IBS โรคเรื้อรังแต่ไม่ร้ายแรง ควรพบแพทย์เพื่อวินิจฉัย

ข่าวทั่วไป Monday September 25, 2000 15:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ก.ย.--คอร์ปอเรท พับลิค รีเลชั่นส์ คอนซัลแตนท์
แพทย์ระบุโรค IBS (Irritable Bowel Syndrome) ลำไส้ทำงานแปรปรวน เป็นโรคเรื้อรังแต่ไม่ใช่โรคร้ายแรง แนะพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำที่ถูกต้องเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
รศ.พ.ญ.วโรชา มหาชัย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวถึงโรค IBS หรือ โรคลำไส้ทำงานแปรปรวน ว่า โรค IBS เป็นกลุ่มอาการที่ผู้ป่วยมาหาแพทย์ด้วยอาการปวดท้องเป็น ๆ หาย ๆ ร่วมกับมีความผิดปกติในการขับถ่าย เช่น ท้องผูก หรือ ท้องเสีย และมักจะทุเลาลงหลังการขับถ่าย
สำหรับสาเหตุของโรค IBS ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด อาจเกิดจากความผิดปกติของการทำงานของระบบทางเดินอาหาร เช่น มีการบีบตัวของลำไส้ที่ผิดปกติ ถ้าน้อยไปก็มีอาการท้องอืดหรือท้องผูก ถ้ามากไปก็จะทำให้มีอาการปวดท้องเกร็งหรือท้องเสีย ผู้ป่วยอาจมีประสาทรับความรู้สึกในลำไส้ที่ไวต่อการกระตุ้นเวลามีการขยายตัวของกระเพาะอาหารหรือลำไส้ส่วนใดส่วนหนึ่ง ทำให้มีอาการปวดท้องมากกว่าคนปกติ โดยความเครียด ความกังวล และสภาพทางจิตใจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการของ IBS กำเริบได้
อย่างไรก็ตาม พบว่าผู้ป่วย IBS ที่มีความเครียดมักมาพบแพทย์มากกว่าผู้ป่วย IBS ที่ไม่มีความเครียด ผู้ป่วยอาจมีอาการกังวล ซึมเศร้า หรือปัญหาทางจิตใจอื่น ๆ ร่วมด้วยทำให้อาการกำเริบมากขึ้น ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักจะไม่รู้ตัว หรือไม่ยอมรับว่ามีความเครียดร่วมด้วย โดยผู้ป่วยมักจะมีความเครียดหรือกังวลกลัวว่าจะเป็นมะเร็งหรือกลายเป็นมะเร็ง
"ความเครียดและความวิตกกังวลเป็นปัจจัยที่ทำให้อาการกำเริบหรือเป็นมากขึ้น แต่ไม่ได้เป็นสาเหตุโดยตรงของ IBS ดังนั้นเมื่อไม่เครียดอาการอาจดีขึ้นหรือหายไปชั่วคราวได้ โรค IBS มักเป็นโรคเรื้อรังเป็น ๆ หาย ๆ แต่มีบางโอกาสที่อาจหายไปได้" รศ.พ.ญ.วโรชา กล่าว
สำหรับการรักษาโรค แพทย์ควรให้ความรู้เกี่ยวกับโรค IBS และแนวทางปฏิบัติตัวแก่ผู้ป่วย ซึ่งจะสามารถทำให้ผู้ป่วยสบายใจได้ว่าไม่เป็นโรคร้ายแรง แต่เป็นโรคที่เป็น ๆ หาย ๆ การปฏิบัติตัวที่เหมาะสม ทานอาหารที่ถูกต้อง เช่น ให้ทานอาหารที่มีกากมาก ๆ ดื่มน้ำให้เพียงพอ งดดื่มนมถ้ามีอาการท้องอืดหรือท้องเสีย งดของทอดของมัน ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ ลดความเครียดความกังวล และอาจใช้ยารักษา IBS เพื่อช่วยให้อาการดีขึ้น ขึ้นอยู่กับว่าผู้ป่วยจะมีอาการอะไรมาก เช่น ท้องผูก ท้องเสีย หรือ ปวดท้อง ถ้าผู้ป่วยยังมีอาการหลังจากการรักษาเบื้องต้น แพทย์ก็จะดำเนินการตรวจเพิ่มเติมให้แน่ใจว่าไม่มีสาเหตุอื่น ๆ ที่เป็นอาการของโรค
ข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ โครงการแพทย์เพื่อประชาชน
พรลดา, บุษบา โทร. 628-9503, 628-6001--จบ--
-อน-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ