กรุงเทพฯ--16 ส.ค.--กระทรวงพลังงาน
ก.พลังงาน แจ้งข่าวดี ยันราคาน้ำมันตลาดโลกช่วงครึ่งหลังของปี 59 มีแนวโน้มทรงตัวอยู่ที่ 35 - 40 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ชี้ช่วยให้ครึ่งปีหลัง 2559 ราคาน้ำมันขายปลีก และค่าไฟฟ้าของไทย มีแนวโน้มยังทรงตัวจากปลายเดือนกรกฎาคม และมีแนวโน้มลดลง ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของไทย จากต้นทุนพลังงานที่ลดลง
พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์และทิศทางราคาน้ำมันตลาดโลกของกระทรวงพลังงาน พบว่า ปริมาณการผลิตน้ำมันของโลกเริ่มมีแนวโน้มลดลงใกล้เคียงกับความต้องการใช้ ในระดับ 95 – 96 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งจะส่งผลให้ราคาน้ำมันตลาดโลกในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2559 มีแนวโน้มทรงตัวอยู่ที่ 35 – 40 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบดูไบในช่วงต้นเดือนสิงหาคม อยู่ในระดับประมาณ 40 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เนื่องจากสต๊อกของประเทศผู้ใช้น้ำมันที่สำคัญ เช่น สหรัฐ และประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป(อียู)ลดลง แม้ว่าปริมาณการผลิตของแคนาดา ไนจีเรีย และลิเบียมีการผลิตเพิ่มขึ้น แต่ผลของ Brexit และเศรษฐกิจโลกที่ยังขยายตัวอย่างเชื่องช้า มีผลทำให้ราคาน้ำมันอยู่ในระดับทรงตัว
ทั้งนี้ หากไม่มีกรณีฉุกเฉิน เช่น การเกิดสงครามในประเทศตะวันออกกลาง การลดลงของปริมาณการผลิตน้ำมันของกลุ่มประเทศโอเปคและนอกโอเปค คาดว่าจะส่งผลให้ราคาน้ำมันขายปลีกของไทยทั้งในกลุ่มราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ และน้ำมันดีเซลซึ่งถือเป็นเชื้อเพลิงหลักที่สำคัญในภาคขนส่งและภาคอุตสาหกรรม น่าจะทรงตัวอยู่ในระดับปัจจุบันที่ 23 – 25 บาทต่อลิตร ไปจนถึงช่วงครึ่งหลังของปี 2559 ซึ่งจะส่งผลดีต่อค่าไฟฟ้าที่ไม่ปรับเพิ่มขึ้นและมีแนวโน้มลดลง ทั้งนี้โดยภาพรวมจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและการลงทุนของไทยตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
พลเอก อนันตพร กล่าวเพิ่มว่า จากการส่งต่อข้อมูลเปรียบเทียบราคาน้ำมันขายปลีกของไทย และประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะประเทศมาเลเซียผ่านทางโซเชี่ยลมีเดีย และมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า ราคาน้ำมันขายปลีกของไทยสูงกว่าประเทศมาเลเซียมาก ซึ่งเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคนั้น กระทรวงพลังงานขอชี้แจงว่าเป็นข้อมูลที่ไม่เป็นจริง เพราะราคาตั้งต้น อันได้แก่ ราคา ณ โรงกลั่น จะสะท้อนต้นทุนราคาในตลาดโลกที่ใกล้เคียงกัน แต่ที่ราคาน้ำมันขายปลีกของไทยแตกต่างไปจากประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากมีโครงสร้างการจัดเก็บภาษีน้ำมันที่แตกต่างกันซึ่งขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละประเทศ ตัวอย่างเช่น ประเทศมาเลเซียมีนโยบายไม่เก็บภาษีน้ำมัน จึงทำให้ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศมาเลเซียต่ำกว่าของประเทศไทย ถึงประมาณ 5-6 บาทต่อลิตร ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านที่มีราคาน้ำมันขายปลีกแพงกว่าประเทศไทย เช่น ประเทศสิงคโปร์ เวียดนาม และสปป.ลาว เป็นต้น ซึ่งจะขึ้นอยู่กับนโยบายราคาน้ำมันของประเทศนั้น ๆ