กรุงเทพฯ--17 ส.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
· มธ.ร่วมกับ WHO จัดงานประชุมเชิงปฏิบัติการระดับนานาชาติในหัวข้อ "การประชุมเชิงปฏิบัติการและการประชุมผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติเครือข่ายความร่วมมือองค์การอนามัยโลก" ตั้งเป้าเพิ่มศักยภาพการเฝ้าระวังโรคติดต่อระหว่างประเทศ
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยคณะสาธารณสุขศาสตร์ จับมือ องค์การอนามัยโลก จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการและการประชุมผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติเครือข่ายความร่วมมือองค์การอนามัยโลกภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียวทั่วโลก (One Health) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มศักยภาพเครือข่ายด้านการเฝ้าระวังโรคติดต่อ จากข้อมูลในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2543-2559) พบคนไทยติดเชื้อดื้อยามากกว่าปีละ 8.8 หมื่นคน ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลนานขึ้นมากกว่า 1 ล้านวัน และเสียชีวิตมากกว่าปีละ 3.8 หมื่นราย ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบและความสูญเสียทางเศรษฐกิจเป็นมูลค่ากว่า 4 หมื่นล้านบาท พร้อมกันนี้ องค์การอนามัยโลก ยังเตรียมจัดทำเป็นคู่มือสุขภาพเกี่ยวกับการเฝ้าระวังโรคติดต่อและเชื้อดื้อยา เพื่อเผยแพร่แก่ประเทศสมาชิกเครือข่ายทั่วโลก นอกจากนี้ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มธ. ยังนำความรู้ที่ได้จากการประชุมมาพัฒนาเนื้อหาการเรียนการสอน การวิจัย รวมถึงการดำเนินการต่าง ๆ สำหรับการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคติดต่อทางอาหารจากสัตว์สู่คน เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย"สุขภาพหนึ่งเดียวทั่วโลก" ในเชิงปฏิบัติอย่างแท้จริง ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าว จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มธ. ศูนย์รังสิตสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มธ.ศูนย์รังสิต หมายเลขโทรศัพท์ 02-564-4440-79 ต่อ 7410-11 หรือเข้าไปที่เว็บไซต์ http://fph.tu.ac.th/
ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.)กล่าวว่า จากภาวะที่โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งก่อให้เกิดความสุ่มเสี่ยงของการเกิดโรคติดต่อในลักษณะต่างๆ ทั้งการเคลื่อนย้ายโรค ไม่ว่าจะเป็นโรคติดต่อที่เกิดขึ้นในสัตว์แพร่กระจายไปยังมนุษย์ การแพร่กระจายของจุลินทรีย์ดื้อยาในการผลิตอาหารที่ส่งผลต่อเนื่องไปยังมนุษย์ผ่านการบริโภค ตลอดจนพฤติกรรมการใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็นหรือเกินความเหมาะสมกับเชื้อแบคทีเรียทั้งในคนและสัตว์ ซึ่งอาจเกิดจากความไม่รู้ของประชาชน จึงก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพในหลากหลายด้าน อาทิ เชื้อในร่างกายต่อต้านการรักษา ซึ่งอาจต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลนานขึ้น ฯลฯ โดยล่าสุดในปี 2558 ที่ผ่านมา พบคนไทยติดเชื้อดื้อยามากกว่าปีละ 100,000 คน โดยส่วนใหญ่ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลนานขึ้นมากกว่า 1 ล้านวัน และเสียชีวิตมากกว่าปีละ 38,000 ราย ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบและความสูญเสียทางเศรษฐกิจเป็นมูลค่ากว่า 4 หมื่นล้านบาท (ข้อมูลจาก สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.))
ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านสุขภาพในหลายประเทศทั่วทุกภูมิภาค จึงตระหนักถึงความสำคัญและเตรียมพร้อมรับมือเพื่อเฝ้าระวังเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวอย่างเต็มกำลัง มธ. โดยคณะสาธารณสุขศาสตร์ ในฐานะสถาบันการศึกษาที่มุ่งยกระดับงานด้านสาธารณสุขอย่างต่อเนื่องจึงได้ร่วมมือกับ ฝ่ายความปลอดภัยด้านอาหารและโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน องค์การอนามัยโลก (WHO) และมหาวิทยาลัยเครือข่ายจากประเทศเดนมาร์ก และเนเธอร์แลนด์ จัดงานประชุมเชิงปฏิบัติการระดับนานาชาติในหัวข้อ "การประชุมเชิงปฏิบัติการและการประชุมผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติเครือข่ายความร่วมมือองค์การอนามัยโลก" ภายใต้แนวคิด "สุขภาพหนึ่งเดียวทั่วโลก" (One Health) การทำงานร่วมกันระหว่างนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ และเจ้าหน้าที่จากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์และการเกษตร เพื่อเป็นการส่งเสริมองค์ความรู้ในการจำแนก วิเคราะห์คุณลักษณะที่แสดงออกและทางพันธุกรรมของเชื้อดื้อยา รวมทางแนวทางการวิจัยในเรื่องดังกล่าวนี้ ตลอดจนมีความเข้าใจในการเลือกใช้ยาต้านจุลชีพอย่างสมเหตุสมผลแก่การรักษาทั้งในคนและสัตว์
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.อรษา สุตเธียรกุล อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อทางเดินอาหารคณะสาธารณสุข มธ. กล่าวเสริมว่า สำหรับการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการระดับนานาชาติในหัวข้อ "การประชุมเชิงปฏิบัติการและการประชุมผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติเครือข่ายความร่วมมือองค์การอนามัยโลก" ในครั้งนี้ มีองค์ประกอบสำคัญ 4 ส่วน คือ
1.การนำเสนอบทความทางวิชาการ การบรรยายวิธีการตรวจหาการดื้อยา (Antimicrobial Resistance: AMR) รวมถึงการแลกเปลี่ยนประสบการณ์
2.การระดมความคิดในการออกแบบการดำเนินการเฝ้าระวังโรคที่เกิดจากอาหาร (Foodborne Disease: FBD)และแนวทางการป้องกันการดื้อยาโดยใช้แนวทางสุขภาพหนึ่งเดียว
3.การปฏิบัติการให้ห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ เพื่อฝึกค้นหาคุณลักษณะและการแยกเชื้อของกลุ่มโรคที่มากับอาหารและการดื้อยาต้านจุลชีพ
และ 4.การปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ โดยการใช้เทคโนโลยีการถอดรหัสพันธุกรรม(Next Generation Sequencing)และชีวสารสนเทศศาสตร์ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ในการตรวจและจำแนกเชื้อก่อโรคในอาหาร การตรวจเชื้อดื้อยา และกลไกการดื้อยาของเชื้อก่อโรคในอาหารผ่านเทคโนโลยีอันทันสมัยอย่าง Whole Genome Sequencing (WGS) เครื่องมือตรวจหาและจัดจำแนกเชื้อก่อโรคในอาหาร รวมถึงยาต้านจุลชีพที่มีความแม่นยำสูง
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพในการเฝ้าระวังโรคและการดื้อยาทั้งในระดับประเทศและภูมิภาคของโลก ภายหลังจากการประชุมดำเนินการจนแล้วเสร็จ ฝ่ายความปลอดภัยด้านอาหารและโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน องค์การอนามัยโลก มีแผนดำเนินการจัดทำเป็นหนังสือคู่มือในเรื่องของการเฝ้าระวังโรคและการดื้อยา ซึ่งเป็นผลสรุปจากที่ประชุมโดยผู้ทรงคุณวุฒิแต่ละประเทศ โดยภายในประกอบด้วยเนื้อหาสาระที่สำคัญ อันได้แก่ การจัดจำแนก การศึกษาคุณลักษณะ การติดตามเชื้อก่อโรคอุจจาระร่วง รวมถึงการดื้อยาต้านจุลชีพ ฯลฯ เพื่อเผยแพร่แก่ประเทศสมาชิกขององค์การอนามัยโลกทั่วโลก นอกจากนี้ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มธ. ยังนำความรู้ที่ได้จากการประชุมมาพัฒนาเนื้อหาการเรียนการสอน การวิจัยรวมถึงการดำเนินการต่าง ๆ สำหรับการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคติดต่อทางอาหารอีกด้วย เพื่อให้สอดรับกับนโยบาย "สุขภาพหนึ่งเดียวทั่วโลก" ในเชิงปฏิบัติอย่างแท้จริง และเพื่อตอบรับกับนโยบายขององค์การอนามัยโลกในเรื่องดังกล่าว ทางคณะสาธารณสุขศาสตร์ได้ดำเนินการขอทุนอุดหนุนการวิจัยในเรื่องดังกล่าวนี้ และขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลการขอทุนอุดหนุนจากองค์การอนามัยโลก ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.อรษา กล่าว
"มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มุ่งมั่นสู่การเป็นสถาบันการศึกษาเพื่อสังคมไทยปลูกฝังจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ต่อบุคลากรและนักศึกษา ด้วยการยึดมั่นในความเป็นธรรม การมีจิตสาธารณะ และการมีความรับผิดชอบต่อสังคม ควบคู่ไปกับการสร้างบัณฑิตยุคใหม่ให้มีคุณสมบัติผู้นำแห่งศตวรรษที่ 21 สอดรับตามแนวคิด "มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์...มหาวิทยาลัยเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง"
อย่างไรก็ตาม การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มธ. ศูนย์รังสิต โดยมีนักวิจัย ผู้แทนเครือข่ายองค์การอนามัยโลกทั้ง 33 ประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมจำนวนมาก อาทิ กระทรวงสาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมปศุสัตว์ กรมควบคุมโรค สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และมหาวิทยาลัยต่างๆ เป็นต้น สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มธ.หมายเลขโทรศัพท์ 02-564-4440-79 ต่อ 7410-11 เว็บไซต์ http://fph.tu.ac.th/ หรือ ติดต่องานสื่อสารองค์กร มธ. หมายเลขโทรศัพท์ 02-564-4493 เว็บไซต์ www.tu.ac.th