กรุงเทพฯ--17 ส.ค.--สนพ.
กระทรวงพลังงาน เตรียมความพร้อม รับมือการปิดซ่อมบำรุงแหล่งก๊าซ JDA-A18 ระหว่างวันที่ 20 – 31 ส.ค. 59 แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ด้าน คือ ด้านพลังงานไฟฟ้า ด้านก๊าซเอ็นจีวี และด้านการประชาสัมพันธ์ เพื่อไม่ให้กระทบต่อการใช้ไฟฟ้าของคนในภาคใต้
ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า จากกรณีแหล่งก๊าซธรรมชาติพื้นที่พัฒนาร่วมไทย – มาเลเซีย (เจดีเอ-เอ 18) จะมีการปิดซ่อมบำรุงประจำปี ในช่วงระหว่างวันที่ 20 – 31 สิงหาคม 2559 รวมระยะเวลา 12 วัน ส่งผลให้ปริมาณก๊าซธรรมชาติจะหายไปจากระบบประมาณ 421 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน กระทรวงพลังงาน ขอยืนยันว่าจะไม่มีผลกระทบต่อการผลิตไฟฟ้าในภาคใต้ แม้ว่าโรงไฟฟ้าจะนะ จะต้องปรับเปลี่ยนเชื้อเพลิงไปใช้เชื้อเพลิงดีเซล
กระทรวงพลังงาน จึงได้ขอความร่วมมือจากหน่วยงานในสังกัด ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เตรียมวางแผนรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเต็มกำลัง โดยได้เสนอในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ในเรื่องเตรียมการรับมือในครั้งนี้โดยได้ออกเป็น 3 ด้าน ประกอบด้วย ด้าน "พลังงานไฟฟ้า" ซึ่งระบบผลิตไฟฟ้า ดำเนินการโดยให้โรงไฟฟ้าจะนะพร้อมเดินเครื่องด้วยดีเซล ตรวจสอบโรงไฟฟ้าภาคใต้ทั้งหมดให้พร้อมใช้งาน งดการหยุดเครื่องบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า และประสานการไฟฟ้ามาเลเซียขอซื้อไฟฟ้าในกรณีฉุกเฉิน ส่วนเรื่องของเชื้อเพลิงสำรองนั้น ได้เตรียมการโดยให้มีการสำรองน้ำมัน (น้ำมันเตา/ดีเซล) ให้เพียงพอและเต็มความสามารถในการจัดเก็บ พร้อมทั้งประสานงานให้ บมจ.ปตท. จัดส่งน้ำมันในช่วงเวลาดังกล่าว ในส่วนของระบบส่ง ได้เตรียมความพร้อมโดยให้มีการตรวจสอบสายส่งและอุปกรณ์สำคัญในภาคใต้ให้พร้อมใช้งาน และงดการบำรุงรักษาระบบส่งในช่วงเวลาหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติ และ ด้าน "ก๊าซเอ็นจีวี" นั้น ทางกระทรวงได้มีการสำรองก๊าซเอ็นจีวี โดยให้มีการจัดส่งก๊าซเอ็นจีวีจากนอกพื้นที่ พร้อมสำรองก๊าซฯ ไว้ล่วงหน้าที่สถานีก๊าซฯ หลักโรงไฟฟ้าจะนะ
นอกจากนี้ ทางด้านการประชาสัมพันธ์ กระทรวงพลังงาน ได้มีการรณรงค์ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจการท่องเที่ยว และภาคประชาชน ร่วมกันประหยัดพลังงานในช่วงที่มีการหยุดจ่ายก๊าซฯ โดยเฉพาะการขอความร่วมมือลดใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลา 18.00 – 21.30 น. ซึ่งเป็นชั่วโมงที่ในพื้นที่ภาคใต้ มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของวันผ่านช่องทางการสื่อสารในรูปแบบต่างๆ อาทิ การติดป้ายแบนเนอร์ โปสเตอร์ การแจกใบปลิว การเผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อวิทยุและโทรทัศน์ การจัดประชุม/สัมมนา การพบปะสื่อมวลชนท้องถิ่น และการส่งจดหมายแจ้งผู้ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น โดยเชื่อว่าทุกภาคส่วนจะเข้าใจและสามารถให้ความร่วมมือได้ดีเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา เพื่อช่วยกันบรรเทาผลกระทบต่อการใช้ไฟฟ้าในการดำรงชีวิตประจำวัน และเพื่อรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคใต้ด้วย
ทั้งนี้ ในช่วงการปิดซ่อมบำรุงแหล่งก๊าซฯ กระทรวงพลังงานได้มีการเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งรายงานข้อมูลข่าวสารให้กับประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่องผ่านสื่อต่างๆ นอกจากนี้ยังสามารถติดตามรายงานการใช้ไฟฟ้ารายวันในช่วงของการปิดซ่อมบำรุงแหล่งก๊าซฯ ได้ด้วยตนเอง ที่ www.sothailand.com หรือ www.facebook.com/EPPOThailand
"การปิดซ่อมบำรุงแหล่งก๊าซฯ ในช่วงระหว่างวันที่ 20 -31 สิงหาคมนี้ รวมระยะเวลา 12 วัน กระทรวงพลังงานได้เตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการใช้ไฟของพี่น้องประชาชนภาคใต้ หรือกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญขอเชิญชวนประชาชนทุกท่านร่วมมือร่วมใจช่วยกันประหยัดไฟฟ้า ตามแนวทาง 4 ป. คือ ปิดไฟดวงที่ไม่ใช้งาน ปรับแอร์ที่อุณหภูมิ 26 องศา หรือปรับเป็น Fan Mode ปลดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าเมื่อไม่ใช้งาน และเปลี่ยนมาใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีฉลากเบอร์ 5 เช่น หลอดไฟแอลอีดี เครื่องปรับอากาศอินเวอร์เตอร์ เพียงเท่านี้ก็สามารถช่วยลดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศ เพื่อสร้างความมั่นคงและยั่งยืนด้านพลังงานให้เกิดขึ้นได้ในอนาคตสืบไป" ดร.ทวารัฐ กล่าวเพิ่มเติม