เด็กรงระรวมพลังสร้างสรรค์…คืนผืนป่าสู่ชุมชน

ข่าวทั่วไป Thursday August 11, 2016 17:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ส.ค.--มูลนิธิสยามกัมมาจล "จำได้ว่าตอนเด็กๆ หนูเข้ามาในป่าเพื่อหาเห็ด พอป่ามันโล่งๆเห็ดก็จะไม่มี…ซึ่งต่างจากเมื่อก่อนที่เข้ามาก็จะเก็บได้ เยอะแต่ปัจจุบันมันเริ่มน้อยลง หากป่าโล่ง ก็ทำให้เห็ดขึ้นน้อย เพราะเห็ดจะชอบขึ้นในสภาพที่เป็นป่าทึบและชื้น" น.ส.อรณี พันโนฤทธิ์ หรือ นก อายุ 16 ปี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนตูมพิทยานุสรณ์ แกนนำโครงการ Forest of life สร้างพลังชีวิต อนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชุมชน กล่าว "…เมื่อมีคนลักลอบเข้าไปตัดไม้ทำลายป่า…ป่าที่เคยสมบูรณ์จึงดูเสื่อมโทรมลงไปเยอะ รู้สึกเสียดายไม้ที่ถูกตัดไป ก็เลยอยากจะฟื้นฟูอนุรักษ์ป่าให้กลับมาสมบูรณ์เหมือนตอนที่ผมเด็กๆ" นายศรยุทธ บรรจงปรุ (อาร์ม) อายุ 16 ปี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนตูมพิทยานุสรณ์ หนึ่งในสมาชิกแกนนำโครงการฯ กล่าว นี่คือ…เสียงสะท้อนส่วนหนึ่งจากเยาวชนชุมชนบ้านรงระ ที่มองเห็นสภาพปัญหาป่าเสื่อมโทรมของชุมชน ทั้งนกและอาร์มต่างมองเห็นสภาพป่าที่เป็นทั้งแหล่งอาหารและที่อาศัยให้กับคนชุมชนถูกรุกล้ำจนมีสภาพเสื่อมโทรม ทั้งสองคน จึงชวนน้องๆในหมู่บ้านรวม 8 คน ร่วมกันคิดทำโครงการ Forest of life สร้างพลังชีวิต อนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชุมชน ภายใต้โครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ ดำเนินงานโดยศูนย์ประสานงานการวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดศรีสะเกษ สนับสนุนโดย มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และ สสส. แต่เนื่องจากพวกเด็กๆยังมือใหม่ จึงได้ไปปรึกษากับทางผู้ใหญ่ในชุมชน เพื่อหาแนวทางในการทำงานฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าชุมชน ซึ่งตอนนั้นได้พี่สมถวิล ทวีชาติ ผู้นำอาสาพัฒนาชุมชน ตำบลตูม อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นผู้ช่วยประสานงานนำเรื่องนี้ไปหารือกับคณะกรรมการและคนในชุมชน พร้อมทั้งขอให้มาเป็นพี่เลี้ยงประจำโครงการให้กับพวกเขาด้วย ซึ่งก็ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดี "เมื่อน้องๆอยากทำโครงการเกี่ยวกับป่า ผู้ใหญ่อย่างเราก็สนับสนุน เพราะที่ผ่านมาน้องๆเยาวชนกลุ่มนี้อาจจะเป็นเพียงผู้ร่วมกิจกรรมที่ตามหลังผู้ใหญ่เท่านั้น แต่วันนี้เป็นเรื่องน่าดีใจที่เยาวชนในชุมชนอยากลุกขึ้นอนุรักษ์และฟื้นฟูป่า เพราะเราอยากเห็นเยาวชนมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรและมีจิตสำนึกในการหวงแหนที่จะปกป้องผืนป่าและรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของป่าชุมชน ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้ใหญ่ในชุมชนก็ทำการอนุรักษ์ป่าชุมชนกันอยู่แล้ว รวมถึงออกกฎกติกาการใช้ประโยชน์จากป่าชุมชนร่วมกัน แต่เนื่องจากขณะนี้คณะกรรมการบริหารจัดการป่าชุมชนมีแต่ผู้สูงอายุ ซึ่งนับวันก็จะเริ่มล้มหายตายจากไป หากเยาวชนรุ่นใหม่ขาดความรู้ในเรื่องราวเกี่ยวกับป่าชุมชนอาจจะส่งผลให้การจัดการทรัพยากรป่าในชุมชนขาดความต่อเนื่อง รวมถึงในระยะหลังมานี้ที่ป่าเสื่อมโทรมลงนั้นเป็นเพราะเราวางกฎกติกากันอย่าหลวมๆไม่เคร่งครัดเท่าที่ควรจนเกิดเป็นช่องว่างทำให้ชาวบ้านในชุมชนบางคนละเมิดกฎลักลอบเข้าไปตัดไม้ แต่การที่เด็กเข้ามาทำโครงการฯ ก็อาจจะเป็นอีกหนทางหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นจิตสำนึกให้ผู้ใหญ่เริ่มกลับมาตระหนักถึงความสำคัญในการอนุรักษ์ป่าชุมชนก็เป็นได้" น.ส.สมถวิล ทวีชาติ กล่าวว่า เมื่อการทำโครงการของน้องๆมีระยะเวลาในการดำเนินงานเพียง 9 เดือน เขาจึงช่วยกันคิดและออกแบบกิจกรรมภายใต้คำแนะนำของพี่เลี้ยงซึ่งมี 2-3 กิจกรรมหลักๆ คือ การสำรวจป่า การศึกษาพันธุ์ไม้ รวมถึงกิจกรรมปลูกป่าและบวชป่า นก กล่าวว่า "การสำรวจป่าถือว่าป็นเป้าหมายสำคัญของการทำกิจกรรมเพราะเราตั้งใจอยากศึกษาเส้นทางธรรมชาติ เพื่อให้พวกเราได้รู้จักป่าบ้านตัวเอง และในขณะเดียวกันก็จะเป็นประโยชน์แก่คนในชุมชนได้เห็นคุณค่าของป่าไปพร้อมๆกัน" "โดยตอนแรกพวกเราเริ่มต้นจากการลงพื้นที่สำรวจป่ากับ ลุงดัน ทวีชาติ ปราชญ์ชุมชน เพื่อเก็บข้อมูลสำรวจต้นไม้และพันธุ์ไม้หายาก ซึ่งต้นไม้ที่พบมากก็คือ ต้นจิก และต้นมะกอกป่า ทั้งสองชนิดนี้เป็นต้นไม้ประจำท้องถิ่นและพบมากในชุมชน ส่วนต้นพยุง และต้นประดู่ จะพบน้อยลง ซึ่งเมื่อก่อนพืชทั้งสองชนิดนี้มีอยู่เยอะพอๆกับสองชนิดแรก แต่ที่เหลือน้อยลงเพราะมีคนลักลอบตัดไปขายเนื่องจากเป็นไม้เศรษฐกิจที่มีราคาค่อนข้างแพง" "แต่การลงพื้นที่สำรวจป่านั้นพวกหนูไม่สามารถทำได้ทั้งหมด เพราะป่ามีพื้นที่กว้าง 200 ไร่ พี่ประมวล ดวงนิล เจ้าหน้าที่โครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ จึงแนะนำให้ลองตีแปลงเพื่อสำรวจชนิดและขนาดของพันธุ์ไม้และเปรียบเทียบความอุดมสมบูรณ์ของป่า โดยแบ่งพื้นที่การตีแปลงเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่สมบูรณ์และเสื่อมโทรมแต่ละแปลงมีขนาด 10 x 10 เมตร นอกจากนี้แต่ละแปลงยังได้ศึกษาเรื่องความหลากหลายของป่าโดยสำรวจเรื่อง *ลูกไม้ , **ไม้หนุ่ม , พรรณไม้ , สมุนไพร และสัตว์ป่า เพราะทั้ง 4-5 เรื่องนี้ถือว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญของป่า"นก เล่า เมื่อน้องๆได้ศึกษาความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายในป่าแล้วพบว่า ส่วนที่เป็นป่าเสื่อมโทรมจะกินพื้นที่ประมาณ 10 ไร่ แต่ถึงแม้จะเป็นตัวเลขที่น้อยหากเปรียบเทียบกับพื้นที่ป่าทั้งหมด 200 ไร่ แต่ก็ยังกระทบในจิตใจพวกเขาอยู่ดี ถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะให้ป่านั้นกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง จึงทำให้เกิดกิจกรรมต่อมา คือ การบวชป่าและปลูกป่า "…โดยปกติแล้วในชุมชนจะร่วมบวชป่ากันปีละ 1 ครั้ง และปลูกป่าปีละ 2 ครั้งในวันสำคัญๆอย่างวันพ่อ หรือวันแม่แห่งชาติ แต่ปีนี้มีความพิเศษกว่าปีที่ผ่านมา คือ พวกเราขอเป็นแกนนำจัดกิจกรรมบวชและปลูกป่าแทนผู้ใหญ่ซึ่งเคยจัดมาทุกปี โดยในวันงานเราเชิญชวนคนในชุมชนและเยาวชน อีก 4 หมู่บ้านมาร่วมงาน รวมกันประมาณ 100 คน ซึ่งต่างจากปีที่แล้วมีคนมาร่วมงานน้อยเพราะมีแต่คนในชุมชน เพราะที่ผ่านมาจะประกาศกิจกรรมการจัดงานผ่านเสียงตามสายให้คนในชุมชนรับรู้เท่านั้น ไม่ได้มีการประชาสัมพันธ์งานหรือการเรียกประชุมเพื่อสร้างความเข้าใจให้คนในและนอกชุมชมรับทราบเกี่ยวกับกิจกรรม" น.ส.ศิริพรรณ จันทอง (แพรว) อายุ 15 ปี ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้านขี้นาค หนึ่งในแกนนำโครงการฯ เล่า นอกจากนี้น้องๆยังเล่าให้ฟังต่อว่าจากการสำรวจพืชสมุนไพร พบว่าต้นนมวัว พืชสมุนไพรพื้นบ้านนั้นเริ่มหายไปจากป่าชุมชน จึงต้องนำไปเพาะและปลูกเพิ่ม เพราะว่าพืชพวกนี้เป็นสมุนไพรที่ชาวบ้านสามารถนำไปใช้ดื่มเพื่อบำรุงร่างกายหรือบรรเทาอาการเจ็บป่วยเบื้องต้นและยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนด้วย รวมทั้งการคืนข้อมูลเรื่องต้นไม้และพันธุ์ไม้หายาก และสมุนไพรให้คนในชุมชนเพื่อเป็นฐานการเรียนรู้ให้คนในชุมชน พร้อมกับวิถีใช้สอยทรัพยากรธรรมชาติอย่างถูกวิธีเพื่อจะได้ไม่หายไปจากชุมชน "เมื่อลูกหลานในชุมชนได้ทำโครงการก็เริ่มมองเห็นสภาพจากป่าที่เคยเสื่อมโทรม ตอนนี้เริ่มกลับมาอุดมสมบูรณ์ขึ้นกว่าแต่ก่อนแล้ว สังเกตจากเวลาไปหาเห็ดหรือผักบางชนิดก็จะเก็บได้มากขึ้น ขนาดเราเข้าป่ามาตั้งหลายปี ต้นไม้บางชนิดเรายังไม่รู้จักเลย พอเด็กกลุ่มนี้ได้ทำโครงการฯก็ช่วยให้ป้าและคนในชุมชนรู้จักพันธุ์ไม้และสมุนไพรบางชนิดมากขึ้น" "อีกส่วนนึงเรามองเห็นพัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีของเด็กๆหลังจากที่เข้าโครงการ บางคนเกรดเฉลี่ยการเรียนไม่ตกต่ำ มีความกล้าแสดงออก เวลาที่ได้เห็นน้องๆนำเสนอโครงการ หรือเป็นตัวแทนพูดต่อหน้าคนหมู่มาก ก็ยิ่งภูมิใจ" นางรำพึง สุรินทร์ กรรมการหมู่บ้านชุมชนบ้านรงระ กล่าว. นี่อาจจะเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าการที่เยาวชนได้ทำโครงการเพื่อชุมชนที่มีระยะเวลาจำกัดเพียง 9 เดือนนั้นนอกจากเยาวชนจะได้กระบวนการเรียนรู้เรื่องป่าแล้ว ยังทำให้เขารู้สึกรัก หวงแหนป่าบ้านตัวเองอีกด้วย ในขณะเดียวกันการทำโครงการนั้นก็มีส่วนช่วยให้เขาเติบโตกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีทักษะชีวิต ความคิด และจิตสำนึกที่เจริญงอกงามตามไปด้วย
แท็ก เห็ด  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ