กรุงเทพฯ--16 ส.ค.--คณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต
ผลของประชามติรัฐธรรมนูญออกมารับทั้งรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงโดยการทำประชามติค่อนข้างเรียบร้อยแต่ผู้มาใช้สิทธิค่อนข้างน้อย ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายควรนำผลการแสดงประชามติไปศึกษาวิจัยดูว่าผลการแสดงประชามติออกมาอย่างที่ปรากฎเพราะอะไร โดยควรทำความเข้าใจทั้งผู้ที่ออกเสียงรับและไม่รับ เพื่อจะได้เข้าใจเจตนารมณ์ของประชาชน และ สามารถนำพาประเทศไปสู่ "สันติธรรม" และ "ประชาธิปไตยที่มั่นคงและมีคุณภาพกว่าเดิม"
ผลประชามติเป็นบวกต่อตลาดหุ้นและการลงทุนในตลาดเงินโดยไม่มีนัยยสำคัญมากนัก โดยตลาดหุ้นน่าจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงสั้นๆเท่านั้น เนื่องจาก P/E ratio หรือ อัตราส่วนของราคาต่อกำไรของตลาดหลักทรัพย์และหุ้นพื้นฐานดีจำนวนมากอยู่ในระดับที่สูงมากอยู่แล้ว ส่วนเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอีกอย่างน้อย 5-10% จากระดับปัจจุบัน ทางด้านภาคเศรษฐกิจจริงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยสำคัญ ภาคส่งออกจะยังคงขยายต่ำหรืออาจติดลบต่อ ภาคการผลิตและการลงทุนภาคเอกชนกระเตื้องขึ้นเล็กน้อย ภาคท่องเที่ยวยังคงดีกว่าที่คาดการณ์เช่นเดิม ภาคการบริโภคและความเชื่อมั่นผู้บริโภคกระเตื้องขึ้นเล็กน้อยจากการคาดหวังที่จะมีการเลือกตั้งในปีหน้า ตนจึงยืนยันการคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้ไว้ที่ระดับ 3.2-3.5% เช่นเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง
การลงประชามติเป็นประชาธิปไตยทางตรง เกิดผลบวกต่อการสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตย และ ลดความเสี่ยงของวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่ใช้ความรุนแรงและการรัฐประหารในอนาคตได้ระดับหนึ่ง
ผลของประชามติรับรัฐธรรมนูญและรับคำถามพ่วงจะส่งผลต่อประเทศและเศรษฐกิจของประเทศในระยะปานกลางและระยะยาวอย่างไร ขึ้นอยู่กับว่า ผู้มีอำนาจเปิดกว้างในการร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 10 ฉบับรวมทั้งยุทธศาสตร์ชาติให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมมากน้อยแค่ไหน และ ผลักดันให้เกิดการปฏิรูปประเทศในเรื่องสำคัญจริงจังแค่ไหน หากมีการเปิดกว้าง สร้างบรรยากาศประชาธิปไตย ปลดปล่อยผู้เห็นต่างออกจากการจับกุมและคุมขังและดำเนินการปฏิรูปอย่างจริงจังจะเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจและการลงทุนภาคเอกชน รวมทั้งภาคส่งออกด้วย
ในฐานะ รองประธานมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ กล่าวทิ้งท้ายว่า จะได้จัดให้มีการหารือใน กลุ่มพลเมืองผู้ห่วงใย ให้เกิดความมั่นใจว่า การดำเนินการต่างๆของผู้มีอำนาจและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายก่อนประเทศไทยกลับคืนสู่การเลือกตั้งคืนอำนาจให้ประชาชน จะเปิดกว้าง มีเสรีภาพ สร้างบรรยากาศ "สันติธรรม" ยึดหลักนิติรัฐ กฎหมายลูกต้องยึดหลักการสำคัญการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิของประชาชนในด้านต่างๆ ที่ไม่ถดถอยไปจากเดิม
มหาวิทยาลัยรังสิต เมืองเอก 15.00 น. 8 ส.ค. พ.ศ. 2559คณะเศรษฐศาสตร์ และ ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ
ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้เปิดเผยว่า ผลของประชามติรัฐธรรมนูญออกมารับทั้งรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงโดยการทำประชามติค่อนข้างเรียบร้อยแต่ผู้มาใช้สิทธิค่อนข้างน้อย ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายควรนำผลการแสดงประชามติไปศึกษาวิจัยดูว่าผลการแสดงประชามติออกมาอย่างที่ปรากฎเพราะอะไร โดยควรทำความเข้าใจทั้งผู้ที่ออกเสียงรับและไม่รับ เพื่อจะได้เข้าใจเจตนารมณ์ของประชาชน และ สามารถนำพาประเทศไปสู่ "สันติธรรม" และ "ประชาธิปไตยที่มั่นคงและมีคุณภาพกว่าเดิม"
ผลประชามติเป็นบวกต่อตลาดหุ้นและการลงทุนในตลาดเงินโดยไม่มีนัยยสำคัญมากนัก โดยตลาดหุ้นน่าจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงสั้นๆเท่านั้น เนื่องจาก P/E ratio หรือ อัตราส่วนของราคาต่อกำไรของตลาดหลักทรัพย์และหุ้นพื้นฐานดีจำนวนมากอยู่ในระดับที่สูงมากอยู่แล้ว ส่วนเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอีกอย่างน้อย 5-10% จากระดับปัจจุบัน ทางด้านภาคเศรษฐกิจจริงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยสำคัญ ภาคส่งออกจะยังคงขยายตัวต่ำหรืออาจติดลบต่อ ภาคการผลิตและการลงทุนภาคเอกชนกระเตื้องขึ้นเล็กน้อย ภาคท่องเที่ยวยังคงดีกว่าที่คาดการณ์เช่นเดิม ภาคการบริโภคและความเชื่อมั่นผู้บริโภคกระเตื้องขึ้นเล็กน้อยจากการคาดหวังที่จะมีการเลือกตั้งในปีหน้า ตนจึงยืนยันการคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้ไว้ที่ระดับ 3.2-3.5% เช่นเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง โดยปรับเพิ่มการเติบโตของการลงทุนภาครัฐและการกระเตื้องขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน ภาคการท่องเที่ยวดีกว่าคาดการณ์เล็กน้อย ส่วนภาคส่งออกน่าจะติดลบตามที่คาดการณ์ไว้เดิม (-1) – (-2)%
ดร. อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า การลงประชามติเป็นประชาธิปไตยทางตรง เกิดผลบวกต่อการสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยและการยอมรับเสียงข้างมาก ลดความเสี่ยงของวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่ใช้ความรุนแรง การฉีกรัฐธรรมนูญและการรัฐประหารในอนาคตได้ระดับหนึ่ง แต่น่าเสียดายที่การมาใช้สิทธิอยู่ที่ระดับเพียง 55% เท่านั้น เทียบกับการเลือกตั้งทั่วไปปี พ.ศ. 2554 ที่ประชาชนมาใช้สิทธิถึง 75%
ดร. อนุสรณ์ กล่าวถึงผลของปัจจัยประชามติ (Referendum Factor) ต่อเศรษฐกิจไทย ว่า ผลของประชามติรับรัฐธรรมนูญและรับคำถามพ่วงจะส่งผลต่อประเทศและเศรษฐกิจของประเทศในระยะปานกลางและระยะยาวอย่างไร ขึ้นอยู่กับว่า ผู้มีอำนาจเปิดกว้างในการร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 10 ฉบับรวมทั้งยุทธศาสตร์ชาติให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมมากน้อยแค่ไหน และ ผลักดันให้เกิดการปฏิรูปประเทศในเรื่องสำคัญจริงจังแค่ไหน หากมีการเปิดกว้าง สร้างบรรยากาศประชาธิปไตย ปลดปล่อยผู้เห็นต่างออกจากการจับกุมและคุมขังจะเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจและการลงทุนภาคเอกชนและผลดีต่อภาคส่งออก (ถูกกีดกันจากชาติตะวันตกน้อยลง) กรณีรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ คำถามพ่วงผ่านประชามติ นี้ ไม่ได้หมายความว่า คนส่วนใหญ่ที่ไปใช้สิทธิปฏิเสธหลักการนายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งแต่อย่างใด เพราะเป็นหลักการที่สังคมสถาปนาและยอมรับกันมาเกือบ 30 ปีแล้ว และไม่ได้หมายความว่า การต่อสู้ของวีรชนประชาธิปไตยที่เสียสละชีวิตเมื่อเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2535 สูญเปล่าแต่อย่างใด คนส่วนใหญ่ต้องการการปฏิรูปและการดำเนินตามยุทธศาสตร์ระยะยาวที่มีความต่อเนื่อง ต้องการกลับคืนประชาธิปไตยและมีการเลือกตั้งโดยเร็วมากกว่า
ส่วน เสียงประชามติออกมาเป็นเอกฉันท์ นั้นอาจสะท้อนว่าสังคมมีความขัดแย้งลดลง หากก่อนหน้านี้มีการเปิดกว้างกว่านี้ ผลของการลงประชามติจะมีความหมายมากขึ้น ประเด็นเนื้อหาบางส่วนของรัฐธรรมนูญที่ขัดแย้งกันสูง เช่น ที่มาของนายกรัฐมนตรี ที่มา ส.ว. ดุลยภาพทางอำนาจ ระบบและกลไกในการจัดการปัญหาการทุจริต ประเด็นเรื่องระบบสวัสดิการของรัฐ ไม่ว่าจะเรื่องการศึกษาฟรีหรือการเข้าถึงการบริการสาธารณสุข เป็นต้น จะคลี่คลายลงจากระบวนการการมีส่วนร่วม กระบวนการถกแถลงและเจรจาหารือกัน
ส่วนภารกิจการปฏิรูปประเทศเป็นภารกิจที่ต้องใช้เวลายาวนานจึงบรรลุเป้าหมาย กระบวนการปฎิรูปจำเป็นต้องเปิดให้เกิดการมีส่วนร่วมจากประชาชนทุกภาคส่วนอย่างเต็มที่และควรเป็นกระบวนการที่ยึดถือหลักการประชาธิปไตย
ดร. อนุสรณ์ ในฐานะ รองประธานมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ กล่าวทิ้งท้ายว่า จะได้จัดให้มีการหารือใน กลุ่มพลเมืองผู้ห่วงใย ให้เกิดความมั่นใจว่า การดำเนินการต่างๆของผู้มีอำนาจและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายก่อนประเทศไทยกลับคืนสู่การเลือกตั้งคืนอำนาจให้ประชาชน จะเปิดกว้าง มีเสรีภาพ สร้างบรรยากาศ "สันติธรรม" ยึดหลักนิติรัฐ กฎหมายลูกต้องยึดหลักการสำคัญการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิของประชาชนในด้านต่างๆ ที่ไม่ถดถอยไปจากเดิม พัฒนาสถาบันพรรคการเมืองให้เข้มแข็ง เปิดกว้างและสร้างแรงจูงใจให้คนดีมีความรู้เข้าสู่การสมัครรับเลือกตั้ง การตรวจสอบและถ่วงดุลการใช้อำนาจอธิปไตยของกลไกทางการเมืองที่มีความสมดุล การกำหนดให้มีการปฏิรูปที่เป็นรูปธรรม การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นที่มีความพร้อมในการจัดการตนเอง การกำหนดมาตรการในการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่นและมาตรการในการป้องกันความขัดแย้งไม่ให้ขยายผลไปสู่การใช้ความรุนแรง ยุทธศาสตร์ 20 ปีควรเป็นทิศทางใหญ่ เป้าหมายโดยรวม ส่วนรายละเอียดแผนการดำเนินการควรเป็นเรื่องของพรรคการเมืองที่ได้รับฉันทานุมัติจากประชาชนผ่านการเลือกตั้ง รวมทั้ง มีบทบัญญัติที่เอื้อให้สามารถปรับเปลี่ยนแก้ไขรัฐธรรมนูญได้โดยไม่ยากเกินไป เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์และความเปลี่ยนแปลงของสังคมตามความจำเป็นและตามกรอบของกฎหมาย รวมทั้งไม่เป็นข้ออ้างในการแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเมืองนอกวิถีทางรัฐธรรมนูญอีกในอนาคต