กรุงเทพฯ--16 ส.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายว่า ในโอกาสเดินทางไปสาธารณรัฐเกาหลี เมื่อวันที่ 7 – 10 สิงหาคมที่ผ่านมา ได้หารือกับนายลี ดอง พิล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร อาหาร และกิจการชนบท โดยประเด็นหารือที่สำคัญนอกจากจากเร่งรัด การผลักดันให้ไทยและสาธารณรัฐเกาหลี จัดทำเอ็มโอยูว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างกัน เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างไทยและสาธารณรัฐเกาหลี ในการอำนวยความสะดวกด้านการค้าสินค้าเกษตร การแก้ไขปัญหาทางเทคนิค รวมทั้งสาขาความร่วมมือด้านการเกษตรที่ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องร่วมกันแล้ว ยังได้ใช้โอกาสนี้ติดตามการเปิดตลาดไก่สดแช่เย็น/ แช่แข็ง ซึ่งได้รับทราบผลเป็นที่น่าพอใจว่ากระทรวงเกษตร อาหาร และกิจการชนบท จะเร่งจัดส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบกักกันของกระทรวงฯ เดินทางไปตรวจรับรองโรงงานที่ประเทศไทย ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายในการพิจารณาเปิดตลาดไก่สดแช่เย็น/ แช่แข็ง ส่งออกจากไทยไปสาธารณรัฐเกาหลี โดยคาดว่าจะสามารถส่งออกไก่สดไทยไปยังสาธารณารัฐเกาหลีภายในปี 2559 หรืออย่างช้าไม่เกินต้นปี 2560 ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ จะเร่งแจ้งผู้ประกอบการผู้ส่งออกไก่สดแช่เย็น/แช่แข็งของไทยเตรียมวางแผนการผลิตเพื่อรองรับปริมาณการสั่งซื้อจากเกาหลีใต้ ที่ไทยเคยส่งออกได้ได้เฉลี่ย 3 – 4 หมื่นตัน/ปี เหมือนเช่นที่ผ่านมา
"ไทยเคยเป็นผู้ส่งออกเนื้อสัตว์ปีกหลักไปยังสาธารณรัฐเกาหลี แต่ได้หยุดการส่งออกไปตลาดนี้ ตั้งแต่ปี 2547 เนื่องจากปัญหาการระบาดของไข้หวัดนก ปัจจุบันสาธารณรัฐเกาหลียังมีความจำเป็นที่จะต้องนำเข้าไก่สดแช่เย็น/แช่แข็งจากต่างประเทศ เช่น บราซิล และสหรัฐอเมริกา เกือบร้อยละ 95 ของการนำเข้ารวม ดังนั้น นับเป็นโอกาสดีไทยจะกลับมาส่งออกเนื้อสัตว์ปีกสดแช่เย็น/แช่แข็ง ไปยังสาธารณรัฐเกาหลี เนื่องจากประเทศไทยมีข้อได้เปรียบในเรื่องระยะเวลาขนส่งสินค้า โดยในช่วงปี 2554 - 2557 สาธารณรัฐเกาหลีนำเข้าไก่สดแช่เย็น/แช่แข็ง โดยเฉลี่ยประมาณ 115,000 ตันต่อปี และในปี 2558 คาดว่าการบริโภคไก่ในสาธารณรัฐเกาหลีจะอยู่ที่ประมาณ 864,000 ตัน เพิ่มจากปี 2557 ประมาณร้อยละ 1.5 โดยจะเป็นการบริโภคไก่ ที่ผลิตได้ในประเทศจำนวนประมาณ 749,000 ตัน คิดเป็น 87% และไก่นำเข้าประมาณ 115,000 ตัน คิดเป็น 13%"
อีกสินค้าหนึ่งที่ได้เจรจาขอรับการสนับสนุนจากเกาหลี คือ การเปิดตลาดนำเข้ามะม่วงพันธุ์มหาชนกของไทย ซึ่งความคืบหน้ากระบวนการพิจารณาการเปิดตลาดมะม่วงพันธุ์มหาชนก ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่ 5 จากทั้งหมด 8 ขั้นตอน ทั้งนี้ สาธารณรัฐเกาหลีเป็นตลาดคู่ค้ามะม่วงอันดับ 1 ของประเทศไทย โดยในปี 2558 นำเข้ามะม่วงจากไทย มูลค่าประมาณ 660 ล้านบาท สาธารณรัฐเกาหลีนำเข้าผลไม้สดหลายชนิดจากต่างประเทศ ในปี 2557 ผลไม้สดที่มีการนำเข้ามากที่สุด คือ มะม่วงอบไอน้ำจากไทย โดยมีส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 90 ของปริมาณผลไม้นำเข้าทั้งหมด ปัจจุบันไทยส่งออกมะม่วงไปยังสาธารณรัฐเกาหลี 3 สายพันธุ์ (น้ำดอกไม้ หนังกลางวัน แรด) สาธารณรัฐเกาหลีนำเข้ามะม่วงจากประเทศไทยมากเป็นอันดับ 2 รองจากฟิลิปปินส์ โดยมีปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นทุกปีอย่างต่อเนื่อง ส่วนแบ่งตลาดมะม่วงที่นำเข้าจากไทย คิดเป็นร้อยละ 45 ของปริมาณการนำเข้ามะม่วงทั้งหมดของสาธารณรัฐเกาหลี ผลไม้อื่นๆที่ผู้นำเข้าเห็นว่ามีศักยภาพในตลาดสาธารณรัฐเกาหลี ได้แก่ ลำไย ส้มโอ และเงาะ