กรุงเทพฯ--16 ส.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศจัดอันดับเครดิตของบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ("ThaiBev") เป็นครั้งแรก โดยจัดอันดับเครดิตสากลระยะยาว (Long-Term Issuer Default Rating) ที่ 'BBB' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ และอันดับเครดิตระยะยาวภายในประเทศ (National Long-Term Rating) ที่ 'AA+(tha)' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ
อันดับเครดิตของ ThaiBev มีปัจจัยสนับสนุนจากความสามารถในการแข่งขันของบริษัทฯ ที่แข็งแกร่งมากจากการเป็นผู้ผลิตเครื่องดื่มรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เครือข่ายการกระจายสินค้าที่กว้างขวาง ประเภทสินค้าที่หลากหลาย และการประกอบธุรกิจในอุตสาหกรรมที่มีอุปสรรคในการเข้าสู่อุตสาหกรรมที่สูง โดยเฉพาะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตถูกจำกัดโดยการที่ ThaiBev มีการกระจุกตัวของแหล่งที่มาของกระแสเงินสดจากตลาดในประเทศเป็นหลัก
ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
ผู้ผลิตเครื่องดื่มที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย – ThaiBev มีส่วนแบ่งทางการตลาดร้อยละ 90 ของปริมาณการจำหน่ายสุราในประเทศ และร้อยละ 40 ของปริมาณการจำหน่ายเบียร์ ตำแหน่งทางการตลาดที่แข็งแกร่งของบริษัทฯ ยังได้รับการสนับสนุนจากกฎเกณฑ์ข้อบังคับเกี่ยวกับการบริโภค การทำการตลาด และการจัดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เข้มงวดของประเทศไทย ซึ่งเป็นอุปสรรคในการเข้าสู่อุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่สำคัญประการหนึ่ง ThaiBev สามารถรักษาอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย ต่อรายได้สุทธิหลังหักภาษีสรรพสามิต (EBITDA Margin) ไว้ได้ที่ระดับสูงกว่าร้อยละ 50 สำหรับกลุ่มธุรกิจสุราในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา ในขณะที่ EBITDA Margin ของกลุ่มธุรกิจเบียร์ได้ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 12 ของรายได้สุทธิหลังหักภาษีสรรพสามิตในปี 2558 ซึ่งเป็นผลจากแผนการปรับปรุงผลิตภัณฑ์เบียร์ช้าง
นอกจากนี้ ThaiBev ยังเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ทั้งในประเทศและในภูมิภาค โดยตำแหน่งทางการตลาดของธุรกิจกลุ่มนี้ยังอยู่ในช่วงพัฒนาและยังไม่สามารถสร้างกำไรให้กับบริษัทฯ ได้มากนัก อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ มีความพยายามที่จะพัฒนาธุรกิจกลุ่มนี้ให้เติบโต โดยอาศัยกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งจากกลุ่มธุรกิจสุราในการลงทุนเพิ่มเติม รวมถึงการใช้ประโยชน์จากขนาดการดำเนินงานที่ใหญ่และแข็งแรง อำนาจการต่อรองที่สูง และความเป็นผู้นำในด้านช่องทางการจัดจำหน่ายของบริษัทฯ ThaiBev มีกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จำนวน 2.8 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2558 และมี EBITDA Margin ร้อยละ 32 ของรายได้สุทธิหลังหักภาษีสรรพสามิต
เครือข่ายการจัดจำหน่ายที่แข็งแกร่ง – เครือข่ายการจัดจำหน่ายสินค้าภายในประเทศที่แข็งแกร่งของ ThaiBev เป็นอุปสรรคในการเข้าสู่อุตสาหกรรมของผู้ประกอบการรายใหม่และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันที่สำคัญให้กับบริษัทฯ บริษัทฯ มีจุดจำหน่ายสินค้ามากกว่า 400,000 จุดทั่วประเทศ ทั้งในส่วนของร้านค้าปลีกและร้านอาหาร ซึ่งส่งผลให้บริษัทฯ สามารถนำสินค้าเข้าถึงตลาดได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยกลุ่มร้านค้าปลีกรายย่อยแบบดั้งเดิมยังคงเป็นช่องทางการจัดจำหน่ายที่มีสัดส่วนที่สูงในตลาดเครื่องดื่มในประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัดซึ่งมีประชากรที่มีรายได้น้อย การขนส่งมีความยากลำบาก และมีจำนวนร้านค้าปลีกสมัยใหม่ที่ยังจำกัด การจัดจำหน่ายผ่านร้านค้าปลีกรายย่อยแบบดั้งเดิมจำเป็นต้องอาศัยความสัมพันธ์ที่ยาวนาน เครือข่ายการขนส่งและกระจายสินค้าที่กว้างขวาง และมีต้นทุนค่าขนส่งที่สูงกว่าช่องทางอื่นๆ นอกจากนี้ การเข้าซื้อกิจการ Fraser and Neave, Limited (F&N) ในสัดส่วนร้อยละ 28.5 ในปี 2555 ยังมีส่วนช่วยในการขยายธุรกิจเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ รวมทั้งเป็นการขยายช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าในภูมิภาคอีกด้วย
การมีสินค้าที่หลากหลาย – อันดับเครดิตของบริษัทฯ ได้รับการสนับสนุนจากการที่บริษัทฯ มีการจำหน่ายสินค้าที่หลากหลายในหลายระดับราคาสินค้า ซึ่งทำให้บริษัทฯ มีสินค้าที่สามารถรองรับการปรับเปลี่ยนรสนิยมในการบริโภคของผู้บริโภค และเป็นการลดความผันผวนของรายได้ของบริษัทฯ เช่น การที่ผู้บริโภคสามารถเปลี่ยนจากการบริโภคสุราขาวเป็นสุราสีหรือเบียร์ซึ่งมีราคาสูงขึ้นตามกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น หรือ การเลือกเปลี่ยนมาบริโภคชาเขียวหรือเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์สำหรับกลุ่มลูกค้าที่ใส่ใจสุขภาพมากขึ้น เป็นต้น
การกระจุกตัวของแหล่งที่มาของรายได้จากตลาดเดียว – มากกว่าร้อยละ 90 ของรายได้ของบริษัทฯ ในปี 2558 มาจากการจำหน่ายภายในประเทศ ซึ่งเป็นตลาดหลักของบริษัทฯ ณ ปัจจุบัน ซึ่งส่งผลให้ ThaiBev ต้องเผชิญความเสี่ยงทางด้านการเมืองและกฎเกณฑ์ข้อบังคับของตลาดหรือประเทศเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจำหน่ายสินค้าส่วนใหญ่ของบริษัทฯ มีแนวโน้มที่จะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอัตราภาษีและกฎเกณฑ์การควบคุมอยู่เสมอ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาบริษัทฯ สามารถบริหารความเสี่ยงดังกล่าวได้เป็นอย่างดี โดยกระแสเงินสดของบริษัทฯ ที่ผ่านมาไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากความไม่สงบเรียบร้อยทางการเมืองหรือการปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิต ThaiBev มีแผนที่จะขยายธุรกิจไปยังภูมิภาคโดยผ่าน F&N ซึ่งมีฐานการตลาดที่เข้มแข็งในธุรกิจเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างไรก็ตาม ฟิทช์คาดว่ากระแสเงินสดส่วนใหญ่ของ ThaiBev จะยังมาจากธุรกิจในประเทศไทยเป็นหลักในช่วงสองถึงสามปีข้างหน้า โดยฟิทช์ไม่ได้คาดการณ์ว่าจะมีการเข้าซื้อกิจการใหม่ๆ ในช่วงเวลาดังกล่าว
การรักษาอัตราส่วนหนี้สินให้อยู่ในระดับต่ำ – อัตราส่วนทางการเงินที่แข็งแกร่งเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนอันดับเครดิตของ ThaiBev และทำให้บริษัทฯ มีความยืดหยุ่นทางการเงินที่ค่อนข้างสูงในการใช้แหล่งเงินทุนจากการกู้ยืมเพื่อการขยายธุรกิจ โดยไม่กระทบกับอันดับเครดิตในช่วงสองปีข้างหน้า ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินของ Thaibev จะลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยมีอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO adjusted net leverage) อยู่ในระดับต่ำกว่า 1.5 เท่า ในปี 2559-2561 (ภายใต้สมมิฐานว่าไม่มีการเข้าซื้อกิจการใหม่ในช่วงเวลาดังกล่าว) โดยบริษัทฯ คาดว่าจะสามารถรักษาอัตราส่วนหนี้สินดังกล่าวให้อยู่ในระดับที่ไม่สูงไปกว่า 2.5 เท่าได้ในระยะยาว ทั้งนี้จากประวัติที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถและความตั้งใจที่จะรักษาอัตราส่วนหนี้สินให้อยู่ในระดับต่ำ โดยบริษัทฯ สามารถลดอัตราส่วนหนี้สินดังกล่าวจาก 5.0 เท่าในปี 2555 หลังจากที่ ThaiBev ได้เข้าซื้อกิจการ F&N ลงมาอยู่ที่ 1.3 เท่า ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2559 โดยการลดลงของอัตราส่วนหนี้สินดังกล่าวเป็นผลจากการลดทุนใน F&N ภายหลังจากการเข้าซื้อกิจการ รวมถึงจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่มั่นคงของ ThaiBev และการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนและการจ่ายเงินปันผลที่ไม่สูงมากนัก
การแข่งขันที่ไม่สูงนักจากสินค้านำเข้า – ฟิทช์เชื่อว่ามีความเป็นไปได้น้อยที่ผู้บริโภคจะเปลี่ยนไปบริโภคเครื่องดื่มนำเข้าแทนเครื่องดื่มในประเทศ เนื่องจากส่วนต่างของระดับราคาสินค้าที่ผลิตภายในประเทศกับสินค้านำเข้าที่อยู่ในระดับสูง ไม่ว่าจะเป็นส่วนต่างราคาสุราสีในประเทศเทียบกับสุรานำเข้าที่ราคาต่ำที่สุด หรือเบียร์ในประเทศเทียบกับเบียร์นำเข้าหรือเบียร์ระดับสูง นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเป็นประเทศที่มีกฎเกณฑ์ข้อบังคับเกี่ยวกับการผลิตและการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เข้มงวด เช่น การปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บ่อยครั้ง การจำกัดการโฆษณา การห้ามจัดรายการส่งเสริมการขาย รวมถึงการจำกัดช่วงเวลาการจำหน่ายและพื้นที่จำหน่าย อย่างไรก็ตาม ในทางกลับกันกฎเกณฑ์เหล่านี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างอุปสรรคในการเข้าสู่อุตสาหกรรมของผู้ประกอบการรายใหม่
ทั้งนี้ ยังคงมีความเสี่ยงที่รัฐบาลจะปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในอนาคต อย่างไรก็ตาม การเพิ่มราคาสุรามีผลกระทบต่อการบริโภคสุราไม่มากนัก เนื่องจากผู้บริโภคมีความยืดหยุ่นต่อราคาค่อนข้างต่ำ และการที่ระดับราคาของสุราที่ผลิตในประเทศอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากเมื่อเทียบกับกำลังซื้อของผู้บริโภค น่าจะมีส่วนช่วยให้บริษัทฯ สามารถรักษาความสามารถในการทำกำไรไว้ได้ในระยะยาว โดยธุรกิจสุราเป็นธุรกิจหลักของ ThaiBev ด้วยสัดส่วน EBITDA ร้อยละ 78 ของ EBITDA ทั้งหมดในไตรมาสแรกของปี 2559
สมมุติฐานที่สำคัญ
สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ
- รายได้เติบโตในอัตราร้อยละ 3-7 ต่อปี
- EBITDA margin สำหรับธุรกิจสุรายังคงอยู่ในระดับประมาณร้อยละ 55 ของรายได้สุทธิหลังหักภาษีสรรพสามิต; EBITDA margin สำหรับธุรกิจเบียร์ ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับประมาณร้อยละ 15 ของรายได้สุทธิหลังหักภาษีสรรพสามิต ในปี 2559 และลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 14 ในปี 2560 จากการคาดการณ์ว่าจะมีแรงกดดันจากการแข่งขัน; EBITDA margin สำหรับธุรกิจเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ปรับตัวดีขึ้น; EBITDA margin สำหรับธุรกิจอาหารคงอยู่ในระดับเดิม
- ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุน 4-5 พันล้านบาทต่อปี ในปี 2559-2563
- อัตราการจ่ายเงินปันผลต่อกำไรสุทธิ (Dividend Payout) อยู่ที่ระดับร้อยละ 60
ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยลบ:
- อัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO adjusted net leverage) อยู่ในระดับสูงกว่า 2.0 เท่า อย่างต่อเนื่อง
- การขยายการลงทุนใหม่อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งส่งผลให้สถานะทางการเงินของบริษัทฯ อ่อนแอลง
- EBITDA margin สำหรับธุรกิจสุราที่อ่อนแอลงอย่างต่อเนื่อง โดย EBITDA margin ลดลงต่ำกว่าร้อยละ 50 ของรายได้สุทธิหลังหักภาษีสรรพสามิต
- อัตราส่วนกระแสเงินสดสุทธิต่อรายได้สุทธิหลังหักภาษีสรรพสามิต (Free Cash Flow Margin) ลดลงต่ำกว่าร้อยละ 3.5 อย่างต่อเนื่อง
ปัจจัยบวก:
- ฟิทช์ไม่คาดว่าจะมีการปรับเพิ่มอันดับเครดิตในช่วงสองถึงสามปีข้างหน้านี้ เนื่องจากความกระจุกตัวของแหล่งที่มาของกระแสเงินสดที่มาจากประเทศไทยเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ในระยะยาว การกระจายตัวของแหล่งที่มาของรายได้จากต่างประเทศที่มากขึ้น โดยไม่ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันในประเทศ หรือไม่ทำให้ฐานะทางการเงินอ่อนแอลง อาจส่งผลในทางบวกต่ออันดับเครดิตในอนาคต