กรุงเทพฯ--25 ม.ค.--ศูนย์ซื้อขายตราสารหนี้ไทย
จะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องทั้งในตลาดแรกและตลาดรอง จากปัจจัยหนุนของของภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ การพัฒนาเครื่องมือทางการเงินและโครงสร้างพื้นฐานของตลาดตราสารหนี้
พัฒนาการของตลาดตราสารหนี้คาดว่าจะเติบโตอย่างมั่นคงต่อไป โดยปริมาณการออกตราสารหนี้ภาครัฐในปี 2544 จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวเป็นประมาณ 469.4 พันล้านบาท เป็นผลจากการออกพันธบัตรของกองทุนฟื้นฟูฯที่มีรัฐบาลค้ำประกันจำนวนประมาณ 200 พันล้านบาท ที่เหลือเป็นการออกพันธบัตรเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณและพันธบัตรรัฐวิสาหกิจในจำนวนที่ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ตราสารหนี้ภาคเอกชนนั้นคาดว่าจะมีออกในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้นและอาจมีคุณสมบัติในส่วน credit enhancement เพื่อเพิ่มความน่าสนใจในการลงทุน แต่ในด้านปริมาณการออกนั้นคาดว่าจะลดลงและมีจำนวน 85 พันล้านบาทเนื่องจากมีการออกตราสารหนี้ในช่วงสองปีที่ผ่านมาเป็นจำนวนมากทำให้จำนวนบริษัทที่จะออกตราสารในปีนี้มีจำนวนน้อยลง อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์ข้างต้นนี้มิได้รวมปัจจัยด้านนโยบายการคลังของรัฐบาลใหม่
ในด้านปริมาณการค้าตราสารหนี้จะมีความหนาแน่นต่อไปโดยมีปริมาณซื้อขายเฉลี่ยวันละ 7.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 38 จากวันละ 5.5 พันล้านบาทในปี 2543 โดยมีอัตราหมุนเวียนการซื้อขายเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็นร้อยละ 115 สำหรับยอดคงค้างตราสารหนี้ที่ขึ้นทะเบียนกับศูนย์ซื้อขายฯจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 28 เป็น 1,621.2 พันล้านบาท การคาดการณ์นี้มีสมมุติฐานจากปัจจัยต่างๆ ได้แก่ อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ที่จะยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าการลงทุนประเภทอื่นๆด้วยความเสี่ยงที่เท่ากัน และปัจจัยหนุนของการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำของทางการ ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนจะไม่สูงเท่าในปีที่ผ่านมาเนื่องจากระดับอัตราดอกเบี้ยที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำในปัจจุบันเพื่อวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจ ปัจจัยด้านการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยด้าน Open Market Operation คาดว่าจะดำเนินการได้มากขึ้นภายหลังการเริ่มใช้นโยบาย Bilateral Repo กับ Primary Dealers ดังนั้นจึงส่งผลบวกต่อปริมาณการซื้อขาย
ปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของการค้าตราสารหนี้ที่สำคัญอีกสองประการคือ นโยบายการออกตารางการประมูลล่วงหน้าของพันธบัตรภาครัฐเพิ่มเติมจากปีที่ผ่านมา รวมทั้งการสร้างอัตราอ้างอิงต่างๆเพื่อให้การกำหนดราคาซื้อขายมีความโปร่งใสมากขึ้น ทั้งนี้ศูนย์ซื้อขายฯได้ทำหน้าที่ในการประมวลข้อมูลและนำเผยแพร่แก่นักลงทุนประเภทต่างๆ โดยอัตราอ้างอิงสำหรับตราสารหนี้ระยะสั้น 1 และ 3 เดือนอ้างอิงจากตั๋วเงินคลังนั้นคาดว่าจะประกาศได้ในไตรมาสแรก และปัจจัยสุดท้ายที่มีความสำคัญต่อพัฒนาการของตลาดตราสารหนี้เป็นอย่างมากคือการพัฒนาระบบการค้าตราสารหนี้ให้เป็นการทำงานแบบอิเลคโทรนิคส์ ศูนย์ซื้อขายตราสารหนี้ไทยอยู่ระหว่างการดำเนินการศึกษาในรูปแบบที่เหมาะสมกับเงื่อนไขของตลาดในประเทศ ในขณะเดียวกันขบวนการทำงานของการค้าตราสารหนี้ทั้งในด้านการส่งมอบและการชำระเงินอยู่ในระหว่างการปรับปรุงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีความสะดวก รวดเร็วและแม่นยำยิ่งขึ้น ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสร้างฐานรากของการเติบโตของตลาดตราสารหนี้ให้มีต่อเนื่องและมีความมั่นคงต่อไป--จบ--
-นศ-