กรุงเทพฯ--11 ส.ค.--กรมสุขภาพจิต
ที่ สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต คุณหญิงสรัสนันท์ เรืองตระกูล พร้อมด้วยผู้บริหารกรมสุขภาพจิตร่วมเปิดงานพลังรักจากแม่ น้อมรำลึกถึงพระคุณอันยิ่งใหญ่ของแม่ที่มีลูกบกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญา เนื่องในวันแม่แห่งชาติ ประจำปี 2559
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ลูกทุกคนเปรียบเสมือนแก้วตาดวงใจ เป็นตัวแทนความรักของแม่ และวันที่ 12 สิงหาคมของทุกปี วันแม่ของคนไทย เป็นอีกหนึ่งวันสำคัญที่แม่และลูกจะได้มีโอกาสรำลึกถึงสายใยความผูกพันและเติมเต็มความรักความห่วงใยให้แก่กัน ตลอดจนเป็นโอกาสดีที่แม่จะได้ให้คำแนะนำ ให้ศีลให้พร เพื่อความเป็นสิริมงคลกับลูก ดังคำขวัญเนื่องในวันแม่แห่งชาติ ประจำปีนี้ ว่า "สอนให้ลูกทั้งหลายเดินสายกลาง ทำทุกอย่างพอดี มีเหตุผล ประกอบด้วยคุณธรรมนำทางตน ย่อมได้คนดีพอต่อบ้านเมือง"
แม่ทุกคนล้วนต้องการให้ลูกเกิดมามีความสมบูรณ์พร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ เป็นคนดีของสังคม แต่เมื่อวันหนึ่งที่แม่ต้องรับรู้ว่าลูกมีความบกพร่องทางสติปัญญา ย่อมรู้สึกเหมือนโลกทั้งใบที่เคยมีแสงสว่างเจิดจ้ากลับมืดมิดในพริบตา อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความมืดมิดนั้นก็ยังมีแม่อีกกลุ่มหนึ่งที่ควรค่าแก่การยกย่องและให้กำลังใจเพราะเป็นแม่ที่เลือกจะเป็นแสงสว่างนำพาลูกเดินผ่านความมืดมิดไปสู่อนาคตที่มีความสดใสไปด้วยกัน ซึ่งต้องใช้ความอดทนและเสียสละอย่างมาก เนื่องจากการฝึกฝนให้เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาคนหนึ่งช่วยเหลือตัวเองได้ อยู่ในระเบียบวินัย สามารถปรับตัว เข้ากับสังคมได้ ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนัก ต้องอดทนพูดในสิ่งเดิมซ้ำแล้วซ้ำอีก เพื่อให้ลูกเรียนรู้และเข้าใจ อีกทั้งต้องเผชิญกับความกดดันต่างๆ มากมาย จนบางครั้งแทบไม่มีเวลาดูแลตัวเอง หวังเพียงได้เห็นลูกก้าวเดินไปข้างหน้าด้วยตัวเอง ตามศักยภาพ สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข และเนื่องในวาระวันแม่แห่งชาติที่จะถึงนี้ กรมสุขภาพจิตจึงได้มอบหมายให้สถาบัน ราชานุกูล เป็นตัวแทนลูกๆ ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญากว่า 1 ล้านคนทั่วประเทศ น้อมรำลึกถึงพระคุณอันยิ่งใหญ่ของแม่ผู้เป็นแสงสว่างกลุ่มนี้และหวังจะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสังคมที่ยั่งยืนสำหรับผู้บกพร่องทางสติปัญญาต่อไป อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
ด้าน พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผอ.สถาบันราชานุกูล กล่าวเพิ่มเติมว่า การยอมรับว่าลูกมีความแตกต่างจากเด็กทั่วไปเป็นเรื่องยากที่สุดที่แม่ต้องเผชิญ มีคำถามต่างๆ เกิดขึ้นในใจแม่มากมาย เช่น "ลูกจะเข้าโรงเรียนได้หรือไม่?" "คุณครูและเพื่อนๆจะรักลูกของเราหรือไม่?" "ลูกจะช่วยเหลือตัวเองได้หรือไม่" และคำถามที่อยู่ในใจแม่เกือบทุกคน คือ "ถ้าเราไม่อยู่แล้ว ลูกจะอยู่ต่อไปด้วยตัวเองได้หรือไม่?" แม่บางคนคิดโทษตัวเองว่าเป็นสาเหตุให้ลูกมีความบกพร่อง คิดอยากจะกลับไปแก้ไขเรื่องราวที่ผิดพลาด จะเห็นว่ามีความทุกข์มากมายที่แม่ต้องเผชิญ แต่ด้วยความรักอันยิ่งใหญ่และปราศจากเงื่อนไข ทำให้แม่ยอมปล่อยวางความทุกข์และความผิดหวังของตัวเอง รวบรวมสติและกำลังใจทั้งหมดเพื่อเป็นความเข้มแข็งท่ามกลางความอ่อนแอของคนในครอบครัวพร้อมทำทุกวิถีทางให้ลูกเติบโตได้เต็มที่ตามศักยภาพ แสวงหาผู้เชี่ยวชาญในการบำบัดรักษา เสียสละตัวเองทั้งกายและใจในการฝึกฝนให้ลูกมีพัฒนาการที่ดีขึ้น ต้องเผชิญกับการไม่ยอมรับและความไม่เข้าใจของสมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัว อดกลั้นต่อความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องของคนรอบข้าง พยายามอธิบายและทำทุกทางให้ทุกคนเห็นว่าลูกของแม่จะดีขึ้นได้ ถ้าเราทุกคนช่วยกัน
การฝึกฝนลูกที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาให้สามารถช่วยเหลือตัวเอง อยู่ในระเบียบวินัย และสามารถปรับตัวเข้ากับสังคมได้นั้น คุณแม่ต้องเสียสละและมีความอดทนสูงมาก จึงขอแนะคุณแม่ ให้ดูแลตัวเองและหาวิธีผ่อนคลายบ้าง เพื่อให้มีพลังก้าวเดินไปพร้อมกับลูกๆ ต่อไป ซึ่งเทคนิคในการเลี้ยงดูลูกๆ คือ คุณแม่ต้องอดกลั้นอารมณ์เมื่อลูกมีพฤติกรรมรุนแรงหรือแสดงออกในทางที่ไม่เหมาะสม รวมทั้งต้องอดใจไม่ยอมตามใจลูก แม้จะสงสารมากเพียงใด เพื่อให้ลูกเรียนรู้ที่จะรับผิดชอบการกระทำของตัวเองและควบคุมตัวเองได้ ตลอดจนเตรียมความพร้อมให้ลูกในทุกด้านก่อนเข้าเรียน เป็นกำลังใจเมื่อลูกมีความกลัวที่ต้องเผชิญกับสิ่งแวดล้อมใหม่ พยายามชักชวนให้ลูกได้สัมผัสความสุขของการไปโรงเรียนและอยู่กับเพื่อนๆ ทำงานร่วมกับคุณครูอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เพื่อรับทราบปัญหาและนำไปแก้ไขต่อไป สำหรับคุณแม่ที่ต้องออกไปทำงานเพื่อหารายได้ ไม่สามารถใช้เวลาอยู่กับลูกได้ตามที่ต้องการ ขอแนะให้ มาเรียนรู้วิธีการฝึกและปรับพฤติกรรมกับผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งจะช่วยให้แม่สามารถใช้เวลาอันน้อยนิดเกิดคุณภาพสูงสุดกับลูกได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ของเล่นหรืออุปกรณ์ที่มีราคาแพง และสิ่งที่จะได้กลับมา คือ กำลังใจที่เกิดจากการได้เห็นรอยยิ้มและพัฒนาการที่ดีขึ้นของลูก ซึ่งทั้งหมดนี้ คือ สิ่งที่แม่หวังมิใช่ปริญญาหรือผลการเรียนดีเด่น แต่หวังเพียงให้ลูกได้มีต้นทุนเพียงพอที่จะเอาตัวรอดอยู่ในสังคมนี้ได้ ผอ.สถาบันราชานุกูล กล่าว