กรุงเทพฯ--10 ส.ค.--องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ
เด็กไทยคว้ารางวัลที่ 1 ทั้งระดับ ม.ต้น และ ม.ปลาย บนเวทีการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์เยาวชนกลุ่มประเทศอาเซียน ครั้งที่ 2 เวทีการประกวดทางวิทยาศาสตร์ระดับสากลที่มีนักเรียนมัธยมศึกษาในกลุ่มประเทศอาเซียนมาร่วมแข่งขันและแสดงผลงาน ที่พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ อพวช. ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี
นางกรรณิการ์ วงศ์ทองศิริ รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เปิดเผยว่า จากการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์เยาวชนกลุ่มประเทศอาเซียน ครั้งที่ 2 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ โดยการผนึกกำลังของ อพวช. และสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ระหว่างวันที่ 25 – 29 กรกฎาคม 2559 ที่พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ อพวช. ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ซึ่งการแข่งขันในครั้งนี้มีเยาวชนจาก 8 ประเทศสมาชิกอาเซียนเข้าร่วมแข่งขันและแสดงผลงานกว่า 41 โครงงาน ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม เมียนมาร์ ลาวและไทย ผลปรากฏว่า เยาวชนไทยสามารถคว้ารางวัลที่ 1 มาได้ 2 รางวัล ทั้งระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ในสาขาวิทยาศาสตร์ทั่วไป จากโครงงาน "การศึกษาผลการประยุกต์นิวเมติกส์ (ลม) และระบบควบคุมอัตโนมัติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการล้างแอร์ด้วยเครื่องล้างแอร์อัตโนมัติ" ผลงานของนายธีรภัทร์ สนองญาติ และนายรังสิมันต์ กุลเพชรจิระ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 (ส่งผลงานเข้าประกวดในขณะศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3) จากโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม จ. พิษณุโลก และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ในสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ จากโครงงาน "การเพิ่มผลผลิตของมะนาวพันธุ์แป้นรำไพ โดยใช้สารสกัดจากพืชท้องถิ่น" ของนางสาวไพรินทร์ ชัยมณี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และนายภูริพงษ์ ทังสมบัติ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มอดินแดง) จ.ขอนแก่น
"กิจกรรมนี้ อพวช. และสมาคมวิทยาศาสตร์ฯ ริเริ่มขึ้นเพื่อหาเวทีให้เยาวชนในกลุ่มอาเซียนได้มีเวทีประกวดโครงงานด้านวิทยาศาสตร์ที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เทียบเท่างานประกวดผลงานทางวิทยาศาสตร์อื่น ๆ ในระดับโลก โดยการประกวดแบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (Grade 7 – 9) มีสาขาเดียว คือ วิทยาศาสตร์ทั่วไป และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (Grade 10 – 12) มี 3 สาขา ได้แก่ วิทยาศาสตร์กายภาพ วิทยาศาสตร์ชีวภาพ และนวัตกรรมสร้างสรรค์ (วิทยาศาสตร์ประยุกต์) การได้รับรางวัลของเยาวชนไทยในครั้งนี้ จึงถือเป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยในเวทีระดับอาเซียน แต่สิ่งที่ได้ประเทศไทย ได้ในภาพใหญ่กว่านั้นคือ การเป็นผู้นำในภูมิภาคในการจัดที่ส่งเสริมให้เยาวชนอาเซียนได้ใช้ทักษะกระบวนการ ทางวิทยาศาสตร์สร้างสรรค์แนวคิดด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่สามารถนำไปบูรณาการแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวัน ในประเทศของตน ตลอดจนในภูมิภาคของเราได้" นางกรรณิการ์ฯ กล่าว
นายธีรภัทร์ สนองญาติ ผู้คว้าที่ 1 ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น กล่าวถึงรางวัลที่ได้รับครั้งนี้ว่า ดีใจและภูมิใจมากที่โครงงานวิทยาศาสตร์ที่ตนและเพื่อนพัฒนาขึ้นสามารถคว้ารางวัลที่ 1 มาได้ และขอขอบคุณอาจารย์สาธิต อธิวาส อาจารย์ที่ปรึกษาที่ทุ่มเทกับพวกตนมาตลอด 3 ปี โดยโครงงานนี้จะเป็นการใช้ระบบนิวเมติกส์หรือลมในการขับเคลื่อนส่วนต่าง ๆ ของเครื่องล้างแอร์อัตโนมัติที่พวกตนประดิษฐ์ขึ้น ซึ่งมีหัวฉีดล้างขนานกับแผงคอยล์แอร์ ควบคุมสั่งการด้วยภาษา C ผ่านกล่องควบคุม เครื่องล้างแอร์อัตโนมัตินี้สามารถปรับระดับความสูงได้ถึง 4 เมตร และปรับระดับตามขนาดความกว้างของแอร์ได้ ที่สำคัญหัวฉีดยังทำงานได้แบบทรีอินวัน ( Three in one) คือ ฉีดน้ำยา ฉีดน้ำล้าง และเป่าลมให้แห้งได้ การใช้เครื่องนี้มาช่วยในการล้างแอร์นอกจากจะทำให้สะดวกแล้ว ยังประหยัดทั้งเวลา น้ำ ไฟ และยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
ด้านนายภูริพงษ์ ทังสมบัติ แชมป์ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายกล่าวว่า โครงงานนี้เกิดจากความตั้งใจของตนและเพื่อนที่ต้องการจะช่วยเกษตรกรผู้ปลูกมะนาวเพิ่มผลผลิต โดยเฉพาะพันธุ์แป้นรำไพ โดยเริ่มต้นพวกตนได้เข้าไปศึกษาถึงสาเหตุที่ทำให้มะนาวให้ผลผลิตต่ำ พบว่า สาเหตุแรกเกิดจากแมลงเข้าทำลาย ทำให้มะนาวเกิดบาดแผล ส่งผลให้เชื้อโรคเข้าไปได้ และทำให้เกิดโรคพืช เช่น โรคแคงเกอร์ (Citrus Canker) พวกตนจึงได้ทดลองนำต้นน้ำนมราชสีห์มาสกัดหยาบ แล้วนำไปกำจัดแมลงที่เข้ามาทำลาย เช่น หนอนชอนใบ เป็นต้น พบว่าสามารถกำจัดแมลงที่เข้ามาทำลายได้ดี ส่วนสาเหตุที่สอง เป็นเรื่องของลักษณะทางชีววิทยาของดอกมะนาว ซึ่งปกติจะมีสีขาวและมีกลิ่นอ่อน อีกทั้งไม่ใช่ดอกสมบูรณ์เพศที่สามารถผสมเกสรเองได้ พวกตนจึงคิดหาวิธีล่อให้แมลงมาช่วยในการผสมเกสร โดยใช้สารสกัดน้ำมันหอมระเหยจากกระเพราป่า ซึ่งมีกลิ่นหอมที่แมลงชอบ จึงช่วยล่อให้แมลงเข้ามาผสมเกสรให้ดอกมะนาวได้
นางสาวไพรินทร์ ชัยมณี สมาชิกอีกคนของทีมกล่าวต่อว่า ผลงานของพวกตนสามารถช่วยเพิ่มผลผลิตให้เกษตรกรได้ จากเดิมที่ติดผลร้อยละ 33.47 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 85.71 ซึ่งเป็นการเก็บสถิติจากแปลงที่เพาะปลูกจริงของเกษตร ล่าสุดพวกตนยังได้พัฒนาสารสกัดหยาบจากต้นน้ำนมราชสีห์มาเป็นผลิตภัณฑ์ "ผงน้ำนมราชสีห์" เพื่อให้สะดวกต่อการใช้งาน และได้แจกจ่ายให้เกษตรกรในท้องถิ่นนำไปทดลองใช้แล้ว