กรุงเทพฯ--15 ส.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม
สศอ. สนองนโยบายรัฐบาล แนะ 5 มาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ ผลักดันไทยศูนย์กลางการผลิตพลาสติกชีวภาพในภูมิภาคเอเชีย
นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า จากผลการศึกษาและวิเคราะห์สถานภาพอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพของประเทศไทย พบว่า 1. ประเทศไทยมีวัตถุดิบทางการเกษตรเป็นจำนวนมาก เช่น อ้อย มันสำปะหลัง สามารถรองรับอุตสาหกรรมชีวภาพได้ 2. งานวิจัยเทคโนโลยีวัตถุดิบและกระบวนการผลิตพลาสติกชีวภาพของไทยส่วนมากอยู่ในระดับปฏิบัติการ ยังไม่รองรับในระดับอุตสาหกรรม 3.มีการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพภายในประเทศ โดยผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพที่ผลิตได้ยังมีราคาสูงกว่าผลิตภัณฑ์พลาสติกเดิมที่ผลิตจากปิโตรเลียม และ 4. แนวโน้มกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพลังงาน ก่อให้เกิดการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพเพิ่มมากขึ้น แต่ประเทศไทยก็ยังมีข้อจำกัดบางประการ ที่จำเป็นจะต้องมีการกำหนดแนวทาง หรือมาตรการเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ
ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพหรือไบโอพลาสติก ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลพยายามผลักดันให้เกิดขึ้น และสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพของภูมิภาคเอเชีย ประเทศไทยควรมีมาตรการส่งเสริมและสนับสนุน ดังนี้
1. ส่งเสริมการผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพภายในประเทศ โดยสนับสนุนให้เกิดการใช้วัตถุดิบการเกษตรภายในประเทศในการแปรรูปเป็นพลาสติกชีวภาพ
2. ส่งเสริมการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีวัสดุ/การคอมพาวดน์พลาสติกชีวภาพในเชิงอุตสาหกรรมเพื่อการพัฒนาสมบัติของผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพให้สามารถรองรับการนำไปใช้งานต่างๆ ได้มากขึ้น รวมถึงพัฒนาความร่วมมือระหว่างหน่วยงานวิจัยพัฒนา ซึ่งจะก่อให้เกิดการวิจัยสมบัติของพลาสติกชีวภาพที่สอดรับกับสมบัติของผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่ต้องการของภาคอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง
3. ส่งเสริมตลาดภายในประเทศ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ และเพิ่มความสามารถด้านการลดต้นทุนต่อหน่วยผลิตของผู้ประกอบการไทย รวมถึงก่อให้เกิดการนำผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพมาใช้เพื่อลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมโดยมีมาตรการสำคัญ ได้แก่ มาตรการ Green Tax Credit ที่สามารถนำไปหักค่าใช้จ่ายจากการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพที่ผลิตภายในประเทศ
4. กำหนดและรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและการยอมรับในตัวสินค้าพลาสติกชีวภาพจากการส่งออกและการใช้ภายในประเทศ ซึ่งการกำหนดและรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพเป็นมาตรการที่ไม่เพียงจำเป็นต่ออุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพเท่านั้น แต่ยังเป็นมาตรการที่จำเป็นต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารของประเทศ
5. วางแนวทางการบริหารจัดการขยะพลาสติกชีวภาพที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดการนำพลาสติกชีวภาพมาใช้ โดยก่อให้เกิดประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมสูงสุด เช่น มาตรการบังคับใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพในพื้นที่นำร่อง อาทิ เกาะที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว และประชาสัมพันธ์ผลดีของการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพให้เป็นที่เข้าใจอย่างแพร่หลาย
สำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพของประเทศไทยในขณะนี้ถือว่ายังอยู่ในช่วงก้าวแรกเท่านั้น เนื่องจากปัจจุบันมีการนำเข้าเม็ดพลาสติกชีวภาพประมาณ 500 ตัน เพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์แล้วส่งออกตามคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 80 ผลิตเพื่อส่งออกเป็นหลัก โดยมีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้มีประมาณ 42 ราย และเริ่มดำเนินการผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพที่ผลิตจากน้ำตาล ที่จังหวัดระยอง ในปลายปี 2559 ด้วยกำลังการผลิตประมาณ 20,000 ตัน ซึ่งถือเป็นโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
อย่างไรก็ดีพลาสติกชีวภาพถือเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่คาดว่าจะเข้ามามีบทบาทต่อระบบเศรษฐกิจของโลกในอนาคต เพราะเป็นวัสดุที่ตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อม ประกอบกับในปัจจุบันมีมาตรการทางกฎหมายต่างๆ ของต่างประเทศ ที่สนับสนุนเพิ่มมากขึ้น อาทิ การห้ามใช้ถุงพลาสติกที่ผลิตจากเม็ดพลาสติกทั่วไปของฝรั่งเศส การอนุญาตและส่งเสริมให้ใช้ถุงพลาสติกชีวภาพของอิตาลี หรือการสนับสนุนการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวของสหรัฐอเมริกา โดยคาดการณ์ว่าในปี 2563 มูลค่าความต้องการพลาสติกชีวภาพทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 5.9 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีประมาณร้อยละ 20 โดยภูมิภาคเอเชียเป็นผู้ผลิตพลาสติกชีวภาพในสัดส่วนประมาณร้อยละ 80 ของกำลังการผลิตพลาสติกชีวภาพของโลกที่มีกำลังการผลิตรวมอยู่ที่ประมาณ 6.73 ล้านตัน