วยเช่นกัน นานที่สุดเท่ารายละ 50 นาที ยอดเฉลี่ยรายละ 30 นาที โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะลดระยะเวลาการชำระค่าไฟฟ้าลงให้เหลือไม่เกิน 10 นามีต่อรายในชั่วโมงเร่งด่วน
บริษัทที่ปรึกษาร่วมกับฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศของการไฟฟ้านครหลวง ได้จัดระบบคิวและระบบคอมพิวเตอร์ใหม่ทั้งหมด และได้ทดลองระบบใหม่นี้ตั้งแต่เดือนธันวาคม ปีที่แล้ว ขณะนี้ ผลการดำเนินการพบว่า สามารถลดระยะเวลาการชำระค่าไฟฟ้าในชั่วโมงเร่งด่วนลงได้เหลือประมาณรายละ 6 นาที ซึ่งดีว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้มาก คาดว่าหลังจากสรุปผลและปัญหา ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเรียบร้อยแล้ว จะขยายผลนำไปใช้ในทุกการไฟฟ้าเขต เชื่อว่าจะทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าพึงพอใจมากยิ่งขึ้น ม.ร.ว.จิยากร กล่าวในตอนท้าย
อนึ่ง นโยบายของรัฐบาลกำหนดไว้ชัดเจนว่า รัฐวิสาหกิจจะต้องมีการแปรรูปหรือ ปรับปรุงประสิทธิภาพ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงตามประแสโลก และจากผลการวิจัยทั่วโลกพบว่า องค์กรที่นำ ระบบ BPR [ Business Process Reengineering
] เข้ามาใช้ จะสามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงได้ง่ายและรวดเร็วกว่า ด้วยเหตุนี้ กฟน.จึงได้ว่าจ้างทีมที่ปรึกษา ได้แก่ บริษัท Diebold จากประเทศเยอรมนี บริษัท T.N Information System Ltd. ร่วมกับคณาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและสถาบันพัฒนบริหารศาสตร์ ( นิด้า) เข้ามาศึกษาเพื่อนำระบบ BPR มาใช้ปรับปรุงประสิทธิภาพและเป็นแนวทางพัฒนาองค์กร
การ Reengineering หรือการปรับกระบวนการทำงานของการไฟฟ้านครหลวง มี เป้าหมายเพื่อสร้างความพึงพอใจให้ผู้ใช้ไฟฟ้าเป็นหลัก โดยมีผลพลอยได้คือลดความซ้ำซ้อนของกระบวนการทำงาน ลดเวลาและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น--จบ--
-อน-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ