TFG ติดปีกบิน! งบ Q2/59 กำไรสุทธิพุ่ง 671 ลบ. เพิ่มขึ้นกว่า 233 % มั่นใจยอดขายทะลุเป้า 2 หมื่นลบ. ตอกย้ำเทิร์นอะราวด์ทุกมิติ

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday August 10, 2016 15:17 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 ส.ค.--IR network บมจ.ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป (TFG) โชว์กำไรก้าวกระโดดขึ้นอีกระดับ งบไตรมาส 2/59 แจ่มเว่อร์ กวาดรายได้รวมกว่า 5,242 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29.7 % กำไรก่อนภาษี 738 ล้าน กำไรสุทธิ 671ล้านบาท หรือรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 1,120 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน(ขาดทุน449 ล้านบาท) รายได้ไตรมาสต่อไตรมาส โต 13% ตามแผน กำไรสุทธิเติบโตก้าวกระโดด233% (ไตรมาส 1 กำไร 201 ล้านบาท) จากผลการลดต้นทุนและ เพิ่มรายได้ กำไรทุกกลุ่มธุรกิจ ไก่ สุกร อาหารสัตว์ โดยปรับพอร์ตการขายไก่เข้าสู่ตลาดส่งออก โมเดิร์นเทรด และ สาขาต่างจังหวัด ขณะที่ราคาเฉลี่ยดีขึ้นเล็กน้อย ส่วนธุรกิจสุกรขยายตัวต่อเนื่อง และราคาสุกรเพิ่มขึ้น ธุรกิจอาหารสัตว์กำไรต่อเนื่อง "เชิดศักดิ์ กู้เกียรตินันท์"ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กล่าวว่า การเดินทางสร้างหุ้นไทยฟู้ดส์ให้เป็นหุ้นพื้นฐานแข็งแกร่ง เพิ่งจะเริ่มต้นยังถือว่าเป็นเวอร์ชั่น TFG 1.0 ยังมีเรื่องต้องทำอีกหลายขั้นเพื่อที่จะสร้างผลตอบแทนผู้ถือหุ้นและ มูลค่าหุ้น ต่อเนื่องยั่งยืน มั่นใจรายได้ปีนี้โต ประมาณ 15% ตามเป้าหมาย ยอดรายได้รวม น่าจะทะลุเป้า 2 หมื่นล้านบาท ตามแผน หลังเดินหน้าเพิ่มปริมาณการผลิตไก่ ต้นทุนต่ำลง เน้นส่งออกเพิ่ม และ ขยายสุกรเลี้ยงในประเทศ บวกขยายธุกิจเวียตนาม ได้อานิสงส์ราคาสูงขึ้นใน ไตรมาส 2 ป้อนตลาดทั้งในและต่างประเทศ พร้อมขยายตลาดไส้กรอกไก่ และ อาหารสัตว์ภายนอกเครือไปพร้อมกัน ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2559 บริษัทฯ สร้างรายได้รวม 9,869 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,711 ล้านบาท หรือ 21 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 8,158 ล้านบาท และปีนี้ครึ่งปีแรก มีกำไรสุทธิรวม 871 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,800 ล้านบาท หรือ 193 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุน 929 ล้านบาท จะเห็นได้ว่า บริษัทสามารถเพิ่มรายได้ในเกณฑ์ดีพอสมควร และ เพิ่มกำไรได้มากกว่าเนื่องจาก การบริหารต้นทุนและประสิทธิภาพการผลิต ของ FEED FARM FOOD ในครึ่งปีแรกนี้ กำไรสุทธิต่อหุ้น(EPS) สะสมครึ่งปีแรกอยู่ที่ 0.17 บาท กำไรขั้นต้น 11% ROE 17% ผลประกอบการไตรมาส 2/59 ที่มีกำไรก่อนภาษี 738 ล้านบาท กำไรสุทธิ 671 ล้านบาท เติบโต (Earning Growth)ต่อแบบก้าวกระโดดจากไตรมาส 1/59 ถือเป็นบันไดอีกขั้นหนึ่งของการเทิร์นอะราวด์ของ TFG โดยเปลี่ยนขาดทุนเป็นกำไรชัดเจนในไตรมาส 1 โดยลดต้นทุน ปรับพอร์ตการขาย ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ขยายกำลังผลิต และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าของบริษัทฯ แผนธุรกิจในครึ่งหลังปีนี้ บริษัทจะ เดินหน้า ตามแผนกลยุทธ์การแข่งขันเดิม บวก สินค้าไก่ใหม่ เพื่อปูพื้นฐานเข้าสู่การสร้างธุรกิจไก่ปรุงสุกใหม่ โดยตั้งบริษัทใหม่ ไทยฟู้ดส์ เฟอร์เธอร์ ขยายกำลังการผลิตสุกรชำแหละเพิ่มที่ภาคตะวันออก และ ภาคอีสาน เพิ่มพันธมิตรสุกรปรุงสุก เพิ่มพันธมิตร ขยายวงเลี้ยงไก่ และเพิ่มโรงชำแหละไก่ และ สุกร ในประเทศ ไทยฟูดส์ ขยายสาขาต่างจังหวัดต่อเนื่องเพื่อรองรับสินค้าใหม่ เช่นไส้กรอกไก่ และ สุกรชำแหละ บริษัทมีแผนงานที่จะขยายการลงทุนในธุรกิจต่อเนื่อง และกระจายเข้าสู่ภาคใต้และภาคอิสาน ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (TFG) กล่าวถึงแผนการขยายตลาดว่า ในส่วนของการขยายตลาดภายในประเทศ บริษัทฯเปิดสาขาเพิ่มเป็น 55 สาขา ในปีหน้า จากปัจจุบันอยู่ที่ 44 สาขา โดยยังจะเน้นลูกค้ากลุ่มตลาดสด และกลุ่มผู้ค้ารายใหญ่ อีกทั้งยังมีการขยายตลาดส่งสุกรให้กับลูกค้าโมเดิร์นเทรดโซนภาคตะวันออก ส่วนตลาดฟู้ดส์เซอร์วิส เติบโตได้ค่อนข้างสูงและมี ร้านอาหารเชนเข้าเป็นลูกค้าหลายราย ในไตรมาส 3 และ 4 จะมีสินค้ากลุ่มใหม่ เกิดขึ้นอีก เพื่อเสริมสินค้าพื้นฐานที่มีอยู่แล้วให้หลากหลายมากขึ้น ส่วนแผนการขยายตลาดต่างประเทศซึ่งซื้อขายกันเป็นดอลล่าห์ บริษัทฯมีออเดอร์ส่งออกไปญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและราคาที่สูงขึ้น ส่วนยุโรปชะลอการสั่งระยะสั้น เนื่องจากผลกระทบเบร็กซิทแต่ยังมีออร์เดอร์รอส่งอยู่เป็นจำนวนมาก จากที่ขายล่วงหน้า 3 เดือน และยังมีการขยายการเลี้ยงสุกรในเวียดนามเพิ่ม และ มีแผนขยายโรงงานผลิตอาหารสัตว์เพิ่ม ซึ่งจะช่วยผลักดันรายได้จากการส่งออกและต่างประเทศ เพิ่มขึ้นเป็น 20% รายได้รวม และ ตั้งบริษัทใหม่ ไทยฟู้ดส์เวียตนาม ที่ประเทศเวียตนาม เพื่อเสริมกำลังและเปิดช่องทางการขยายตลาดและสินค้าต่อเนื่อง เป้าหมายธุรกิจในเวียตนาม 900 ล้านบาทในปีหน้า อย่างไรก็ตาม บริษัทฯยังต้องเผชิญและบริหารความเสี่ยงในหลายด้านประกอบด้วยความเสี่ยงของโรคระบาด ราคาตลาดของสินค้าไก่และสุกรที่ขาย ราคาวัตถุดิบนำเข้าเช่น กากถั่วเหลืองและข้าวสาลี วัตถุดิบในประเทศ เช่น ข้าวโพด และ การลงทุนในเครื่องจักรเพื่อขยายการผลิต ซึ่งต้องใช้เงินสกุลต่างประเทศ ในขณะที่บริษัทมีรายได้ส่วนใหญ่เป็นเงินบาท และ เงินดอลล่าห์จากการขายส่งออก บางส่วน ทำให้บริษัทยังต้องบริหารความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ