กรุงเทพฯ--10 ส.ค.--อพวช.
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานในการแถลงข่าวความพร้อมการจัดงาน "มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2559" (National Science and Technology Fair Thailand 2016) ภายใต้แนวคิด "จุดประกายความคิด พัฒนาชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เสริมสร้างชาติด้วยเทคโนโลยี สู่วิถีแห่งนวัตกรรม" ที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่อลังการแห่งปี รวมสุดยอดนิทรรศการและกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีบนพื้นที่กว่า 40,000 ตารางเมตร ณ อาคารเอ็กซิบิชั่น ฮอลล์ 2-8 อิมแพ็ค เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ 18-28 สิงหาคม 2559 ตั้งเป้ามีผู้เข้าชมงานเป็นเยาวชน ครอบครัว และประชาชนทั่วไปกว่า 1.2 ล้านคน
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2559 จัดขึ้นเนื่องในสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว "พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย" และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว "พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย" และ "พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย" อีกทั้ง เพื่อร่วมฉลองวาระสำคัญทางวิทยาศาสตร์ในโอกาสที่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ได้ตั้งให้ปี 2559 เป็น "ปีสากลแห่งถั่วพัลส์" หรือ "2016 International year of PULSES" อีกด้วย
มหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ถือเป็นกิจกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งปีของประเทศและภูมิภาคเอเชีย ในการแสดงผลงานความก้าวหน้าและศักยภาพทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีที่ทันสมัย พร้อมด้วยศักยภาพของนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ของไทยและต่างประเทศ รูปแบบของกิจกรรมในงานคล้ายเทศกาลวิทยาศาสตร์ (Science Festival) ในหลายประเทศ คือประกอบด้วย การจัดนิทรรศการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในรูปแบบทันสมัยที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าชมมีส่วนร่วม (Interactive Exhibition) โดยเน้นหัวข้อที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วย New S-curve มุ่งสู่ Thailand 4.0 รวมทั้งได้มีการนำแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องสะเต็มศึกษา (STEM Education) มาใช้ในการจัดกิจกรรมในรูปแบบ เล่น-เรียน-รู้ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ภายใต้กรอบแนวคิด "จุดประกายความคิด พัฒนาชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เสริมสร้างชาติด้วยเทคโนโลยี สู่วิถีแห่งนวัตกรรม"
โดยในปีนี้เป็นการผนึกกำลังร่วมกันของ 9 กระทรวง 18 สถาบันการศึกษา และประเทศเข้าร่วมอีก 6 ประเทศ มากกว่า 100 หน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน และปีนี้ยังได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างประเทศมากกว่า 10 หน่วยงานเข้าร่วมจัดกิจกรรมแสดงความก้าวหน้าและเทคโนโลยี ได้แก่ ญี่ปุ่น (8 หน่วยงาน) สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา เยอรมัน ออสเตรเลีย และเวียดนาม เพื่อกระตุ้นความสนใจแก่นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ และประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสริมสร้างแรงบันดาลใจแก่เยาวชนที่ต้องเติบโตและเป็นแรงสำคัญของประเทศในวันข้างหน้า รวมถึงการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน
รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวเสริมถึงความยิ่งใหญ่ของงานในครั้งนี้ว่า ภายในงานมีหลากหลายโซน มากมายกิจกรรมและองค์ความรู้ให้ทุกคนได้เข้าไปมีส่วนร่วม ตั้งแต่นิทรรศการเทิดพระเกียรติ นิทรรศการและกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นิทรรศการปีสากลแห่งถั่วเมล็ดแห้ง (UNESCO International Year of Pulses) แนวคิดตามนโยบาย Food Innopolis การประกวดและแข่งขันทางวิทยาศาสตร์ การประชุม สัมมนา และการแสดงสินค้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมการนำเอาเทคโนโลยีและมัลติมีเดียใหม่ๆ มาใช้ในการจัดแสดง เพื่อสร้างประสบการณ์ เปิดมุมมองการเรียนรู้ผ่านสื่อ Interactive กับนิทรรศการรูปแบบ 4D Simulator ช่วยสร้างความสุข สนุกสนาน และเกิดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้นแล้ว การจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ในปีนี้ยังมีการผนวกรวมงานเทคโนโลยีและนวัตกรรมของไทยประจำปี 2559 หรือ Techno Mart 2016 เข้าไว้ด้วยกันอีกด้วย เน้นการนำเสนอเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อประชารัฐ ภายใต้โครงการยกระดับโอทอปด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (STI For OTOP Upgrade) จัดแสดงเทคโนโลยีสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมที่ผลิตโดยคนไทย รวมทั้ง นำผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ ที่จะช่วยสร้างความตระหนักทางวิทยาศาสตร์ให้แก่เยาวชน รวมทั้งภาคเอกชนและประชาชนมาจัดแสดงในครั้งนี้ด้วย ซึ่งเป็นผลงานที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ในเชิงพาณิชย์ ช่วยเพิ่มผลผลิตในภาคเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และเกษตรกรรมทั้งในระดับครัวเรือน ระดับชุมชน และระดับประเทศ
มหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ในปีนี้ ได้มีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับปรุงรูปแบบการจัดแสดงนิทรรศการให้มีความทันสมัย น่าสนใจมากยิ่งขึ้น เพิ่มกิจกรรมสำหรับทุกเพศทุกวัยให้ได้ร่วมสนุกและทดลอง โดยมีนิทรรศการไม่ควรพลาด คือ นิทรรศการเทิดพระเกียรติ (Royal Pavilion) นำเสนอพระวิสัยทัศน์และอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว "พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย" และนำเสนอพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช "พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย และ พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย" รวมทั้ง นำเสนอพระอัจฉริยภาพของพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ทรงมีบทบาทและให้ความสำคัญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ดร.พิเชฐฯ กล่าวแนะนำเพิ่มเติมอีกว่า นิทรรศการหลัก ที่มีการนำเสนอเนื้อหาที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (New Growth Engine) ของประเทศให้มีการเจริญเติบโตก้าวไกลด้วยการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ หรือ New S-curve อาทินิทรรศการยานยนต์แห่งอนาคตและการขนส่ง ตื่นตาตื่นใจไปกับยานยนต์สมัยใหม่ที่มีระบบการทำงานประสิทธิภาพสูง ทั้งความปลอดภัยและกำลังส่ง ยานยนต์ที่ขนส่งผู้โดยสารจำนวนมาก เช่น ระบบราง พบกับ รถโฟมสะเทินน้ำสะเทินบก ยานยนต์สำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการในอนาคต รถตุ๊กตุ๊กพลังงานแสงอาทิตย์ นิทรรศการนวัตกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ร่วมตะลุยโลกหุ่นยนต์ เทคโนโลยีการพัฒนาหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม การประยุกต์ใช้หุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมต่างๆ นิทรรศการการแพทย์ในยุคดิจิตอล นำเสนอเกี่ยวกับการพัฒนาและประยุกต์เทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยีวิศวกรรมในการส่งเสริมสุขภาพ และการรักษาทางการแพทย์ในอนาคต Telemedicine, Neuro-marketing และการรักษาด้วยหุ่นยนต์ พบกับไฮไลท์ "หุ่นยนต์ดินสอมินิ" หุ่นยนต์บริการและดูแลผู้สูงอายุ ได้ภายในงาน เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการ ที่ให้ความรู้ความเข้าใจและสร้างความตระหนักให้เกิดขึ้นในสังคม และเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันทั้งในปัจจุบันและอนาคต อาทิ นิทรรศการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก สัมผัสประสบการณ์ ภาพยนตร์ "The Last Day" ในรูปแบบ 4D Simulator ที่ทุกคนรอคอย...สนุกและตื่นเต้นไปกับเทคนิคต่างๆ กับจำลองสถานการณ์เสมือนจริง ท่ามกลางอุบัติภัยทางธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย 4D Effect สมจริง โดยการพาทุกคนย้อนเวลากลับไป ณ จุดกำเนิดโลก เรียนรู้เรื่องราวช่วงเวลาสำคัญที่ผ่านมาของโลกถึงยุคปัจจุบันที่มนุษย์อาจต้องสูญสิ้นทุกอย่าง เพื่อให้ตระหนักถึงปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นกับโลกของเราและการช่วยกันแก้ปัญหาเพื่อการดำรงอยู่อย่างสมดุลบนโลกใบนี้ นิทรรศการอนาคตเทคโนโลยีชีวภาพโลก รู้จักอารยธรรมการหมัก เทคโนโลยีชีวภาพที่เก่าแก่และใกล้ตัวที่สุด ตั้งแต่สมัยอียิปต์โบราณ ไวน์ฤาจะเทียบชั้นปลาร้า พบกับ "ไหดินเผา" สูดกลิ่นและชมการเปลี่ยนสภาพของปลาร้า อาหารหมักไม่เคยเอ้าท์ เพลิดเพลินกับการค้นหาความรู้ใน Bio Lab ตลาดรวมสินค้า Bio Mart และสำรวจอาชีพในฝัน Bio Job ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ตื่นตาตื่นใจกับการค้นพบแมลงชนิดใหม่ของโลกที่ได้รับพระราชทานชื่อจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้แก่ มดทหารเทพา ตั๊กแตนคูหารัตน์ และ ผีเสื้อรัตติสิริน นิทรรศการ Miracle of Science : มหัศจรรย์แห่งไข่ จุดกำเนิดชีวิต...จุดกำเนิดเรา สัมผัส "ไข่ที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย" นิทรรศการเมืองแห่งถั่ว ฉลองปีสากลแห่งถั่วพัลส์ รู้จักถั่วพัลส์ชนิดต่างๆ เพลิดเพลินกับเกมส์บิงโก ร่วมสนุกกับการปลูกถั่วพัลส์ โชว์การทำอาหารจากถั่วพัลส์ ยิ่งไปกว่านั้นภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ยังมีนิทรรศการและกิจกรรมสำหรับเยาวชน ได้แก่ นิทรรศการ Enjoy Makerspace จากนักประดิษฐ์สู่นวัตกรรม สร้างความรู้ความเข้าใจและแรงบันดาลใจเกี่ยวกับการเรียนรู้ในแนวทาง STEM Education ผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์และต่อยอดสู่อาชีพที่เกี่ยวข้องกับ วทน. พบกับ Maker's Showcase กิจกรรม Kid Maker, Maker Studio ชมสาธิต 3D Printing 3D Stereoscopic Print Pen รวมทั้ง ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ลานกิจกรรมพัฒนาปัญญาเยาว์ ลานกิจกรรมประกวดแข่งขัน ห้องฉายภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ เป็นต้น
ด้านนายสาคร ชนะไพฑูรย์ รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.)กล่าวถึงความพร้อมในการจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ปีนี้ว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้นำงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ กลับมาจัดในเดือนสิงหาคมอีกครั้งในปีนี้ เพื่อให้ตรงกับเดือนแห่งวันวิทยาศาสตร์ของไทย ซึ่งมีความยิ่งใหญ่อลังการกว่าทุกปีที่ผ่านมา เต็มพื้นที่อาคารเอ็กซิบิชั่น ฮอลล์ 2-8 อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยมีการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อความสมบูรณ์พร้อมในทุกๆด้าน ทั้งด้านสถานที่ ระบบสาธารณูปโภค ระบบการจราจร การบริการรถรับ-ส่ง การปฐมพยาบาล การรักษาความปลอดภัย การบริการต้อนรับ ร้านค้าร้านอาหาร พร้อมเจ้าหน้าที่ที่มีประสบการณ์ในการดูแลต้อนรับและอำนวยความสะดวกผู้เข้าชมงานที่คาดว่าปีนี้จะมีมากถึงกว่า 1.2 ล้านคน
ดร.พิเชฐฯ กล่าวทิ้งท้ายอีกว่าขอเชิญชวนเยาวชนและประชาชนทุกท่านเข้าชมงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ปี 2559 ที่จะจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ระหว่างวันที่ 18-28 สิงหาคม 2559 เวลา 09.00-19.00 น. ณ อาคารเอ็กซิบิชั่น ฮอลล์ 2-8 อิมแพ็ค เมืองทองธานี ร่วมสนุกและเรียนรู้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ทุกคนสามารถเข้าชมได้อย่างเพลิดเพลิน โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเข้าชมและร่วมกิจกรรม และอย่าลืมพบกับ 2 ดาราดังพรีเซนเตอร์ของงาน อาเล็ก ธีรเดช เมธาวรายุทธ และ พรีม รณิดา เตชสิทธิ์ ที่จะมาร่วมสร้างสีสันในงานครั้งนี้ด้วย
ติดตามข้อมูลข่าวสารและรายละเอียดงาน ได้ที่ www.nsm.or.th/sciencenstfair หรือ Facebook : มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือสอบถามข้อมูลที่ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ โทร. 0 2577 9960