กรุงเทพฯ--17 ส.ค.--สำนักงาน ป.ป.ช.
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯสยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวันอังคารที่ 9 สิงหาคม 2559 เวลา 15.00 น. ณ สำนักงาน ป.ป.ช. ถนนนนทบุรีจังหวัดนนทบุรี โดยมีกำหนดการ ดังนี้
เวลา 15.00 น. - สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง ถึงสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี)
- ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดนนทบุรี ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 11 ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนนทบุรี ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติและ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เฝ้าฯ รับเสด็จ
- นายกเหล่ากาชาดจังหวัดนนทบุรี และกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ทูลเกล้าฯ ถวายพวงมาลัย
- เสด็จเข้าพลับพลาพิธี
- ประทับพระราชอาสน์
- ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯถวายสูจิบัตร
- กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายหนังสือที่ระลึก
- เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เข้าเฝ้าฯทูลเกล้าฯ ถวายเงินเพื่อทรงใช้สอยตามพระราชอัธยาศัย
- ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กราบบังคมทูลรายงานประวัติความเป็นมาในการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และกราบบังคมทูลเชิญเสด็จทรงประกอบพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
- เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กราบบังคมทูลเบิกผู้มีอุปการะคุณ เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานของที่ระลึก จำนวน 15 ราย และกราบบังคมทูล ถวายของที่ระลึก
- เสด็จออกจากพลับพลาพิธี ไปยังแท่นมณฑลพิธีหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
- ทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรคลุมพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ทหารกองเกียรติยศพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ ถวายความเคารพ/วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ชาวพนักงานประโคมกระทั่ง แตรมโหระทึก)
- เสด็จขึ้นลานพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ
- ทรงพระสุหร่าย ทรงเจิมฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ
- ทรงวางพุ่มดอกไม้
- ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ
- ทรงคม
- เสด็จเข้าอาคารสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
- ทอดพระเนตรนิทรรศการรัชกาลที่ 5
- เสด็จไปยังบริเวณฉายพระฉายาลักษณ์
- ฉายพระฉายาลักษณ์ร่วมกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติและ ผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(จำนวน 2 ชุด)
- เสด็จออกจากอาคารสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
- เสด็จฯ ไปประทับรถยนต์พระที่นั่ง(วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี)
- เสด็จพระราชดำเนินกลับ
สำหรับความเป็นมาในการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีรายละเอียดดังนี้
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ลำดับที่ ๕ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เสด็จขึ้นครองราชย์ในช่วงระยะเวลาที่ประเทศสยามต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย และเสี่ยงต่อการสูญเสียอธิปไตย ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกล ทรงเร่งรัดการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงประเทศในทุกด้าน เพื่อให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศ แต่การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงประเทศดังกล่าว ยังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะเกิดปัญหาด้านการปกครองหลายประการ ปัญหาที่สำคัญประการหนึ่ง คือการ ฉ้อราษฎร์บังหลวงของข้าราชการในสมัยนั้น ทรงใช้การปฏิรูปด้านต่างๆ เข้ามาช่วยขจัดปัญหา ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตราพระราชบัญญัติ "กรมตรวจ ร.ศ. ๑๐๙" ซึ่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ มีจำนวน สิบหก มาตรา เป็นการจัดตั้งหน่วยงานรับผิดชอบในการตรวจสอบ และป้องกันการทุจริตของข้าราชการ นอกจากนี้ยังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตรากฎหมาย "ลักษณะอาญา ร.ศ.127" ใน ส่วนที่ 2 บทที่ 2 ว่าด้วยความผิดฐานใช้อำนาจแลตำแหน่งหน้าที่ในทางทุจริต มาตรา 129 – มาตรา 246 ซึ่งมีการกำหนดโทษในมูลฐานความผิดฐานทุจริตไว้อย่างเป็นหมวดหมู่และอย่างเป็นระบบเป็นอย่างสากลมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ในฐานะองค์กรนำด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งมีหน้าที่ในการตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐ และข้าราชการที่ประพฤติทุจริต เสมือนในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ จึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตสร้างพระบรม ราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ผู้ทรงปฏิรูปด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของประเทศ อันเป็นแนวทางปฏิบัติที่ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ยึดถือและปฏิบัติตามเสมอมา เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ ผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติตลอดไป
ขั้นตอนการดำเนินการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
1. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มีแนวทางตามที่ได้กล่าวมาในข้างต้นจึงได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เพื่อประดิษฐาน ด้านหน้าอาคารสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (แห่งใหม่) อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี จึงได้มีหนังสือกราบบังคมทูล เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2547
2. สำนักงานราชเลขานุการในพระองค์ฯ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้แจ้งว่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาต เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2547
3. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ได้มีหนังสือแจ้งความประสงค์ ขอสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ต่อคณะกรรมการพิจารณาการสร้างอนุสาวรีย์แห่งชาติ กรมศิลปากร เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2552
4. คณะกรรมการพิจารณาการสร้างอนุสาวรีย์แห่งชาติ กรมศิลปากร มีมติในการประชุมครั้งที่ 2 / 2553 วันที่ 26 มีนาคม 2553 เห็นชอบให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ดำเนินการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระอิริยาบถทรงยืน ขนาดสองเท่าพระองค์จริง
5. กระทรวงวัฒนธรรมได้มีหนังสือถึงสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อขอให้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2554
6. สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้มีหนังสือแจ้งให้ทราบว่า ทรงพระกรุณาพระราชทานพระบรม ราชานุญาตให้สร้างได้
7. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ดำเนินการโดยการขอความอนุเคราะห์ กรมศิลปากรดำเนินการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (จำลอง) ในการนี้ใช้งบประมาณดำเนินการทั้งสิ้นจำนวน 4,034,410 บาท
8. ระยะเวลาในการดำเนินการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เป็นเวลา 18 เดือน
รูปแบบพระบรมราชานุสาวรีย์
พระอิริยาบถทรงยืน ฉลองพระองค์ด้วยชุดสูท ขนาดสองเท่าของพระองค์จริง หล่อด้วยโลหะ มีทองแดงผสม
ผู้ออกแบบ นายสมควร อุ่มตระกูล ประติมากรชำนาญการพิเศษ สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร
รูปแบบแท่นฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ
โครงสร้าง ค.ส.ล. ผิวกรุหินอ่อน WHITE CARRARA ทั้งหมด บริเวณด้านหน้ากรุลายประดับหล่อด้วยโลหะทองแดงรมดำ
ผู้ออกแบบ นางวงขวัญ อุตตะมะ สถาปนิกชำนาญการพิเศษ กรมศิลปากร
สำหรับพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีขนาดเป็นสองเท่าของพระองค์จริงคือ สูง 3.60 เมตร ส่วนฐานรองพระบาท 0.20 เมตร โดยกำหนดความสูงให้เหมาะสมกับขนาดพื้นที่ที่จะประดิษฐาน แบบของพระบรมราชานุสาวรีย์เป็นพระอิริยาบถยืน ลงน้ำหนักที่พระบาทซ้าย พระบาทขวาทอดไปด้านหน้าเล็กน้อย พระหัตถ์ปล่อยลงข้างพระวรกายดูสง่างาม หนักแน่น มั่นคง และจริงจัง สอดคล้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงาน ป.ป.ช. ที่เป็นเสาหลักของแผ่นดินในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของชาติ ส่วนฉลองพระองค์สูทสากล แสดงถึงการทรงเป็นนักพัฒนาที่นำพาประเทศให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศ รวมทั้งทรงวางระบบการบริหารราชการแผ่นดินในกระทรวง ทบวง กรม ให้แก่ข้าราชการพลเรือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรงใช้การปฏิรูปด้านต่างๆ เข้ามาช่วยขจัดปัญหาการฉ้อราษฎร์บังหลวง
สำหรับภารกิจในการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำเนินมาจนเสร็จสมบูรณ์ และในวันที่ 31 มีนาคม 2558 สำนักงาน ป.ป.ช. ได้อัญเชิญพระบรมราชานุสาวรีย์ จากสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร มาประดิษฐานที่หน้าอาคารสำนักงาน ป.ป.ช. ท่ามกลางความภาคภูมิใจของทุกคน เป็นการสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และเทิดพระเกียรติองค์พระกษัตริย์ผู้ทรงยึดหลักการบริหารปกครอง ที่ซื่อสัตย์ สุจริต ยุติธรรม เป็นแบบอย่างของการดำเนินการป้องกันและปราบปรามการประพฤติทุจริตในงานราชการจนถึงบัดนี้และสืบไป