กรุงเทพฯ--15 ส.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุม คณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ ว่า จากสถานการณ์การผลิตและการตลาดสุกร ได้มีการรายงานจาก Executive Summary สินค้าสุกรและผลิตภัณฑ์ ประจำไตรมาสที่ 2/2559 เดือนมิถุนายน 2559 คาดการณ์ปริมาณการผลิตสุกรขุนปี 2559 เป็น 17.70 ล้านตัว คิดเป็นปริมาณการผลิตเนื้อสุกร 1.328 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2558 คิดเป็นร้อยละ 4.40 ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น คือปัจจัยด้านราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มที่ปรับเพิ่มขึ้น จูงใจให้มีการขยายปริมาณการผลิต ประกอบกับได้รับแรงหนุนด้านตลาดส่งออก
นายธีรภัทร กล่าวต่อว่า สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติรายงานภาวะราคาสุกรมีชีวิตที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยปี 2558 เป็นกิโลกรัมละ 68.00 บาท และมีทิศทางปรับเพิ่มขึ้นในปี 2559 โดยราคาเฉลี่ยปี 2559 (มกราคม – มิถุนายน) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 71.31 บาท เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2558 พบว่า เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.70 โดยราคาสุกรมีชีวิต ในเดือนพฤษภาคม ปรับเพิ่มขึ้นสูงสุด เป็นกิโลกรัมละ 77.50 บาท หลังจากนั้น ราคาชะลอตัวลง ปรับลดลงเหลือกิโลกรัมละ 77.33 บาทในเดือนมิถุนายน
ทั้งนี้ ในปี 2558 มูลค่าการส่งออกสุกรและผลิตภัณฑ์รวมทั้งสิ้น 8,817.06 บาท เป็นสุกรพันธุ์มูลค่า 191.65 ล้านบาท (ร้อยละ 2.17) สุกรขุนมูลค่า 5,984.48 ล้านบาท (ร้อยละ 67.87) เนื้อสุกรสด 250.83 ล้านบาท (ร้อยละ 2.84) เนื้อสุกรแช่เกลือ 125.36 ล้านบาท (ร้อยละ 1.42) เนื้อสุกรสุก 2,161.84 ล้านบาท (ร้อยละ 24.52) และส่วนอื่นที่บริโภค/ได้ 102.90 ล้านบาท (ร้อยละ 1.17) นอกจากนี้ในปี 2559 (ม.ค. – มิ.ย. ) มูลค่าส่งออก 4,690 ล้านบาท เป็นสุกรพันธุ์ มูลค่า 550 ล้านบาท (ร้อยละ 12) สุกรขุนมูลค่า 2,830 ล้านบาท (ร้อยละ 60 ) เนื้อสุกรสด มูลค่า 113 ล้านบาท (ร้อยละ 2) เนื้อสุกรแช่เกลือ/รมควัน มูลค่า 136 ล้านบาท (ร้อยละ 3) เนื้อสุกรสุก มูลค่า 1,025 ล้านบาท (ร้อยละ 22) และส่วนอื่นที่บริโภคได้มูลค่า 30 ล้านบาท (ร้อยละ 1)
สำหรับปริมาณการส่งออกในปี 2559 (ม.ค. - มิ.ย.) เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2558 พบว่า สุกรมีชีวิตมีการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างมาก และสุกรพันธุ์ส่งออกเพิ่มขึ้นสองเท่า โดยส่วนใหญ่ส่งออกไปยังประเทศลาวและสุกรขุนส่งออกเพิ่มขึ้น 1 เท่า เนื่องจากผู้ประกอบการไทยเริ่มปรับการลงทุนไปลงทุนผลิตสุกรในประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามคณะอนุกรรมการต้นทุนการผลิตสุกร รายงานข้อมูลต้นทุนการผลิตสุกรขุนรายเดือน ปี 2559 โดยต้นทุนการผลิตสุกรขุนไตรมาสที่ 1 และ 2 ปี 2559 เฉลี่ยกิโลกรัมละ 68.38 บาท กิโลกรัมละ 66.77 บาท ตามลำดับ และคาดการณ์ต้นทุนการผลิตไตรมาสที่ 3 เป็น 71.27 บาท ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 จากไตรมาสสองเนื่องจากต้นทุนค่าพันธุ์สัตว์ ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.3
นอกจากนี้ สถานการณ์เรื่องของการใช้สารต่างๆ ที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ เช่น สารเร่งเนื้อแดง อาหารสัตว์ที่ไม่ได้คุณภาพ ยาปฏิชีวนะที่ไม่ได้คุณภาพ ทางภาครัฐจะมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง และมีบทลงโทษจำคุกโดยไม่รอลงอาญา ซึ่งที่ผ่านมามีการจับกุมผู้ที่ลักลอบใช้สารเร่งเนื้อแดงในหลายพื้นที่ พร้อมกันนี้ ยังให้ความสำคัญในเรื่องการจับกุมโรงเชือดเถื่อน โดยเข้าไปดูแลและควบคุมอย่างเข้มงวด
"กระทรวงเกษตรฯ มีแผนยุทธศาสตร์ในปี 2560 เตรียมตั้งคณะทำงานเพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์ฉบับใหม่ ซึ่งจะมีความแตกต่างจากฉบับเดิม โดยเฉพาะการวางแผนคาดการณ์ถึงอนาคตเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน อาทิ เศรษฐกิจโลก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความร่วมมือทั้งหน่วยงานภายในและระหว่างประเทศด้วย ซึ่งได้มอบหมายให้คณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2559 นี้" นายธีรภัทร กล่าว