กรุงเทพฯ--16 ส.ค.--Triple J Communication
คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. แถลงผลงานสำคัญในรอบ 2 ปีที่ดำรงตำแหน่ง พร้อมเผยแผนการดำเนินงานการกำกับกิจการพลังงาน มุ่งผลักดันผลงานในด้านการกำกับ อาทิ อัตราค่าบริการ โครงสร้างค่าไฟฟ้า พัฒนามาตรฐานคุณภาพ บริหารจัดการเพื่อความมั่นคง เพิ่มการแข่งขัน สร้างการยอมรับและการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ควบคู่กับพัฒนาองค์กรสู่องค์กรสมรรถนะสูง เพื่อสร้างเสถียรภาพต่อผู้ใช้พลังงานสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
นายพรเทพ ธัญญพงศ์ชัย ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เปิดเผยถึงแผนการดำเนินงานการกำกับดูแลกิจการพลังงานของ กกพ. ว่า "กกพ. จะยังคงให้ความสำคัญในทิศทางการกำกับ 3 ด้านหลัก ตามแผนยุทธศาสตร์การกำกับกิจการพลังงาน คือ ด้านการกำกับกิจการพลังงานอย่างโปร่งใส เป็นธรรม และตรวจสอบได้ ด้านการบริหารจัดการเพื่อความมั่นคงและเพิ่มการแข่งขันของกิจการพลังงาน และด้านสุดท้าย การสร้างการยอมรับและการมีส่วนร่วมในการพัฒนากิจการพลังงานจากกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน รวมทั้งดำเนินงานให้สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐด้านพลังงาน แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP 2015) แล.ะแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ตลอดจนสนับสนุนและเร่งดำเนินการภารกิจเร่งด่วนหลายประการตามกรอบนโยบายของรัฐบาลให้สำเร็จลุล่วงตามเป้าหมาย เพื่อมุ่งผลักดันผลงานในการกำกับดูแลกิจการพลังงาน
"ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา กกพ. ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ ของสำนักงาน กกพ. ได้ดำเนินงานอย่างมุ่งมั่น ทุ่มเทแรงกายแรงใจอย่างเต็มที่และเต็มความสามารถ เพื่อให้สำเร็จลุล่วงตามเป้าหมายที่ตั้งไว้"
กกพ. ได้ดำเนินงานและได้รับผลสำเร็จตามภารกิจสำคัญในเรื่องต่างๆ ที่สะท้อนถึงการกำกับทั้ง 3 ด้านหลัก ที่กล่าวมา อาทิการกำกับกิจการพลังงานอย่างโปร่งใส เป็นธรรม และตรวจสอบได้ ได้มีการปรับโครงสร้างอัตรา ค่าไฟฟ้า สำหรับปี 2558 – 2560 ซึ่งเริ่มใช้ตั้งแต่ค่าไฟฟ้าประจำเดือนพฤศจิกายน 2558 พัฒนากระบวนการออกใบอนุญาตแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) เพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้หลักเกณฑ์การกำกับที่ได้ออกประกาศ รวมถึงได้กำหนดมาตรฐานคุณภาพบริการไฟฟ้าของผู้ผลิต ผู้ส่งและผู้จำหน่ายไฟฟ้า การบริหารจัดการเพื่อความมั่นคงและเพิ่มการแข่งขันของกิจการพลังงาน ได้มีการกำกับการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนตามประเภทเชื้อเพลิงต่างๆ พร้อมสร้างความชัดเจนในบทบาทการกำกับต่อนโยบายรัฐในกระบวนการจัดหาพลังงาน เพิ่มการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ด้วยการจัดทำข้อบังคับว่าด้วยหลักเกณฑ์การจัดทำข้อกำหนดเกี่ยวกับการเปิดให้ใช้หรือเชื่อมต่อระบบส่งก๊าซธรรมชาติและสถานีแอลเอ็นจีแก่บุคคลที่สาม (Third Party Access Regime: TPA Regime) ตลอดจนประสานประโยชน์การกำกับกิจการในภูมิภาคอาเซียน
ท้ายสุด ผลการดำเนินงานอีกด้านหนึ่งที่สำคัญนั่นคือ การสร้างการยอมรับและการมีส่วนร่วมในการพัฒนากิจการพลังงานจากกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน โดยการให้ กฟน. และ กฟภ. จ่ายคืนผลประโยชน์หรือดอกผล ที่ได้รับจากเงินประกันการใช้ไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า ตลอดจนยกระดับมาตรการคุ้มครองผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศที่มีกว่า 20 ล้านราย ภายใต้ประกาศ กกพ. ว่าด้วยเรื่องมาตรฐานของสัญญาให้บริการไฟฟ้า พ.ศ. 2558 ซึ่งเป็นผลให้มาตรฐานของสัญญาให้บริการไฟฟ้ามีความเป็นธรรมต่อผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการเพิ่มมากขึ้น
"การบริหารกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ได้ใช้กลไกกองทุนฯ อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในปี 2559 ได้ดูแลเพื่อการพัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบ กกพ. ได้อนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณเพื่อจัดสรรให้กับกองทุนพัฒนาไฟฟ้าในพื้นที่ประกาศประเภท ก และประเภท ข จำนวนรวม 66 กองทุน งบประมาณรวมทั้งสิ้น 2,908 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการจำนวน 6,493 โครงการ และกองทุนประเภท ค จำนวน 60 กองทุน งบประมาณรวมทั้งสิ้น 31.16 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการจำนวน 160 โครงการ ตลอดจนมีการนำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำหรับผู้รับใบอนุญาตจำหน่ายไฟฟ้า เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน และเทคโนโลยีที่ใช้ในการประกอบกิจการไฟฟ้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย ตั้งแต่รอบบิลเรียกเก็บค่าไฟฟ้าของเดือนมกราคม 2558 เป็นต้นมา จนถึง ณ วันที่ 30 กันยายน 2558 มีเงินนำส่งเข้ากองทุนฯ ตามมาตรา 97(4) ของพระราชบัญญัติฯ แล้วประมาณ 170 ล้านบาท และนำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำหรับผู้รับใบอนุญาตจำหน่ายไฟฟ้า เพื่อส่งเสริมสังคมและประชาชนให้มีความรู้ ความตระหนัก และมีส่วนร่วมทางด้านไฟฟ้า เช่นเดียวกับกองทุนฯ ตามมาตรา 97(5) ของพระราชบัญญัติฯ ที่มีเงินนำส่งเข้าแล้วประมาณ 68 ล้านบาท โดยการดำเนินงานตลอด 2 ปีที่ผ่านได้ดำเนินงานควบคู่ไปกับงานพัฒนาองค์กร ที่ให้ความสำคัญในการพัฒนาบุคลากรในทักษะการวิจัยและพัฒนา ตลอดจนกระบวนการทำงานที่มีมาตรฐานและใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์มาสนับสนุน" นายพรเทพ กล่าวทิ้งท้าย