ธ.ไทยพาณิชย์รุกตลาดการค้าต่างประเทศ สิ้นปี 43 ตั้งเป้าขยายศูนย์การค้าต่างประเทศ 30 แห่งทั่วประเทศ

ข่าวทั่วไป Wednesday July 19, 2000 11:10 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ก.ค.--ธ.ไทยพาณิชย์
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) รุกตลาดการค้าต่างประเทศเปิดศูนย์การค้า ต่างประเทศแห่งที่ 21 ณ สาขาย่อยนิคมอุตสาหกรรมบางปู จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อส่งเสริม ธุรกรรมการค้าต่างประเทศ และอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าธนาคารมากยิ่งขึ้น โดยเปิดให้บริการ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมนี้เป็นต้นไป
คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้กล่าวถึงนโยบายด้านการค้าต่างประเทศว่า ธนาคารได้ให้การสนับสนุนธุรกิจ และบริการด้านต่างประเทศอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยได้เล็งเห็นว่าการค้าต่างประเทศ เป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มเสถียรภาพทางการเงิน และเป็นการกระตุ้นระบบเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งเป็นการกระจายรายได้ไปสู่กลุ่มผู้นำเข้าและส่งออก โรงงานอุตสาหกรรม ตลอดจนผู้ประกอบอาชีพในโรงงานอุตสาหกรรม โดยขณะนี้ธนาคารได้มีบริการทางด้านธุรกรรมทางการค้าต่างประเทศ แบบครบวงจรผ่านเครือข่ายศูนย์การค้าต่างประเทศของธนาคาร 21 แห่งทั่วประเทศ นอกจากนี้ธนาคารได้พัฒนาบริการโดยนำเทคโนโลยีเข้ามาโดยการพัฒนา บริการด้านการค้าต่างประเทศ (SCB Trade) ด้วยการเปิด L/C และโอนเงิน รวมทั้งสอบถาม ข้อมูลด้านการค้าต่างประเทศผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ของลูกค้า มายังศูนย์คอมพิวเตอร์ของธนาคารซึ่งมีหลักการเดียวกับ Internet เพิ่มความสะดวกรวดเร็วให้แก่ลูกค้ามากยิ่งขึ้น
สำหรับการดำเนินงานด้านการค้าต่างประเทศของธนาคาร ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2543 มีปริมาณการส่งออกผ่านธนาคารรวม 1,939.3 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าที่ส่งออกมากขึ้นในปีนี้ได้แก่ผลิตภัณฑ์โลหะ,เครื่องใช้ไฟฟ้า,เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ส่วนการนำเข้าผ่านธนาคารนั้นมีปริมาณการนำเข้าผ่านธนาคารรวม 1,865.6 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าที่นำเข้าเพิ่มขึ้นมากจากปีก่อนได้แก่ น้ำมันดิบ ยานพาหนะและชิ้นส่วนเครื่องไฟฟ้า
ในส่วนของศูนย์บริการการค้าต่างประเทศแห่งใหม่ที่นิคมอุตสาหกรรมบางปูนั้น นางมาลีรัตน์ ปลื้มจิตรชม ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สายงานต่างประเทศ ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการเปิดศูนย์การค้าต่างประเทศแห่งใหม่นี้ว่า เพื่อเป็นการรองรับปริมาณธุรกิจส่งออกและนำเข้าของ ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมกว่า 350 โรงงาน รวมทั้งเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเข้าและส่งออกในการได้รับบริการที่รวดเร็ว ด้วยเทคโนโลยีทันสมัยและเพื่อนำเสนอบริการต่างๆแก่ ลูกค้าอย่างใกล้ชิดโดยได้รับการตอบรับจากผู้ประกอบการภายในนิคมฯ เป็นอย่างดี
สำหรับบริการในศูนย์การค้าต่างประเทศนั้นประกอบด้วย บริการด้านนำเข้าและส่งออก เช่น บริการสำหรับผู้นำเข้าสินค้าที่ธนาคารเป็นผู้ออกคำสั่งโดยแจ้งไปยังธนาคารของผู้ขายสินค้า (Letter of Credit) ด้วยระบบปกติหรือเลือกผ่านระบบ SCB Trade บริการให้สินเชื่อผู้นำเข้าสินค้าที่ยังไม่สามารถชำระเงินให้ผู้ขายได้ (Trust Receipt) บริการสินเชื่อเพื่อการส่งออก (Packing Credit) บริการรับซื้อตั๋วเงินที่เกิดจากการส่งออก (Export Bill Under L/C) บริการออกหนังสือค้ำประกันให้แก่บริษัทเรือ (Shipping Guarantee) ซึ่งปัจจุบันธนาคารได้ออกบริการนี้ในรูปแบบหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์ (Shipping Guarantee on-line) เพื่อเพิ่มความสะดวกให้แก่ผู้ใช้บริการมากยิ่งขึ้น การให้บริการ Mobile Service รับส่งเอกสารเร่งด่วนที่ทำการของผู้ประกอบการ ให้บริการแนะนำวิธีการใช้และติดตั้ง SCB Trade เป็นต้น
นอกจากนี้ภายในปี 2543 ธนาคารตั้งเป้าขยายบริการโดยเปิดศูนย์การค้าต่างประเทศเพิ่มขึ้นอีก 9 แห่งเพื่อให้ครบ 30 แห่งครอบคลุมทุกพื้นที่ของประเทศ เพื่อรองรับกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ที่กำลังฟื้นตัวในขณะนี้ รวมทั้งเพื่อให้บริการแก่ลูกค้าของธนาคาร ในทุกภาคของประเทศ ให้ได้รับความสะดวกในการใช้บริการด้านการค้าต่างประเทศของธนาคารมากยิ่งขึ้น
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ (SCB Call Center) โทร 544-5000--จบ--
-นศ-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ