กรุงเทพฯ--6 ต.ค.--ศูนย์ปฏิบัติการพัฒนาหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO)
FIBO ทำ “ไทยภูมิใจไทย” ช่วยอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ลดพึ่งเทคโนโลยีต่างชาติ ล่าสุดลงนามสัญญากับเหล็กสยามยามาโตะเพื่อสร้างหุ่นยนต์เก็บหางเหล็กความร้อนสูง ลดต้นทุนนำเข้าเทคโนโลยีถึง 40 % เร่งพัฒนาใช้งานได้กุมภาพันธ์ปีหน้า พร้อม เปิดหลักสูตรโท-เอก ด้าน Robotics and Automation Program อีก 2 ปีข้างหน้า
ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการพัฒนาหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวถึงการพัฒนาระบบหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรมขนาดใหญ่ (Crop Collector Robot) ว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมต่าง ๆ มีการแข่งขันรุนแรงขึ้นเป็นลำดับกลยุทธ์หนึ่งที่ช่วยผู้ประกอบการแข่งขันได้ ในตลาดโลก คืออาศัยความสามารถเชิงเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมสนับสนุน (Supporting Industry) โดยเฉพาะ ด้านออกแบบและจัดสร้างระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติ ที่ผ่านมายังมิได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร ส่วนใหญ่เป็น การนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้ระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติมีราคาค่อนข้างสูง ต้นทุนการผลิตจึงสูงตามไปด้วย
ศูนย์ปฏิบัติการพัฒนาหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ตระหนักถึง ภาระความรับผิดชอบในฐานะเป็นผู้นำในการสร้างเทคโนโลยีอัตโนมัติให้เกิดขึ้นในประเทศ จึงลงนามร่วมมือ กับบริษัท เหล็กสยามยามาโตะ จำกัด พัฒนาระบบหุ่นยนต์อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เพื่อใช้ในสายการ ผลิตรีดเหล็กรูปพรรณ (H,I,C) โดยพัฒนาหุ่นยนต์ให้สามารถทำหน้าที่เก็บหางเหล็กน้ำหนัก 300 กิโลกรัม ขนาดยาว 500 - 2000 มิลลิเมตร ที่มีความร้อนสูงถึง 900 องศาเซลเซียส ออกจากสายการผลิตภายในเวลา 10 วินาที และทิ้งไปภายในเวลา 50 วินาที (Ieadtime) ก่อนเหล็กชุดใหม่จะเข้าสู่สายการผลิต
“ความร่วมมือกับสยามยามาโตะครั้งนี้ถือเป็นมิติใหม่ ที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมของไทยจะลด การพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ เพราะนอกจากจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าผลิตเองในประเทศถึง 40 % แล้ว ระบบที่ซื้อมานั้นบางฟังก์ชั่นก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณไปเปล่า FIBO ได้ตระหนักดีถึงปัญหานี้จึงออกแบบระบบอัตโนมัตินี้ให้ใช้งานได้อย่างเหมาะสมที่สุดและสิ้นเปลืองงบประมาณน้อย กว่าการนำเข้า” ดร.ชิตกล่าว
ทางด้านนายดำริ ตันชีวะวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เหล็กสยามยามาโตะ จำกัด กล่าวถึงการตัดสินใจ เลือกศูนย์ปฏิบัติการพัฒนาหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) เป็นผู้ออกแบบระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติว่า ที่ผ่านมา การเก็บหางเหล็กออกจากสายพานการผลิตจะมีปัญหาเรื่องเวลามาก ทำให้ไม่สามารถเดินเครื่องการผลิตได้ เต็มกำลัง ดังนั้นทางบริษัทจึงต้องการระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติเพื่อมาทำงานแทนมนุษย์ ซึ่งคาดว่าจะช่วย สามารถเพิ่มผลผลิตได้ในระดับหนึ่ง
นายดำริ ได้กล่าวอีกว่า บริษัทมีความเชื่อมั่นในทีมงานของ FIBO ซึ่งประกอบด้วยคณาจารย์, นักวิชาการ และนักศึกษาของ มจธ. ที่มีประสบการณ์สูงทางด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์อัตโนมัติ และที่สำคัญเป็นผลงาน ที่เกิดจากมันสมองของคนไทย จึงควรภาคภูมิใจและช่วยกันสนับสนุนเพื่อป้องกันเงินตราไหลออกนอกประเทศ โดยคาดว่าจะติดตั้งระบบแล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2544 นี้
นอกจากนี้ ศูนย์ปฏิบัติการพัฒนาหุ่นยนต์ภาคสนาม จะขยายผล “งานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม” นี้ ด้วยการ ร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาซูเซส (M.I.T) และมหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน (CMU) เปิดโปรแกรม การศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา (ปริญญาโท-เอก) ด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (Robotics and Automation Program : RAP) ขึ้นในปีการศึกษา 2545 เพื่อผลิตวิศวกรและนักวิจัยสายพันธุ์ใหม่ที่มีความสามารถออกแบบ และสร้างอุปกรณ์อัตโนมัติ
หากผู้ประกอบอุตสาหกรรมใดต้องการเข้าเป็นเครือข่ายของโปรแกรมศึกษานี้ หรือต้องการข้อมูล เพิ่มเติมเพื่อส่งพนักงานเข้าศึกษา ติดต่อ คุณอนุสรา มีชัย โทร.470-9339, 470-9129 โทรสาร 470-9111 ในวันและเวลาราชการ--จบ--
-อน-