กรุงเทพฯ--10 ส.ค.--Lead Business Institute
คุณไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด ให้เกียรติมาเป็นวิทยากรในหลักสูตรผู้นำธุรกิจระดับโลก (Global Business Leaders: GBL) ซึ่งเป็นหลักสูตรที่มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพและศาสตร์แห่งความเป็นผู้นำไทยให้ก้าวไกลระดับเวทีโลกที่ทาง ดร. สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานกิตติคุณ สถาบัน ลีด บิซิเนส ได้ร่วมมือกับ The Industrial Labor Relations School (ILR) จากมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ มหาวิทยาลัยชั้นนำจากสหรัฐอเมริกา ในการจัดหลักสูตรนี้ขึ้น
ทั้งนี้ คุณไพบูลย์ นลินทรางกูร ได้ให้การอบรม เกี่ยวกับ ตลาดทุนโลก และกระแสเทคโนโลยีทางการเงิน (Global Capital Markets & Financial Technology) ณ โรงแรม สยาม เคมปินสกี้ โดยมีเนื้อหาโดยสรุปดังนี้
ภาพรวมตลาดทุนโลก และกระแสเทคโนโลยีทางการเงิน (Global Capital market and Fin-tech)ตลาดการเงิน ประกอบด้วยตลาดเงินและตลาดทุน ซึ่งตลาดทุนประกอบด้วยตลาดตราสารหนี้ (เช่น พันธบัตรรัฐบาล และหุ้นกู้) ตลาดหุ้น (เช่น หุ้นสามัญ, ตราสาร ETF, กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน) และตลาดอนุพันธ์ (เช่น สัญญาซื้อขายล่วงหน้า)
ในปัจจุบัน ตลาดทุนมีความสำคัญเป็นอย่างมากมาก โดยสังเกตได้จากขนาดของตลาดทุนโลกมีมูลค่าสูงถึง 153.97 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ GDP โลก มีมูลค่าเพียง 73.17 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยส่วนใหญ่ ประเทศที่พัฒนาแล้ว อาทิ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และ ประเทศญี่ปุ่น จะมีตลาดทุนที่มีขนาดใหญ่กว่ามูลค่า GDP ถึง 3-4 เท่า โดยที่สัดส่วนของมูลค่าสินเชื่อในสหรัฐอเมริกามีเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ (หรือ 8.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) ของตลาดทุนเท่านั้น ทั้งนี้ การเติบโตของตลาดทุนส่วนหนึ่งเกิดจากบริษัทยักษ์ใหญ่เน้นออกตราสารหนี้มากกว่าสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากใช้ต้นทุนที่ต่ำกว่า
แนวโน้มการเติบโตของตลาดทุนยังส่งต่อมาถึงกลุ่มประเทศในทวีปเอเชียอีกด้วย อาทิเช่น ประเทศสิงค์โปร์ที่มีขนาดตลาดทุนใหญ่กว่า GDP ถึง 3 เท่า หรือแม้แต่ตลาดทุนของประเทศไทยก็มีการเติบโตเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ
จากข้อมูลในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2558 ตลาดทุนของประเทศไทยมีมูลค่าสูงกว่า GDP ถึง 174% และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเรื่อยๆ หากเปรียบเทียบกับสภาวะตลาดในปี พ.ศ.2540 ที่มีวิกฤตต้มยำกุ้ง มูลค่าของตลาดทุนยังมีสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับตลาดสินเชื่อที่สูงถึง 128% อย่างไรก็ตาม ภายหลังวิกฤติเศรษฐกิจดังกล่าว สัดส่วนของตลาดทุนได้มีการขยายตัวมากขึ้น เทียบเท่ากับตลาดสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ และมีแนวโน้มที่จะมีบทบาทมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ตลาดสินเชื่อมีบทบาทลดลง เนื่องจากประชาชนได้ลดภาวะการพึ่งพาสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์
ยิ่งไปกว่านั้น พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภคที่เกิดจากการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของเทคโนโลยีและอินเตอร์เน็ต ส่งผลให้ตลาดทุนเติบโตมากขึ้น และทำให้ Fin-tech หรือการใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยีเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการทางการเงินด้านต่างๆ เป็นกระแสในปัจจุบัน
Jamie Dimon ประธานบริษัท JP Morgan Chase ได้กล่าวไว้ว่า "Silicon Valley is Coming" และ คุณ Antony Jenkins อดีต CEO ของธนาคาร Barclay ได้กล่าวว่า "Banking is reaching its Uber moment" ซึ่งหมายความว่าตลาดทางการเงินไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ในวงของธนาคารพาณิชย์อีกต่อไป แต่มีการใช้เทคโนโลยีทำให้ธุรกรรมทางการเงินสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น และโฉมหน้าการบริการทางการเงินจะเปลี่ยนไป ซึ่งทางผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ดร.วิรไท สันติประภพก็เห็นพ้องเช่นกัน
มีบริษัท IT หลายบริษัทที่เล็งเห็นถึงโอกาสนี้ โดยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาแข่งขันกับธนาคารพาณิชย์ โดยตัวอย่างของ Fin-tech ในแบบต่างๆ มีดังนี้ 1) การจ่ายเงินผ่านระบบออนไลน์ เช่น PayPal ซึ่งมีมาตรฐานความปลอดภัยระดับสากลและได้รับความไว้วางใจจากทั่วโลก 2) การระดมทุนแบบ Crowd Funding ซึ่งเจ้าของกิจการสามารถระดมทุนได้โดยผ่านเวปไซด์ และไม่ต้องเสียค่าดำเนินการผ่านตัวกลางแต่อย่างใด 3) การให้สินเชื่อออนไลน์ เช่น Bolstr ที่สามารถอนุมัติวงเงินสินเชื่อ ถึง 500,000 ดอลล่าห์สหรัฐ โดยมีระยะเวลาจ่ายคืน 2-5 ปี โดยการอนุมัติสินเชื่อสามารถทำได้ภายใน 1-2 วัน โดยอาศัยข้อมูลจาก Big Data ที่เก็บข้อมูลจากพฤติกรรมของผู้ขอสินเชื่อจากอินเตอร์เน็ตประกอบการอนุมัติ
นอกจากนี้ การเติบโตของ Fin-Tech จึงก่อให้เกิดการซื้อขายหลักทรัพย์ผ่าน ATS (Automatic Trading System) ซึ่งเป็นศูนย์กลางซื้อขายหลักทรัพย์นอกตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งช่วยให้ธุรกรรมการซื้อขายเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น ความนิยมใน
Fin-tech มีสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยสามารถดูได้จากมูลค่าการซื้อขายรายวันของตลาดหุ้น Nasdaq และ NYSE ที่เหลือเพียง 30% เมื่อเทียบกับการซื้อขายหลักทรัพย์นอกตลาดดั้งเดิม (ATS) ที่คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 70% ทั้งนี้ สาเหตุของการเติบโตอย่างรวดเร็วของตลาดหลักทรัพย์รูปแบบใหม่นี้ มาจากระบบการซื้อขายที่ทันสมัย และรวดเร็วกว่าวิธีดั้งเดิม ค่าบริการที่ถูกกว่า และรูปแบบ
การให้บริการที่สะดวกสบายและหลากหลายกว่า และยังมี High Frequency Trader (HFT) ที่สามารถให้บริการได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เพราะใช้ Algorithms และโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการสั่งคำสั่งซื้อขาย และสามารถตอบโจทย์ของผู้ใช้ได้เป็นอย่างดี
ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้อาจจะทำให้หลายอาชีพ เช่น Trader และ ผู้ให้คำแนะนำ อาจถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยี หรือ Robo Advisor
ที่สามารถทำธุรกรรมได้เร็วและแม่นยำกว่า อีกทั้งสามารถให้คำแนะนำที่ผ่านการวิเคราะห์แบบปราศจากอารมณ์เข้ามาข้องเกี่ยว
Fin-tech ยังทำให้เกิดธุรกรรมแบบใหม่ที่เรียกว่า "Blockchain" คือรูปแบบการเก็บข้อมูลลักษณะเครือข่ายใยแมงมุม ที่ทำให้ข้อมูลของแต่ละคนในเครือข่าย สามารถแชร์ไปยังทุกๆ คนได้ เปรียบเสมือนห่วงโซ่ (Chain) ที่ช่วยให้เครือข่ายของข้อมูลเชื่อมต่อไปยังทุกๆ คนได้อีกด้วย
แนวทางการปฏิรูปเพื่อตอบโจทย์เทคโนโลยีทางการเงิน
ด้วยการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และกระแส Fin-tech ที่มีการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง และใช้กันอย่างแพร่หลายในหลายๆ ประเทศ ในส่วนของประเทศไทยเอง แม้จะยังไม่ได้มีระบบ ATS หรือ Bloackchain ดังต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลและควบคุม (Regulator) ควรศึกษาและพัฒนาแนวทางการรับมือผลกระทบจากกระแส Fin-tech อย่างรวดเร็วเพื่อตอบสนองความเปลี่ยนแปลงใดก็ตามที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ควรมีการเตรียมพร้อมจัดทำสนามศึกษาและทดลองระบบ เพื่อให้สอดรับกับกระแส Fin-tech และควรดูแลนโยบาย พร้อมทั้งกฎหมาย และระเบียบการปฏิบัติให้รัดกุม เพื่อให้การดำเนินการมีประสิทธิภาพ สามารถสร้างศักยภาพที่จะมุ่งไปข้างหน้า ก้าวล้ำทันกระแสเทคโนโลยีทางการเงินและทัดเทียมนานาประเทศ