กรุงเทพฯ--11 ส.ค.--กระทรวงพลังงาน
กระทรวง พลังงาน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดแสดงโชว์ยานยนต์ไฟฟ้า หน้าตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ทั้งรถยนต์ รถตุ๊กตุ๊ก รถจักรยานยนต์ พร้อมหนุนสถานีอัดประจุไฟฟ้า 100 สถานี
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เยี่ยมชมบูธการแสดงยานยนต์ไฟฟ้าประเภทต่างๆ ซึ่งกระทรวงพลังงาน ได้นำรถยนต์ BMW i3 (Fully EV) พร้อมแท่นประจุไฟฟ้ามาจัดแสดง นอกจากนี้ยังมีรถยนต์จากหน่วยงานต่างๆ มาจัดแสดงด้วย อาทิ รถยนต์ไฟฟ้า Honda Jazz (ดัดแปลง) จาก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รถยนต์ไฟฟ้า BYD จากการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) รถยนต์ Toyota Prius จาก บมจ.ปตท. พร้อมกันนี้ยังมีรถยนต์ไฟฟ้า จากสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย เช่น รถยนต์ BMW i8 รถยนต์ Tesla Model s รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า Limo จักรยานยนต์ไฟฟ้า รุ่น EV Neo, รุ่น EV Vino, รุ่น Big E-Bike
พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการเยี่ยมชมยานยนต์ไฟฟ้าว่า กระทรวงพลังงานได้วางกรอบแผนบูรณาการพลังงานแห่งชาติ โดยมีเป้าหมายที่จะลดความเข้มการใช้พลังงาน (Energy Intensity) ลง 30% ในปี 2579 เมื่อเทียบกับปี 2553 ซึ่งมาตรการหลักของแผน คือ การใช้ลดใช้พลังงานในภาคขนส่ง เนื่องจากเป็นภาคที่ใช้พลังงานมากที่สุด ซึ่งการนำรถยนต์ไฟฟ้ามาจัดแสดงในวันนี้ ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่า ภาครัฐได้ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า และในการประชุม กพช. วันนี้ กระทรวงพลังงาน โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เสนอโครงการสนับสนุนการลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) เพื่อพิจารณาด้วย ทั้งนี้การสนับสนุนการลงทุนจัดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า จำนวน 100 สถานี โดยสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบ Quick Charge จะให้การสนับสนุน 1 ล้านบาท/สถานี และสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบ Normal Charge จะให้การสนับสนุน 1 แสนบาท/สถานี
พร้อมกันนี้ กระทรวงพลังงานยังได้มีการจัดตั้งคณะทำงานและจัดทำแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้าเพื่อรองรับรถยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย โดยมีหน่วยงานภาครัฐและตัวแทนภาคเอกชนเป็นคณะทำงาน ซึ่งได้กำหนดแนวทางการจดทะเบียนผู้ให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า และการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าชั่วคราวเป็นเวลา 2 ปี โดยเน้นให้ราคาการอัดประจุไฟฟ้ากลางวันสูงกว่าการอัดประจุไฟฟ้าในช่วงเวลากลางคืน นอกจากนี้จะมีโครงการสนับสนุนการลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับภาครัฐและเอกชนซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาหลักเกณฑ์การสนับสนุนและจะประกาศให้ทราบประมาณภายในเดือนสิงหาคมต่อไป
"กระทรวงพลังงานได้เตรียมความพร้อม ระบบไฟฟ้าพื้นฐานของประเทศ ให้สามารถรองรับจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ซึ่งหากมีการชาร์จไฟรถยนต์แบบควิกชาร์จพร้อมๆ กัน ระบบไฟฟ้าพื้นฐานต้องสามารถรองรับได้ ซึ่งในเรื่องนี้กระทรวงพลังงานประมาณการเบื้องต้นจากจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าที่คาดว่าจะมีถึง 1.2 ล้านคันในปี 2579 ณ ตอนนั้นประเทศไทยจะมีปริมาณกำลังผลิตไฟฟ้าตามแผนประมาณ 70,000 เมกะวัตต์ บวกกับกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองที่ 15-20% ซึ่งเพียงพอต่อความต้องการอย่างแน่นอน" พลเอก อนันตพร กล่าวเพิ่มเติม