กรุงเทพฯ--15 ส.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์-
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม มุ่งพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs/OTOP ทั่วประเทศอย่างยั่งยืน ทุ่มงบประมาณกว่า 52 ล้านบาท จัดโครงการอบรมให้ความรู้และคำปรึกษาแนะนำด้านการออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ในสาขาต่าง ๆ ที่เป็นที่ต้องการของตลาด ทั้งในและต่างประเทศ อาทิ อาหารและเครื่องดื่ม ยานยนต์และชิ้นส่วน อัญมณีและเครื่องประดับ ยางพารา สิ่งทอและเครื่องนุ่งหุ่ม เครื่องหนัง เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น ตั้งเป้าพัฒนาผู้ประกอบการทั่วประเทศไม่น้อยกว่า 570 คน และพัฒนา SMEs/OTOP ได้ไม่ต่ำกว่า 177 กิจการ คาดว่าจบโครงการจะสามารถเพิ่มมูลค่าการจำหน่ายได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ตามปริมาณความต้องการในตลาดต่างประเทศสูง 5 อันดับ ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ อุตสาหกรรมยางพารา และอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม
ดร.พสุ โลหารชุน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศไทยในปัจจุบันมีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องสวนทางกับภาวะเศรษฐกิจของโลกที่มีความผันผวนเนื่องจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่ การเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจจีน และอัตราการว่างงานของสหภาพยุโรปที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ซึ่งในปี 2558 GDP ของประเทศไทยมีการขยายตัวร้อยละ 2.8 ซึ่งขยายตัวจากปี 2557 ที่ขยายตัวร้อยละ 0.8 และจากข้อมูลล่าสุด เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2559 ขยายตัวถึงร้อยละ 3.2 และเป็นการขยายตัวในอัตราสูงสุดในรอบ 12 ไตรมาส ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2559 จะขยายตัวได้ถึงร้อยละ 3.0 – 3.5 โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญจากมูลค่าการส่งออกสินค้าที่คาดว่าจะปรับตัวลดลงร้อยละ 1.7 ซึ่งปรับตัวดีขึ้นจากการหดตัวร้อยละ 5.6 ในปี 2558
ดร.พสุ กล่าวต่อว่า ตลาดต่างประเทศถือเป็นตลาดใหญ่ที่เป็นเป้าหมายสำคัญของผู้ประกอบการไทย โดยปัจจุบันภาคการส่งออกของสินค้าไทยมีแนวโน้มที่สดใสขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะวิสาหกิจ SMEs ที่มีสัดส่วนร้อยละ 99.7 ของวิสาหกิจทั้งประเทศ มีการส่งออกในไตรมาสแรกของปี 2559 ขยายตัวถึงร้อยละ 5.1 มีมูลค่าถึงกว่า 1.49 ล้านล้านบาท โดยกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมของประเทศไทยที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด 5 อันดับ (ข้อมูลสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม) ดังนี้
อันดับที่ 1 อุตสาหกรรมอาหาร มีมูลค่าการส่งออกในปี 2558 จำนวน 26,505.19 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือกว่า 9.3 แสนล้านบาท โดยในไตรมาส 1 ของปี 2559 มีมูลค่าการส่งออก จำนวน 6,495.28 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือกว่า 2.2 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.46 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 1 ของปี 2558 ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยสำคัญในการเพิ่มคำสั่งซื้อผลิตภัณฑ์แปรรูปผักผลไม้จากประเทศคู่ค้าหลัก อาทิ สับปะรดกระป๋องจากสหรัฐอเมริกา เยอรมนี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และน้ำผลไม้จากสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป เป็นต้น
อันดับที่ 2 อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน มีมูลค่าการส่งออกในปี 2558 จำนวน 25,200.26 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือกว่า 8.8 แสนล้านบาท โดยในไตรมาส 1 ของปี 2559 มีมูลค่าการส่งออก จำนวน 6,895.55 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือกว่า 2.4 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.86 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 1 ของปี 2558 โดยมีตลาดส่งออกที่สำคัญของรถยนต์นั่ง ได้แก่ ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ ซาอุดิอาระเบีย ขณะที่ตลาดส่งออกของส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ ได้แก่ ญี่ปุ่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย
อันดับที่ 3 อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ มีมูลค่าการส่งออกในปี 2558 จำนวน 10,994.68 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือกว่า 3.8 แสนล้านบาท โดยในไตรมาส 1 ของปี 2559 มีมูลค่าการส่งออก จำนวน 4,722.06 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือกว่า 1.6 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 72.34 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 1 ของปี 2558 ซึ่งมีผลมาจากการส่งออกเพิ่มมากขึ้นในเกือบทุกประเภทของสินค้ากลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับ อาทิ อัญมณี เครื่องประดับแท้ อัญมณีสังเคราะห์ และทองคำที่ยังไม่ได้ขึ้นรูป โดยมีตลาดส่งออกที่สำคัญ อาทิ ฮ่องกง เบลเยียม สหรัฐอเมริกา อิสราเอล และอินเดีย
อันดับที่ 4 อุตสาหกรรมยางพารา มีมูลค่าการส่งออกในปี 2558 จำนวน 6,851.35 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือกว่า 2.4 แสนล้านบาท โดยในไตรมาส 1 ของปี 2559 มีมูลค่าการส่งออก จำนวน 1,517.89 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือกว่า 5.3 หมื่นล้านบาท ลดลงร้อยละ 12.50 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 1 ของปี 2558 โดยถึงแม้จะมีการส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นเพิ่มขึ้นแต่ราคายางปรับตัวลดลงอย่างมากจึงทำให้มูลค่าการส่งออกลดลงตามไปด้วย โดยตลาดส่งออกที่สำคัญสำหรับยางแปรรูปขั้นต้น คือ จีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และเกาหลีใต้ ส่วนยางยานพาหนะมีการส่งออกปรับตัวลดลงตามความต้องการของตลาดหลัก ได้แก่ อาเซียน สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น และในส่วนของถุงมือยางและถุงมือตรวจมีการส่งออกลดลงมีสาเหตุมาจากการถูกตัด GSP จาสหภาพยุโรป ทำให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันกับประเทศคู่แข่งที่สำคัญไป
อันดับที่ 5 อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่าการส่งออกในปี 2558 จำนวน 6,838.51ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือกว่า 2.4 แสนล้านบาท โดยในไตรมาส 1 ของปี 2559 มีมูลค่าการส่งออก จำนวน 1,586.96 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือกว่า 5.5 หมื่นล้านบาท ลดลงร้อยละ 6.64 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 1 ของปี 2558 ซึ่งเป็นผลมาจากการส่งออกที่ลดลงในตลาดหลัก ได้แก่ อาเซียน สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป
ดร.พสุ กล่าวเพิ่มเติมว่า "ปัญหาหลักของผู้ประกอบการ SMEs ไทยในปัจจุบันยังเป็นเรื่องของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งสินค้าและบริการส่วนมากยังขาดการพัฒนาและการออกแบบให้ตรงตามความต้องการของตลาดไม่สามารถสร้างความแตกต่าง ความโดดเด่น และไม่สามารถเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์และบริการเหล่านั้นได้ จึงทำให้สินค้าขายได้ในราคาต่ำ ซึ่งสาเหตุหลักสำคัญเป็นเพราะผู้ประกอบการยังขาดความรู้ ความเข้าใจของการพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน"
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาและส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs เห็นความจำเป็นในการให้ความช่วยเหลือสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs และวิสาหกิจชุมชน ในการเพิ่มขีดความสามารถและเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน จึงริเริ่มจัดโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ซึ่งประกอบไปด้วยกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การให้คำปรึกษาในด้านการออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ การประเมินผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ การจัดทำ Market Survey การกำหนดกลยุทธ์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ การจัดทำ Market Test การปรับปรุงผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ กระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น โดยโครงการดังกล่าวมุ่งเป้าหมายส่งเสริมในกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพทั้งในประเทศและส่งออก 10 กลุ่ม ได้แก่ 1.อาหารแปรรูป 2.ยานยนต์และชิ้นส่วน 3.อัญมณีและเครื่องประดับ 4.ยางพารา 5.สิ่งทอและเครื่องนุ่งหุ่ม 6.เครื่องหนัง 7.ไม้และเครื่องเรือน 8.เซรามิกและแก้ว 9.เกษตรแปรรูป 10.เครื่องดื่ม เป็นต้น
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวกำหนดดำเนินงานส่งเสริมผู้ประกอบการทั้งในพื้นที่ส่วนกลางและส่วนภูมิภาคด้วยงบประมาณกว่า 52 ล้านบาท โดยตั้งเป้าพัฒนาผู้ประกอบการทั่วประเทศไม่น้อยกว่า 570 คน และพัฒนา SMEs และวิสาหกิจชุมชน ได้ไม่ต่ำกว่า 177 กิจการ มีระยะเวลาดำเนินโครงการ 180 วัน ซึ่งกำหนดแล้วเสร็จสิ้นเดือนกันยายนนี้ โดยคาดว่าเมื่อสิ้นสุดโครงการแล้วจะสามารถเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ เพิ่มความสามารถในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ และสามารถเพิ่มมูลค่าการจำหน่ายได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 อย่างไรก็ตามโครงการดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายสูงสุดในการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs และวิสาหกิจชุมชนให้สามารถแข่งขันได้อย่างทัดเทียมในระดับสากลและการสร้างโอกาสทางด้านการตลาดทั้งในและต่างประเทศ ดร.พสุ กล่าวสรุป
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจเข้ารับการอบรม สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ 6 กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0 2202 4508-9 หรือเข้าไปที่ www.dip.go.thหรือwww.facebook.com/dip.pr