กรุงเทพฯ--17 ส.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
กรมโรงงานอุตสาหกรรม เผยความคืบหน้าโครงการนำร่องเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) ใน 15 จังหวัด อาทิ จังหวัดระยอง สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ปทุมธานี ชลบุรี นครปฐม พระนครศรีอยุธยา สระบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น ราชบุรี สงขลา และสุราษฏร์ธานี โดยปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนในการส่งเสริมให้โรงงานเข้าร่วมโครงการ Green Industry, CSR DIW และ Eco Factory เพื่อยกระดับการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย การประหยัดพลังงาน ทำให้กระบวนการผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีการใช้พลังงานและทรัพยากรอย่างคุ้มค่า โดยคำนึงถึงคนรุ่นต่อไป ทั้งนี้ คาดว่าเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 15 จังหวัด ในระยะแรกจะเสร็จสิ้นภายในปี 2564 อย่างไรก็ตามกิจกรรมดังกล่าวสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศทางด้านเศรษฐกิจเพื่อส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมให้มีการเจริญเติบโตและมีความสมดุลกับการพัฒนาทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเมืออุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และในปัจจุบันได้ทำแผนปฏิบัติการเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ใน 15 จังหวัด ได้แก่ ระยอง สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ปทุมธานี ชลบุรี นครปฐม พระนครศรีอยุธยา สระบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น ราชบุรี สงขลา และสุราษฏร์ธานี สำเร็จแล้ว
นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า โครงการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) เป็นการบูรณาการงบประมาณระหว่างหน่วยงานราชการต่างๆ เพื่อใช้งบประมาณให้สอดคล้องกับมิติยุทธศาสตร์ของรัฐบาลที่กำหนดเป้าหมายในพื้นที่ที่กำหนด เพื่อให้เห็นผลและมีประสิทธิภาพจากการใช้งบประมาณ ซึ่งจะต่างจากเดิมที่หน่วยงานราชการต่างหน่วยงานต่างใช้งบประมาณของตัวเอง จึงทำให้งบประมาณถูกใช้กระจัดกระจาย ไม่มีประสิทธิภาพและเห็นผลในเชิงพื้นที่ งบประมาณที่ผ่านจากการจัดทำแผนปฏิบัติการโดยให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ ได้แก่ หน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่น ภาคชุมชน ภาคอุตสาหกรรม และตัวแทนภาคการศึกษา เข้ามาดำเนินการเขียนแผนปฏิบัติการบูรณการงบประมาณให้ครอบคลุมทั้ง 5 มิติ คือ มิติโครงสร้างพื้นฐาน เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม และการบริหารจัดการ เช่น การทำความสะอาดเมือง การขุดลอกคูคลอง การปลูกป่าเพิ่มพื้นที่สีเขียว การพัฒนาฝึกฝีมือให้กับชุมชน เพื่อสนับสนุนให้มีการจ้างงานของคนในพื้นที่ การพัฒนาอาชีพชุมชนให้มีความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรม การแก้ไขปัญหาเรื่องการเข้าถึงด้านสาธารณสุขอันเนื่องมาจากการเพิ่มของประชากรแฝงจากภาคอุตสาหกรรม การจัดตั้งศูนย์ Eco Center และการส่งเสริมให้เกิดธุรกิจบำบัด/กำจัด/รีไซเคิล เป็นต้น
นายมงคล กล่าวต่อว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรมยังได้ส่งเสริมให้โรงงานในพื้นที่เป้าหมายได้รับการรับรองมาตรฐาน Green Industry ,CSR DIW และ Eco Factory (ตามมาตรฐาน ISO2600) โดยมีการตรวจประเมินโดยผู้ชำนาญการที่ผ่านการรับรองระบบตามมาตรฐาน เพื่อยกระดับให้เป็นโรงงานผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีความปลอดภัย มีการใช้พลังงานและทรัพยากรอย่างคุ้มค่ามีการนำของเสียกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ ลดการฝังกลบ ซึ่งมีโรงงานที่รับได้มาตรฐาน Green Industry ไปแล้วกว่า25,410 โรงงาน จาก 65,000 โรงงาน มาตรฐาน CSR DIW 836 โรงงาน และ มาตรฐาน Eco Factory 73 โรงงาน ทั้งนี้ การจัดการทำแผนปฏิบัติ โดยแต่ละจังหวัดจะมีโครงการนำร่องในปี 2559 เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดจากผลกระทบจากภาคอุตสาหกรรม ซึ่งแผนปฏิบัติการอยู่ในระหว่างการดำเนินการและปรับปรุงให้เข้ากับพื้นที่เป้าหมายต่างๆ และเห็นผลเป็นรูปธรรมได้ประมาณ ปี2561-2564 ดันมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม 5.3 ล้านล้านบาท
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ สำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กรมโรงงานอุตสาหกรรมโทร. 02 202 4093 หรือสอบถามข้อมูลโครงการอื่นๆ ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม โทร.0 2202 4014 หรือเข้าไปที่ www.diw.go.th